5 แนวทางนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาสนับสนุนงานท้องถิ่น สู่ Digital City อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราจนเรียกว่าเป็น Digital Lifestyle ซึ่งเมื่อวิถีชีวิตของมนุษย์ผูกติดอยู่กับโลกดิจิทัล การบริหารจัดการท้องถิ่นก็ต้องยกระดับสู่ Digital City ด้วยเช่นกัน แต่จะนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้งานบริหารจัดการท้องถิ่นให้ทรงประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง มาดู 5 เทคนิคใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยกระดับท้องถิ่น สู่ Digital City กัน
1. ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยงานแอดมิน
งานแอดมินหรืองานธุรการของท้องถิ่น แน่นอนว่าย่อมมีงานจุกจิกหลายส่วนที่ต้องรับผิดชอบ การนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยทำบางสิ่งแบบอัตโนมัติ จึงช่วยลดภาระงาน แล้วโฟกัสงานส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการนำ Chatbot มาใช้ในการตอบคำถามหรือรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเบื้องต้น รวมถึงการนำระบบอัตโนมัติมาช่วยบอกสถานะของการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้กับประชาชน รวมทั้งยังมีระบบที่ช่วยส่งต่องานภายในไปยังผู้รับผิดชอบแบบอัตโนมัติอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Generative AI ที่ช่วยสร้างสิ่งต่าง ๆ แบบอัตโนมัติ ทั้งข้อความ ภาพ วิดีโอ เสียง เขียนจดหมาย รวมถึงสรุปรายงาน จึงช่วยในการผลิตสื่อเพื่อสื่อสารกับประชาชน ทำจดหมาย และทำสรุปรายงานได้ดี
2. ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจสอบเอกสารและเช็กผลอนุมัติการขออนุญาตก่อสร้างเบื้องต้น
งานส่วนการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร และรื้อถอนอาคาร คืองานที่ต้องอาศัยความรัดกุม เพราะมีกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อหลายฉบับ อีกทั้งยังต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาผลอนุมัติ ทำให้ต้องใช้เวลา และเสี่ยงต่อความผิดพลาดสูง ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะมาช่วยให้งานส่วนนี้ง่ายขึ้น อย่างเช่นระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ (Smart Building Permit Platform) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับการขออนุญาตและควบคุมอาคารแบบออนไลน์ที่ครบวงจร โดยจุดเด่นของระบบเหล่านี้จะอยู่ที่ มี AI ในการเช็กสีผังเมือง การให้คำแนะนำประชาชนแบบอัตโนมัติเบื้องต้น ที่สำคัญสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารได้ จึงสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระและเวลาในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยงานจัดเก็บภาษีป้ายและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ท้องถิ่นพัฒนาได้จะต้องมีรายได้ที่เพียงพอในการทำตามแผนและนโยบายที่ผู้บริหารท้องถิ่นออกแบบไว้ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น อย่างภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงควรจัดเก็บได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง โปร่งใสเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องใช้ทั้งแรงงานคน เวลา และงบประมาณในการปูพรมสำรวจพื้นที่ ด้วยความยุ่งยากที่เล่ามา จึงทำให้มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยงานในส่วนนี้ อย่างเช่นระบบภาษีอัจฉริยะ (Smart Municipal Tax) ระบบแสดงผลข้อมูลการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และป้าย โดยมีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการประมวลผลและวิเคราะห์ตำแหน่ง วัดขนาด แยกประเภทของป้าย และจำแนกประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและการใช้ประโยชน์ของที่ดินได้ด้วย จึงทำให้จัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนและลดขั้นตอนงานสำรวจ งานทะเบียนภาษี และงานแอดมินด้วย
4. ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจจับความผิดปกติของโครงสร้างพื้นฐาน
โครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน พร้อมใช้งาน คืออำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องจัดสรร จัดการ และดูแล แต่ปัญหาการขาดผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่เทคนิค และข้อมูลที่เพียงพอ ทำให้การดูแลสินทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ถนน, ไฟส่องสว่าง, ทางเท้า เป็นต้น เป็นงานที่กว้างขวางและซับซ้อน การนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาสนับสนุนงานในส่วนนี้จึงช่วยได้อย่างดี เช่น การนำระบบจำพวกระบบบริหารจัดการทรัพย์สินอัจฉริยะ (Smart Asset Management) มาใช้ในการจัดการและวางแผนวงรอบและการวางแผนรอบการบำรุงรักษาของสินทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระบบเหล่านี้มักใช้เทคโนโลยี Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (Al) มาทำงานสอดประสานกันในการรวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล ตรวจจับและจำแนกทรัพย์สิน รวมถึงวิเคราะห์ความผิดปกติ และแจ้งสถานะการใช้งานของทรัพย์สิน จึงทำให้เจ้าหน้าที่เห็นความผิดปกติเบื้องต้น ก่อนลงสำรวจพื้นที่จริง และซ่อมแซมได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริหารก็สามารถบูรณาการข้อมูลในการวางแผนและจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่มากขึ้นด้วย
5. ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จัดการข้อมูล เพื่อวางแผนและตัดสินใจ
การใช้ Big Data ในการบริหารจัดการท้องถิ่น คือจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ อันจะนำไปสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันท้องถิ่นประสบปัญหามีข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่ได้รับการจัดเก็บในหลากหลายรูปแบบ ข้อมูลแยกส่วน ขาดการเชื่อมโยงจนไม่สามารถจะนำข้อมูลที่จัดเก็บไปใช้ในเกิดประโยชน์ได้จริง ปัญญาประดิษฐ์จะมาช่วยปิดจุดอ่อนในส่วนนี้ โดยใช้ระบบที่เรียกว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง, แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง ซึ่งจะมี AI ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล จัดระบบ พร้อมเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จนเกิดเป็นข้อมูลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และแสดงผลอยู่ที่ศูนย์กลางข้อมูลในแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนงานในหลากหลายด้าน เช่น ด้านสวัสดิการทางสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านภัยพิบัติ เป็นต้น
ตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้
หากใครที่ยังคิดภาพไม่ออกว่าจะนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในด้านต่าง ๆ แบบที่เล่ามาอย่างไร ต้องบอกว่าปัจจุบันมีท้องถิ่นที่ยกระดับเป็น Digital City นำสิ่งเหล่านี้มาใช้บริหารจัดการเมืองกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบลบ้านกลาง ลำพูน ที่ต่อยอด One Stop Service และ ISC ด้วยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอัจฉริยะจนได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลดีเด่น ประจำปี 2566 มาครอง หรืออย่างเทศบาลตำบลลำพญา ที่กำลังผลักดันนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ เพื่อเป็นลำพญาสมาร์ทวิลเลจ รวมทั้งเทศบาลนครยะลา เมืองสมาร์ตซิตี้ที่ยกระดับ Big Data ด้วย AI จนได้รางวัลท้องถิ่นดิจิทัล 3 ปีซ้อน เป็นต้น เห็นแนวทางการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มายกระดับ Digital City แบบนี้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่ต้องการรับคำปรึกษาและช่วยวางแผนแม่บทการพัฒนาด้านดิจิทัลให้กับเมือง รวมทั้งติดต่อขอรับบริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ สามารถติดต่อได้ที่อีเมล: [email protected] หรือ Line หรือ Facebook