ความลึกชายฝั่งทะเล ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนและพัฒนาเมืองไม่ควรมองข้าม

ชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงสำหรับการพัฒนาและการลงทุนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตั้งถิ่นฐาน เศรษฐกิจ คมนาคมขนส่ง ประมง ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม รวมถึงสิ่งแวดล้อม แต่การสำรวจ การทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและความลึกของชายฝั่งทะเลที่แม่นยำ มีความทันสมัยไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยข้อจำกัดในการสำรวจและบุคลากร มาดูกันว่าทำไมข้อมูลเหล่านี้จึงมีความสำคัญกับการวางแผนและการลงทุน
ความลึกของชายฝั่งทะเล
ชายฝั่งทะเล (Coast) คือ พื้นที่ผิวโลกที่มีสภาพภูมิประเทศและระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะครอบคลุมทั้งบริเวณส่วนที่เป็นพื้นดินและพื้นน้ำทะเลที่ติดต่อเนื่องกัน โดยส่วนพื้นดินได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล และในส่วนพื้นน้ำทะเล มีความกว้างที่กำหนดไม่ได้แน่นอน ซึ่งลักษณะภูมิประเทศของชายฝั่งทะเลแต่ละแห่งนั้น จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะทางธรณีวิทยาของหินเปลือกโลกที่ประกอบเป็นชายฝั่งและอิทธิพลจากการกระทำของคลื่นลมและกระแสน้ำในบริเวณนั้น ในทางภูมิศาสตร์สามารถจำแนกชายฝั่งตามลักษณะการกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็น 5 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ชายฝั่งทะเลยุบจม ชายฝั่งทะเลยกตัว ชายฝั่งทะเลคงระดับ ชายฝั่งทะเลรอยเลื่อน และชายฝั่งทะเลแบบผสม
โดยในส่วนความลึกของชายฝั่งทะเล คือ ระยะทางในแนวดิ่งจากแนวชายหาดไปจนถึงลักษณะภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ระดับความลึกและความชันยังไม่มากเมื่อเทียบกับมหาสมุทรเปิด (Open sea)
การทำแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเล
การทำแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลเป็นส่วนสำคัญในการสำรวจทางอุทกศาสตร์ (Bathymetric survey) ซึ่งในปัจจุบันจะนิยมใช้เครื่องมือทางระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ที่มีความละเอียดสูงและมีความน่าเชื่อ เพื่อวัดความลึกได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น
1. เครื่องวัดเสียงสะท้อนใต้น้ำ (Echo Sounder)
เครื่อง Echo Sounder คือเครื่องหยั่งความลึกน้ำใต้เรือในขณะที่กำลังแล่นเรืออยู่ในทะเล โดยจะเป็นการส่งคลื่นเสียงจากเรือไปที่ก้นทะเล และวัดเวลาที่เสียงสะท้อนกลับมาเพื่อหาความลึกของทะเลชายฝั่ง โดยใช้สูตรคำนวณความลึก = (ความเร็วของเสียงในน้ำ × เวลาไป-กลับ) ÷ 2
2. โซนาร์แบบหลายลำแสง (Multibeam Sonar)
โซนาร์แบบหลายลำแสง (Multibeam Sonar) เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจหาวัตถุใต้น้ำโดยปล่อยคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยินออกไปหลายทิศทางพร้อมกัน เมื่อเสียงเดินทางไปกระทบวัตถุหรือพื้นดินชายฝั่ง เสียงก็จะสะท้อนกลับมาเข้าเครื่องรับ แล้วจึงวัดเวลาที่เสียงสะท้อนกลับมาเพื่อหาความลึกของชายฝั่งทะเล ซึ่งวิธีนี้จะให้ข้อมูลความลึกเป็นพื้นที่กว้างและมีความละเอียดสูง
3. LIDAR (Light Detection and Ranging)
LiDAR (Light Detection And Ranging System) เป็นระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ โดยเป็นลักษณะการยิงคลื่นแสงเลเซอร์ไปกระทบกับพื้นผิวน้ำหรือพื้นดินชายฝั่งทะเล แล้ววัดเวลาที่แสงสะท้อนกลับมาเพื่อคำนวณความลึกชายฝั่งทะเล เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง สามารถประมวลผลเป็นข้อมูลภาพสามมิติ แต่จะใช้ได้ดีในบริเวณที่น้ำใสและไม่ลึกมาก
4. การวัดจากดาวเทียม (Satellite Altimetry)
การวัดจากดาวเทียม (Satellite Altimetry) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้วัดความสูงของชายฝั่งทะเลจากดาวเทียม โดยอาศัยการสะท้อนของพลังงานกลับมายังเซนเซอร์ แล้ววัดความลึกโดยดูจากความแตกต่างของระดับผิวน้ำทะเลหรือพื้นดิน วิธีนี้อาจมีความแม่นยำน้อยหากใช้ในบริเวณน้ำตื้นหรือแนวชายฝั่ง
5. โดรน (Drone)
