ทำความรู้จัก LiDAR เทคโนโลยีที่ช่วยสร้าง Location intelligence ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเห็นภาพเมืองในปัจจุบันที่ไม่ตรงกับความจริงและไม่สามารถบอกอนาคตได้แม่นยำ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร การมองหาเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Location intelligence ที่มี LiDAR เป็นองค์ประกอบจึงเป็นทางเลือกที่หลายท้องถิ่นกำลังให้ความสนใจกันอยู่ ว่าแต่ LiDAR หรือ ไลด้า คืออะไร ช่วยสนับสนุนงานท้องถิ่นอย่างไรบ้าง มาทำความรู้จักกัน
LiDAR คืออะไร
LiDAR หรือ Light Detection And Ranging System เป็นระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ นิยมใช้ในวงการภูมิสารสนเทศศาสตร์ (Geoinformatics) ทั้งงานสำรวจ ทำแผนที่ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ มีจุดเด่นในเรื่องของความแม่นยำสูง เนื่องจากเป็นการนำระบบการวัดระยะทางด้วยเลเซอร์ (Sensor) ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกเพื่อระบุตำแหน่งและความสูงของเครื่องรับสัญญาณ (GPS) และเครื่องวัดอาศัยความเฉื่อยที่คอยช่วยในเรื่องการวางตัวของเครื่องบินหรือดาวเทียม (Inertial Measurement Unit: IMU) มาทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ โดยเฉพาะข้อมูลความสูงของจุดต่าง ๆ บนภูมิประเทศ ทั้งแผนที่เส้นชั้นความสูงแบบลายเส้นและเฉดสี ใช้ในการหาปริมาณดิน ความลาดเอียงของวัตถุและความสูงของวัตถุ และแผนที่แบบสามมิติของเมืองและพื้นภูมิประเทศ ใช้ในการทำแผนที่จำลองภาพเสมือนจริง เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทำให้เกิด Location intelligence ได้
การทำงานของ LiDAR
วิธีการทำงานของ LiDAR นั้น จะเป็นลักษณะการยิงคลื่นแสงเลเซอร์ไปกระทบกับพื้นผิวเป้าหมาย แล้วคำนวณระยะเวลาในการเดินทางของคลื่นแสงเลเซอร์ไปยังพื้นผิวเป้าหมายแล้ววนกลับมาที่เซนเซอร์จึงออกมาเป็นค่าระยะทาง โดยใช้สูตร
ระยะทาง = (ความเร็วของแสง x เวลาที่เดินทาง)/2
ซึ่งระยะทางที่ได้จะมีความแม่นยำ อีกทั้งความแตกต่างของระยะเวลาและลำแสงที่กระทบยังสามารถประมวลผลเป็นข้อมูลภาพสามมิติได้ด้วย
LiDAR ช่วยสนับสนุนงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไร
LiDAR ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน และเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ Location intelligence มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการวัดระยะ การทำแผนที่สามมิติ และทำแผนภาพจำลอง เช่น นำมาใช้ในรถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ทำความสะอาด ฟีเจอร์เครื่องมือวัดระยะในระบบปฏิบัติการของ iOS แผนที่สามมิติเพื่อสแกนหาโบราณสถาน เป็นต้น แล้ว LiDAR จะช่วยสนับสนุนงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในจุดใดบ้าง มาเจาะลึกกัน
- ทำแบบจำลองสิ่งปลูกสร้างสามมิติ
อย่างที่บอกไปว่า LiDAR สามารถสร้างแบบจำลอง หรือช่วยสนับสนุน Location intelligence ได้ ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงสามารถนำมาสร้างแบบจำลองอาคาร โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคของท้องถิ่นที่แม่นยำและครบถ้วน เพื่อใช้ในงานสำรวจสถานะการใช้งาน ความปลอดภัย และการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ใช้ในการสำรวจเสาไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีจำนวนมากและตรวจสอบสถานะการใช้ในงานปัจจุบันได้ยาก หรือใช้ในการสำรวจถนนและทางเท้าที่ชำรุดและถึงรอบซ่อมบำรุง เพื่อวางแผนซ่อมแซมและเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน รวมถึงใช้ในการสำรวจการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แม่นยำและเป็นปัจจุบัน ทำให้สามารถประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
- ทำแบบจำลองภัยพิบัติ
ด้วยความสามารถของ LiDAR ที่สามารถทำแผนที่และสร้างแบบจำลองเสมือนจริงได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเรื่องความสูง ความยาว ความลึกตื้น และระยะทาง จึงทำให้ช่วยคาดการณ์และจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น จำลองทิศทางการไหลของน้ำท่วม จำลองพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จำลองทิศทางไฟไหม้และจุดความร้อน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำมาใช้ในการเตรียมป้องกัน วางแผนรับมือ และวางแผนช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้
- แบบจำลองเมือง เพื่อการพัฒนาเมือง
LiDAR สามารถนำมาใช้ในงานสำรวจ ทำแผนที่ ทำแบบจำลองสามมิติ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยมีจุดเด่นในเรื่องของความแม่นยำสูง จึงทำให้สามารถสร้าง Location intelligence ทำแบบจำลองเมืองได้เสมือนจริง ช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นภาพรวมเมืองตามความเป็นจริง เห็นภาพเมืองที่ครบถ้วนและชัดเจนแม้เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยาก นำไปสู่การบริหารจัดการและพัฒนาเมืองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่ามากขึ้น
LiDAR ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นเทคโนโลยีน่าสนใจที่จะช่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาเมืองไปอย่างตรงทิศ แก้ไขปัญหาถูกทาง ตั้งรับกับอนาคตได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดกำลังหาเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการสร้าง Location intelligence การทำแผนที่เมือง การสำรวจพื้นที่ การจัดการกับภัยพิบัติ การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ลองมองหาบริการแพลตฟอร์มที่มี LiDAR เป็นองค์ประกอบก็เป็นทางเลือกที่ดีนะครับ