Smart Government คืออะไร ทำไมถึงเป็นฟันเฟืองสำคัญ ยกระดับท้องถิ่นสู่เมืองอัจฉริยะ
เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เมืองที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและยกระดับการบริการของเมืองในทุกมิติ เพื่อให้เมืองน่าอยู่ ทันสมัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและมีความสุขอย่างยั่งยืน และหนึ่งในมิติหนึ่งของเมืองอัจฉริยะที่องค์รปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องขับเคลื่อนก็คือ Smart Governance
ก่อนจะไปรู้จักกับ Smart Governance ต้องทำความรู้จักกับ เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City กันก่อน โดยเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการและการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน
สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีมิติการพัฒนาใน 7 ด้านสำคัญ คือ
1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
4. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
5. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
จะเห็นว่า Smart Governance คือหนึ่งในมิติต้องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งคืออะไร ทำไมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรให้ความสนใจ เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันครับ
Smart Governance คืออะไร
Smart Governance หมายถึง ขีดความสามารถขององค์กรภาครัฐหรือเอกชนในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งควรจะเริ่มจากการสร้างความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในส่วนของคนและตัวองค์กรก่อน เพื่อให้สามารถนำข้อมูล อย่างเช่น ข้อคิดเห็น ปัญหา คำร้องเรียน ไปวิเคราะห์ถึงความต้องการที่แท้จริงของเมือง ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน แล้วจึงนำไปสู่การบริหารจัดการขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ
Smart Government คืออะไร
อีกคำหนึ่งที่หลายคนอาจจำสับสนว่าคำเหล่านี้คือคำเดียวหรือมีความหมายเหมือนกันหรือไม่ นั่นก็คือคำว่า “Smart Governance” กับ “Smart Government” ซึ่งคำว่า Smart Governance ได้อธิบายไปแล้ว คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับคำว่า Smart Government กัน
Smart Government หมายถึง การที่หน่วยงานของรัฐนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ภายในหน่วยงาน เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการและการบริการให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและแสดงความคิดเห็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐจึงต้องให้ความสำคัญในการยกระดับสู่ Smart Government เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในมิติอื่น
ตัวอย่าง Smart Government ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย
1. แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์
แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นการนำเทคโนโลยีมายกระดับการบริการให้แก้ประชาชนที่ได้รับความนิยมมาก ไม่ว่าจะเป็น การใช้ Facebook, Line รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในขณะเดียวกันท้องถิ่นก็ยังใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสาธารณภัย หรือข้อมูลกิจกรรมสำคัญของเทศบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อ ติดตาม ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย หากยกระดับขึ้นไปอีกขั้น ก็คือการใช้บริการแพลตฟอร์มรับแจ้งเรื่องร้องเรียนที่จัดทำขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่เพียงสะดวกในการใช้งาน ยังมีประสิทธิภาพในการรับเรื่องร้องเรียน การส่งต่องานภายในไปยังส่วนที่ต้องรับผิดชอบ รวมไปถึงการจัดเก็บและจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำฐานข้อมูลดิจิทัลไปใช้วางแผนหรือนโยบายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในมิติอื่นได้ด้วย
ตัวอย่างเทศบาลที่ใช้แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อยกระดับเมืองอัจฉริยะก็อย่างเช่น “เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน” ที่ยกระดับ One Stop Service center ที่ได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลมาต่อยอด ด้วยการนำระบบรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ (Bellme) มาใช้ เพื่อรับแจ้งเหตุ ร้องเรียน และติดตามสถานะในการแก้ไขปัญหาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุหรือเรื่องร้องเรียนได้ง่าย ๆ เพียงแค่แจ้งเรื่องและแชร์พิกัดเท่านั้น ระบบก็จะรับเรื่องแบบอัตโนมัติ พร้อมส่งเรื่องไปยังระบบจัดการปัญหาภายในหน่วยงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่เพียงเท่านั้นประชาชนยังสามารถติดตามสถานะได้แบบอัตโนมัติด้วย นอกจากประชาชนจะประทับในใจการแก้ปัญหาที่รวดเร็วขึ้นแล้ว พนักงานเทศบาลก็ยังสะดวกและทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
2. ระบบบริการประชาชนแบบ One Stop Service