โดรน (Drone) เป็นเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV, Unmanned Aerial Systems: UAS) โดยบันทึกภาพจากมุมสูงและตรวจจับความสูงที่มีความแม่นยำในระดับสูง
6. การสำรวจด้วยนักประดาน้ำ
การสำรวจด้วยนักประดาน้ำโดยใช้เครื่องวัดแรงดัน (Pressure Gauge) หรือคอมพิวเตอร์ดำน้ำ วัดจากความดันใต้น้ำที่สัมพันธ์กับความลึก
ทำไมต้องรู้ความลึกชายฝั่งทะเลก่อนตัดสินใจลงทุนหรือพัฒนา
การเข้าใจถึงลักษณะและความลึกของชายฝั่งทะเลเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
1. การคมนาคมและขนส่งทางน้ำ
ความลึกชายฝั่งทะเลมีผลต่อการพัฒนาด้านคมนาคมและขนส่งทางน้ำ โดยเฉพาะการก่อสร้างท่าเรือและการขนส่งทางเรือ เช่น หากชายฝั่งมีความลึกเพียงพอก็จะเหมาะกับการสร้างท่าเรือน้ำลึก หากเป็นชายฝั่งตื้นก็เหมาะกับการสร้างท่าเรือน้ำตื้น ซึ่งอาจจะต้องพัฒนาโครงข่ายถนนและทางรถไฟเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก
2. การทำประมง
ความลึกชายฝั่งทะเลเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งการแพร่กระจายของทรัพยากรทางทะเล ปริมาณสัตว์น้ำ คุณภาพของการทำประมง รวมถึงส่งผลต่ออุณหภูมิ กระแสน้ำ และปริมาณออกซิเจนในน้ำด้วย
3. การทำนาเกลือ
ลักษณะและความลึกของชายฝั่งทะเลมีผลต่อภูมิประเทศของแหล่งผลิตเกลือทะเลที่อยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล ทั้งปริมาณน้ำทะเล ลักษณะทางภูมิประเทศต้องเป็นที่ราบ สภาพดินต้องเป็นดินเหนียว รวมถึงกระแสลมและแสงแดดที่ช่วยในการตกผลึกเกลือ
4. การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและการท่องเที่ยว
พื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งสภาพภูมิทัศน์ สัตว์น้ำ พืชทะเล รวมถึงโบราณสถานใต้น้ำ ดังนั้น ความลึกของชายฝั่งทะเลจึงมีผลต่อการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ เช่น สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมทางน้ำ สภาพภูมิทัศน์ สัตว์น้ำ ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
5. การอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่ง
ลักษณะและความลึกของชายฝั่งทะเลมีผลต่อศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ทั้งความสะดวกการขนส่ง การใช้น้ำ การระบายความร้อน การทำความสะอาด การเจือจางของเสีย ซึ่งหากความลึกไม่เหมาะสม อาจต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในการขุดลอกหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น
6. การพัฒนาแหล่งพลังงาน
การพัฒนาแหล่งพลังงานอย่างการติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันและกังหันลมกลางทะเลจำเป็นต้องอาศัยความลึกของทะเลที่เหมาะสมเพื่อให้โครงสร้างมีเสถียรภาพและรองรับแรงกระแทกจากคลื่นและลม ดังนั้นการศึกษาความลึกจึงช่วยให้สามารถวางแผนการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน
7. การสร้างความปลอดภัยและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
ลักษณะและความลึกของชายฝั่งทะเลมีความเกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่ง การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และการสร้างพื้นที่รับน้ำ เช่น หากพบพื้นที่ชายฝั่งทะเลตื้นเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการกัดเซาะและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลสูง จึงควรสร้างแนวป้องกันชายฝั่ง เพื่อป้องกันการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง หรือการปลูกป่าชายเลน เพื่อป้องกันภัยพิบัติ ป้องกันพายุ และเป็นพื้นที่รับน้ำ รวมถึงช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล
การมีข้อมูลความลึกและสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลที่ถูกต้องและครบถ้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนพัฒนาและตัดสินใจลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยง ลดต้นทุน และป้องกันปัญหาทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสความสำเร็จของโครงการที่จะทำด้วย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน อย่ามองข้ามที่จะศึกษาข้อมูลความลึกชายฝั่งและแผนที่ความลึกชายฝั่งทะเลอย่างรอบคอบนะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://km.dmcr.go.th/c_56/s_81/d_1187