รู้จักแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเล รากฐานสำคัญสู่การพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างชาญฉลาด

การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยเฉพาะข้อมูลความลึกชายฝั่งทะเล ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจพื้นที่ชายฝั่งอย่างรอบด้าน แต่การได้ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) รวมถึงระบบการวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลเชิงลึกที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิด “แผนที่ความลึกชายฝั่งทะเล” ที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายด้าน
แผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลคืออะไร
แผนที่ความลึกชายฝั่งทะเล (Coastal Bathymetric Map) คือแผนที่ที่ได้จากการสำรวจทางอุทกศาสตร์ (Bathymetric Survey) เพื่อตรวจวัดความลึก ระดับน้ำ และสภาพภูมิประเทศใต้น้ำบริเวณชายฝั่ง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ที่แม่นยำและน่าเชื่อถือ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อให้เกิดเป็น Location Intelligence ที่แม่นยำ ดังนั้น แผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลจึงไม่เพียงแสดงสภาพภูมิประเทศใต้น้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตาม ประเมินสภาพ และสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง เช่น การติดตามการเปลี่ยนแปลง การประเมินความเสี่ยง การประเมินการกัดเซาะ การคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง การวางแผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการวางแผนการจัดการอย่างยั่งยืน
ข้อมูลในแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลประกอบด้วยอะไรบ้าง
ปกติแล้วข้อมูลในแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลจะประกอบด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความสำคัญหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น
1. ค่าความลึกหรือระดับท้องน้ำ
เป็นค่าความลึกของพื้นที่แต่ละจุดของชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นข้อมูลหลักในการวิเคราะห์สภาพภูมิประเทศใต้น้ำ เช่น ร่องน้ำ ลักษณะเนินใต้น้ำ หรือสันดอน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งได้หลากหลายมิติ เช่น ประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติ วางแนวป้องกันชายฝั่ง วางแผนเดินเรือ วางแผนออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน วางแผนการลงทุน
2. พิกัดละติจูดและลองจิจูด
เป็นตำแหน่งของข้อมูลแต่ละจุดในแผนที่ ช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนในพื้นที่จริงและวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง
3. ภาพแผนที่พร้อมอัตราส่วนเทียบ
เป็นภาพแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลที่แสดงข้อมูลภาพพื้นที่จริง พร้อมตำแหน่งและความลึกของแต่ละจุด โดยจะเทียบอัตราส่วนที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าใจขนาดจริงของพื้นที่ ช่วยให้สามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างแม่นยำ
4. ความกว้างและรูปร่างของแนวชายฝั่ง
เป็นภาพแสดงลักษณะของแนวชายฝั่งทะเล เช่น ความโค้งเว้า แนวสันดอน หรือแนวหาดทราย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่ง การประเมินการกัดเซาะ การวางแผนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เป็นต้น
เครื่องมือสำคัญในการทำแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเล
ข้อมูลที่นำมาสร้างแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลมาจากการจัดเก็บข้อมูลที่แม่นยำและครอบคลุม ประกอบกับแพลตฟอร์มวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนิยมใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างแบบจำลอง Location Intelligence ไม่ว่าจะเป็น
1. เครื่องวัดเสียงสะท้อนใต้น้ำ (Echo Sounder)
เครื่องหยั่งความลึกน้ำ เป็นการส่งคลื่นเสียงจากเครื่องไปที่ก้นทะเล และวัดเวลาที่เสียงสะท้อนกลับมาเพื่อหาความลึกของทะเลชายฝั่ง ข้อมูลความลึกที่ได้จะถูกบันทึกพร้อมกับข้อมูลตำแหน่ง ทำให้สามารถสร้างจุดข้อมูลความลึกจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการสร้างแบบจำลองความลึก และแผนที่ความลึกที่แสดงลักษณะภูมิประเทศใต้น้ำ
2. โซนาร์แบบหลายลำแสง (Multibeam Sonar)
โซนาร์แบบหลายลำแสง เป็นการปล่อยคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยินออกไปหลายทิศทางพร้อมกัน เมื่อเสียงเดินทางไปกระทบวัตถุหรือพื้นดินชายฝั่ง เสียงก็จะสะท้อนกลับมาเข้าเครื่องรับ แล้วจึงวัดเวลาที่เสียงสะท้อนกลับมาเพื่อหาความลึกของชายฝั่งทะเล วิธีนี้จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดสูง สามารถแสดงลักษณะท้องทะเลได้อย่างชัดเจน เช่น ร่องน้ำ สันดอน โขดหิน หรือสิ่งกีดขวางใต้น้ำ ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ลักษณะทางธรณีสัณฐาน การประเมินแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต รวมถึงการวางแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
3. LIDAR (Light Detection and Ranging)
LiDAR เป็นการยิงคลื่นแสงเลเซอร์ไปกระทบกับพื้นผิวน้ำหรือพื้นดินชายฝั่งทะเล แล้ววัดเวลาที่แสงสะท้อนกลับมาเพื่อคำนวณความลึกชายฝั่งทะเล วิธีนี้จะให้ข้อมูลที่มีความละเอียดสูง สามารถสำรวจชายฝั่งทะเลได้ทั้งส่วนที่อยู่เหนือน้ำและใต้น้ำ โดยเฉพาะในบริเวณน้ำตื้นและชายฝั่งที่ซับซ้อน ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งและความสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ภาพจากดาวเทียม (Satellite Altimetry)
ภาพจากดาวเทียม เป็นการสะท้อนของพลังงานกลับมายังเซนเซอร์ แล้ววัดความลึก โดยดูจากความแตกต่างของระดับผิวน้ำทะเลหรือพื้นดิน วิธีนี้จะให้ข้อมูลแบบกว้าง ๆ ครอบคลุมเกี่ยวกับพื้นที่ชายฝั่ง สามารถใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งและการประเมินสภาพแวดล้อม เช่น การกัดเซาะหรือการฟื้นฟูชายหาด การใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่ง และคุณภาพน้ำทะเล
5. โดรน (Drone)
โดรน (Drone) เป็นการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV, Unmanned Aerial Systems: UAS) หรือโดรนมาติดตั้งกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง เซนเซอร์ LiDAR หรือเครื่องวัดเสียงสะท้อนใต้น้ำ (Echo Sounder) เพื่อบันทึกภาพจากมุมสูง ตรวจจับความสูง เก็บข้อมูลภูมิประเทศแบบสามมิติ และเก็บข้อมูลความลึกในบริเวณใกล้ชายฝั่ง จัดเป็นวิธีที่มีความคล่องตัวสูง ต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้ ทำให้สามารถสร้างแผนที่ชายฝั่งที่มีความละเอียดสูง สามารถติดตามการกัดเซาะชายฝั่งและการประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติได้
6. การวัดระดับน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal Gauge/Recorder)
การวัดระดับน้ำขึ้นน้ำลง เป็นการใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อให้เข้าใจลักษณะการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งข้อมูลนี้มีความสำคัญในการคำนวณความลึกของน้ำ การวิเคราะห์ผลกระทบ การคาดการณ์น้ำท่วมชายฝั่ง และการออกแบบโครงสร้างชายฝั่ง
7. แพลตฟอร์มวิเคราะห์และบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Location Intelligence
การสร้างแผนที่จำลองความลึกชายฝั่งทะเลที่แม่นยำและครบถ้วน ไม่เพียงใช้เทคโนโลยีในการสำรวจเท่านั้น แต่จะต้องมี แพลตฟอร์มที่จะวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลหลากหลายชั้นข้อมูลจากเทคโนโลยีการสำรวจต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้าง Location Intelligence ด้วย จึงจะทำให้แผนที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะนำไปสร้างภาพจำลอง ทำการวิเคราะห์ ใช้ประกอบการตัดสินใจ รวมถึงช่วยคาดการณ์อนาคตในการบริหารจัดการชายฝั่งในมิติต่าง ๆ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถดูตัวอย่างแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ที่ coastalseadepth.com ซึ่งจัดทำโดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) บูรณาการกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในการสร้าง Location Intelligence โดยครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งกว่า 480 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปากน้ำบางปะกงถึงปากน้ำกระแส ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญในการวางแผนและบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งอย่างชาญฉลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาพื้นที่