ระบบบริการประชาชนแบบ One Stop Service เป็นอีกหนึ่งการใช้เทคโนโลยีมายกระดับการบริการและบริหารจัดการท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมจากองค์กรปกครงส่วนท้องถิ่นของไทย เนื่องจากเป็นการจัดทำบริการแบบรวมศูนย์ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เดียวกันได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น ร้องเรียน ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จองคิว ชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ยื่นและชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยื่นและชำระภาษีป้าย ตรวจสอบและติดตามสถานะต่าง ๆ รวมถึงติดตามข่าวสาร จึงทำให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการได้อย่างสะดวก ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ทำงานได้อย่างคล่องตัว อีกทั้งยังนำฐานข้อมูลที่ได้จากการที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการไปพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเทศบาลที่มีการนำระบบบริการประชาชนแบบ One Stop Service มาใช้ ก็อย่างเช่น “เทศบาลตำบลลำพญา จังหวัดนครปฐม” ที่นำบริการ CITIZEN One Stop Service หรือระบบบริการสําหรับประชาชนแบบรวมศูนย์ จาก Bedrock มาใช้ โดยออกแบบให้ตอบความต้องการของเทศบาลของตนเอง และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยมีฟังก์ชันการรับแจ้งเหตุและร้องเรียนจากประชาชน, งานคู่มือประชาชนและข่าวสารประชาสัมพันธ์, งานตรวจสอบและชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย, งานขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์ รวมถึงงานชำระค่าธรรมเนียมการกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย ที่สำคัญมีการออกแบบให้เชื่อมต่อแต่ละกองงานแบบอัตโนมัติ พร้อมระบบการรับชำระเงินและการจองคิวที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เทศบาลสามารถบริหารจัดการงานในส่วนต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม ทำงานง่ายขึ้น ลดความผิดพลาด และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในการติดต่อเทศบาล
3. ระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (E-Saraban)
ระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (E-Saraban) เป็นระบบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาใช้ในการจัดการหนังสือราชการภายในและภายนอกหน่วยงาน โดยสามารถรับ-ส่ง และจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งต่อ สั่งการ และลงนามในเอกสารหรือส่งเข้าระบบหนังสือเวียนที่มีการลงนามรับทราบผ่านระบบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา มีความปลอดภัยสูง สามารถจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงเอกสารได้ และติดตามความคืบหน้าของการอนุมัติตามลำดับชั้น
ตัวอย่างเทศบาลที่มีการนำระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (E-Saraban) มาใช้ เพื่อยกระดับเมืองอัจฉริยะก็อย่างเช่น “เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน” ที่นำระบบ E-Saraban มาใช้ในการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสร้าง ระบุรายละเอียด แนบไฟล์ แจ้งเตือนการกระทำ และติดตามเอกสาร รวมถึงเซ็นอนุมัติหรือสั่งการผ่าน Signature Encryption ที่มีกระบวนการทางกฎหมายรับรอง พร้อมกดอนุมัติเอกสาร ปฏิเสธ หรือยกเลิกได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังจัดเก็บข้อมูลเอกสารปลอดภัยบน Cloud ทำให้ค้นหาง่าย และประหยัดกระดาษด้วย
4. Intelligence operation center: IOC
Intelligent Operation Center หรือ IOC เป็นเหมือนวอร์รูม (War Room) ศูนย์สั่งการและปฏิบัติการอัจฉริยะ ที่นำฐานข้อมูลทั้งหมดของเมืองมารวบรวม เชื่อมโยง และวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ แล้วแสดงผลบนหน้าจอ Dashboard ในห้อง IOC เพื่อวิเคราะห์ ประเมิน ติดตาม เฝ้าระวัง สั่งการ วางแผน และบริหารจัดการท้องถิ่น
ตัวอย่างเทศบาลที่เริ่มมีการทำระบบฐานข้อมูลเมือง เพื่อยกระดับสู่ IOC ในอนาคตก็อย่างเช่น “เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา” ที่มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP) มาใช้กับเทศบาล เพื่อรวบรวม จัดเก็บ เชื่อมโยง และแสดงผล Big Data ที่เกี่ยวกับการดำเนินการ การบริการ และโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลนครยะลา ทำให้สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่เทศบาลได้อย่างรวดเร็ว สามารถวางแผนการพัฒนาเมืองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร อีกทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย
ท้องถิ่นจำเป็นจ่ายค่าทำแพลตฟอร์ม เพื่อสร้าง Smart Government แค่ไหน
หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจคลางแคลงใจว่าหากต้องการยกระดับท้องถิ่นของตนเองสู่ Smart Government เพื่อเป็นพื้นฐานสร้างเมืองอัจฉริยะ จะต้องลงทุน ใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อจ้างทำระบบเฉพาะท้องถิ่นหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าในปัจจุบันยังมีทางเลือกของการเช่าบริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ที่พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์การบริหารจัดการท้องถิ่นและยกระดับการบริการประชาชนที่ออกแบบเฉพาะท้องถิ่น พร้อมมีเจ้าหน้าที่บริการและให้คำแนะนำตลอดการเช่าบริการ ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และอัปเดตระบบได้ตลอดการเช่าบริการด้วย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่สนใจเดินหน้าสู่ Smart Government การบูรณาการเทคโนโลยีและข้อมูลที่มีประสิทธิภาพคือองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่ต่างกันก็คือผู้บริหารและพนักงานของท้องถิ่น รวมถึงประชาชนที่จะเปิดกว้าง และพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ดังนั้นก่อนจะนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในท้องถิ่นของคุณอย่าลืมสำรวจความพร้อมและเป้าหมายในการยกระดับเมืองอัจฉริยะให้ครบทุกมุมก่อนลงทุนเทคโนโลยีด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูล