เทศบาลนครยะลาคว้ารางวัลท้องถิ่นดิจิทัล พลิกโฉมเมืองด้วย Big Data แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ในวันเดียว
การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบเดิม ๆ ทำให้หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะได้ไม่สำเร็จ มาศึกษาแนวทางการยกระดับดิจิทัลท้องถิ่นของเทศบาลนครยะลาที่ได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลถึง 3 ปีซ้อน จาก DGA กันว่าใช้ Big Data และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการท้องถิ่นและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างไร
อุปสรรคในการใช้ Big Data ยกระดับท้องถิ่นดิจิทัลของเทศบาลนครยะลา
ก่อนที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ Big Data มาดูอุปสรรคสำคัญในการยกระดับคุณภาพบริการและการบริหารจัดการท้องถิ่นของเทศบาลนครยะลากันก่อน เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบแยกส่วนและขาดการเชื่อมโยงกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและผู้บริหารไม่สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ในการคาดการณ์ วางแผน ติดตามผล และแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เป้าหมายสำคัญของเทศบาลนครยะลาในการนำ Big Data มาใช้
ด้วยแนวคิดที่เปิดกว้าง ไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครยะลาจึงมุ่งมั่นพัฒนาขับเคลื่อนเทศบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) และเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและ Big Data มาประยุกต์ใช้ในการดูแลและบริหารจัดการท้องถิ่น ดังนี้
1. บริหารจัดการเมืองให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด
2. แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและฉับไว
3. ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน
4. ช่วยวางแผน จัดสรรงบ และประเมินความเร่งด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
6. ต้องการเป็นศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) ศูนย์กลางการดูแล ควบคุม สั่งการ และบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ภายในพื้นที่
กระบวนการนำ Big Data มาใช้ในการบริหารจัดการและบริการของเทศบาลนครยะลา
เมื่อผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่เห็นความสำคัญของ Big Data ตรงกันว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน จึงนำมาสู่โครงการ “Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ” โดยมีกระบวนการที่น่าสนใจและน่านำไปประยุกต์ใช้ ดังนี้
1. ค้นหาเทคโนโลยีที่จะนำ Big Data มารวมศูนย์และเชื่อมโยง
เริ่มด้วยการศึกษาและค้นหาเทคโนโลยีที่จะนำ Big Data ของเทศบาลนครยะลาที่จัดเก็บมารวมศูนย์และเชื่อมโยง เพื่อนำไปสู่การต่อยอดและใช้ประโยชน์ในการคาดการณ์ วางแผน ติดตามผล และแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทศบาลนครยะลาได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล พร้อมกับให้บริการและโซลูชันบนแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับที่ตั้ง
2. ประชุมและ Workshop ร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจ
เมื่อได้ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว เทศบาลนครยะลาจึงได้จัดประชุมและ Workshop ร่วมกันกับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด เพื่อสร้างความเข้าใจ ชี้แจงเป้าหมาย และทราบความต้องการของเทศบาลนครยะลา
3. ใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลให้ครบทุกมิติ
นอกจาก Big Data ที่มีอยู่เดิมของเทศบาลแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บและอัปเดตข้อมูลปัจจุบันเพิ่มเติม เพื่อยกระดับการบริหารจัดการและการบริการที่มีประสิทธิภาพสูง โดย บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด พร้อมผู้เชี่ยวชาญได้นำเทคโนโลยีการสำรวจของบริษัทมาทำการจัดเก็บข้อมูลให้ครบทุกมิติ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ได้แก่
1.โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลทางอากาศ ทั้งที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ สภาพพื้นผิวถนน และทางเท้า
2. ระบบจัดทำแผนที่แบบเคลื่อนที่ (Mobile Mapping Systems: MMS) ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลภาคพื้นดิน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ป้ายโฆษณา และที่ดิน
3. ระบบการนำเข้าข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง โดยนำข้อมูลที่มีทั้งหมดมาจัดเก็บ อัปเดต และป้อนข้อมูลเข้าระบบให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
4.พัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกัน
เมื่อได้ข้อมูลที่ครบทุกมิติเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว จึงร่วมกันได้พัฒนา 5 ระบบร่วมกันตามโจทย์ของเทศบาลนครยะลาในการนำ Big Data มารวมศูนย์และเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์ในการคาดการณ์ วางแผน ติดตามผล และแก้ปัญหาให้เมือง ได้แก่
- แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP)
ระบบรวบรวม จัดเก็บ และแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการ การบริการ และโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลนครยะลา เพื่อนำมาใช้ในวางแผนการพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร
- ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ
ระบบวิเคราะห์ คาดการณ์ และวางแผนรับมือภัยพิบัติภายในพื้นที่ที่กำหนด โดยเทศบาลนครยะลานำมาช่วยในการคาดการณ์และวางแผนรับมือภัยพิบัติ พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที
- ระบบรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ (Bellme)
ระบบรับแจ้งเหตุ ร้องเรียน และติดตามสถานะในการแก้ไขปัญหาออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถแชร์พิกัดแจ้งเหตุได้ง่าย พร้อมมีระบบรับเรื่องและติดตามสถานะแบบอัตโนมัติ โดยเทศบาลนครยะลานำมาใช้อำนวยความสะดวกในการรับแจ้งเหตุและร้องเรียนออนไลน์ เพื่อยกระดับการแก้ปัญหา เพิ่มการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ขณะเดียวกันก็ช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการทั้งการตรวจสอบปัญหา พิกัดที่ได้รับร้องเรียน และมีระบบส่งต่อเรื่องภายในหน่วยงานได้สะดวก
- ระบบภาษีอัจฉริยะ (Smart Municipal Tax)
ระบบแสดงผลข้อมูลการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และป้าย พร้อมมี AI ประมวลผลที่แม่นยำ ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยเทศบาลนครยะลานำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ทำให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้องครบถ้วน
- ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ (Smart Building Permit)
ระบบจัดเก็บ Big Data เพื่อใช้ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์แบบครบวงจรที่รอบคอบและรัดกุม โดยเทศบาลนครยะลานำมาใช้บริการประชาชนในการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ติดตาม และทราบผลอนุมัติผ่านออนไลน์ โดยมี AI ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในตรวจสอบคำขอ พิจารณาคำขอ อนุมัติคำขอ ไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. นำระบบที่พัฒนาร่วมกันไปปฏิบัติงานจริง
หลังจากที่นำ Big Data มาพัฒนาจนเกิดเป็น 5 ระบบสำคัญที่ครอบคลุมการดูแลประชาชน และการบริหารจัดการท้องถิ่นแล้ว ก็ถึงเวลาในการนำไปใช้งานจริง โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและอบรมการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าต้องใช้อย่างไร เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างตรงตามเป้าหมายที่เทศบาลนครยะลาตั้งไว้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและตอบสนองความต้องการประชาชนได้จริง
6. วัดผลการดำเนินงาน
การวัดผลดำเนินการคือกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ทราบได้ว่าระบบที่พัฒนาร่วมกันสำเร็จตรงตามเป้าหมาย สามารถยกระดับท้องถิ่นดิจิทัล คุณภาพชีวิต และตอบสนองความต้องการประชาชนได้เพียงใด โดยหลังจากนำระบบมาปฏิบัติการจริงเพียง 30 วันพบว่าสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้เร็วขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เนื่องจากมีฐานข้อมูลเมืองในการสืบค้น และมีตำแหน่งพิกัดข้อมูลที่แม่นยำ จากการใช้เวลาแก้ปัญหา 1 เรื่องในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 จะต้องใช้เวลาเฉลี่ย 9 วัน 7 ชั่วโมง แต่หลังนำแพลตฟอร์มมาใช้เพียง 1 เดือน (มิถุนายน พ.ศ. 2566) เหลือเวลาในการแก้ปัญหา 1 เฉลี่ยเพียง 1 วัน 4 ชั่วโมง เท่านั้น
2. ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินภาษี ในการสำรวจพื้นที่ในบริเวณที่คนเข้าไม่ถึง การตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่ดูแลด้านสังคมสงเคราะห์ในเรื่องข้อมูลการบริหารสังคมสงเคราะห์และการบริการให้การช่วยเหลือทางการแพทย์
3. ช่วยวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการประเมินความเร่งด่วนในการซ่อมบำรุง การจัดสรรงบประมาณ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต การวางแผนรับมือภัยพิบัติ และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
คงจะเห็นกันแล้วว่า Big Data ที่ผนึกกับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมจะนำไปสู่การยกระดับท้องถิ่นเพื่อก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้อย่างเทศบาลนครยะลา ถึงเวลาแล้วที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของคุณจะยกระดับท้องถิ่น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง