ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster management) คืออะไร ทำไมจึงลดขั้นตอน เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความสูญเสียได้
การบริหารจัดการและการปฏิบัติงานด้านภัยพิบัติในคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกแบบทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีอย่างระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster management) มาบูรณาการในการบริหารจัดการภัยพิบัติจะสามารถลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการ ที่สำคัญช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ดีขึ้น
ภัยพิบัติคืออะไร
ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster management) เป็นระบบที่จะช่วยสนับสนุนงานด้านป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ดังนั้นมาทำความเข้าใจกับคำว่าภัยพิบัติกันก่อน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้อธิบายความหมายของ ภัยพิบัติ (Disaster) ไว้ว่า เป็นการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของการปฏิบัติหน้าที่ของชุมชนหรือสังคมอันเป็นผลมาจากการเกิดภัยทางธรรมชาติหรือเกิดจากมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อชีวิต ทรัพย์สิน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางเกินกว่าความสามารถของชุมชนหรือสังคมที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจะรับมือได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งสามารถแบ่งภัยพิบัติในประเทศไทยออกเป็น 8 ประเภทหลัก ได้แก่ อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม ภัยแล้ง คลื่นสึนามิ ภัยหนาว อัคคีภัย ภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม
การจัดการภัยพิบัติ
ภัยพิบัตินำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จึงต้องอาศัยกระบวนการจัดการภัยพิบัติเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิด ไม่ว่าจะเป็น
1. การป้องกันภัยพิบัติ เป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ สามารถดำเนินการได้ล่วงหน้าก่อนเกิดภัยพิบัติ เช่น การจัดการความเสี่ยงที่ดี แผนการอพยพ แผนการช่วยเหลือ แผนด้านสิ่งแวดล้อม และการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิตและการบรรเทาการบาดเจ็บ
2. การเตรียมการ เป็นการมอบความรู้และเครื่องมือให้แก่ประชาชนที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาชีวิต บรรเทาผลกระทบ และลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติ
3. การตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน เป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกัน บรรเทา และลดผลกระทบในช่วงระหว่างที่เกิดภัยพิบัติ
4. การฟื้นฟูความเสียหาย เป็นการทำให้ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติกลับสู่ชีวิตปกติหลังภัยพิบัติอย่างรวดเร็วที่สุด พร้อมหาแนวทางในการหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster management) คืออะไร
ความหมายของภัยพิบัติและแนวทางในการจัดการภัยพิบัติขั้นต้นที่เล่าไป หลายท่านคงทราบกันอยู่แล้ว แต่ด้วยภัยพิบัติในปัจจุบันเกิดบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงมากขึ้น และคาดการณ์ยากมากขึ้น แนวทางในการจัดการภัยพิบัติที่วางไว้อยู่แล้วจึงไม่ได้ประสิทธิผลเท่าเดิม ในปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการกันเพื่อจัดการภัยพิบัติได้อย่างครอบคลุม ทั้งก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิดภัยพิบัติ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีแยกส่วน เพื่อช่วยในระยะหรือส่วนย่อยต่าง ๆ แบบเมื่อก่อน ซึ่งระบบนั้นมีชื่อว่า ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster management)
ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ หรือ Disaster management เป็นระบบที่บูรณาการเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีมาจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ แจ้งเตือน สรุปผล สนับสนุนการปฏิบัติการ รวมถึงคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง และคาดการณ์ผลกระทบจากภัยพิบัติ
กระบวนการทำงานของระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ
สำหรับกระบวนการในการทำงานของระบบบริหารจัดการภัยพิบัตินั้นจะใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเข้ามาในแต่ละกระบวนการทำงาน
1. รวบรวมข้อมูล เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์
เริ่มตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ มักจะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อุปกรณ์ IoT เซนเซอร์ และเทคโนโลยีการสำรวจมาช่วยจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง เรียลไทม์ และแม่นยำ เช่น ข้อมูลรายงานภัยพิบัติย้อนหลังและปัจจุบัน แผนที่เกิดภัยพิบัติ แผนที่ดินถล่ม ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม จุดความร้อน เรดาร์ฝน ข้อมูลจากระบบโทรมาตร เป็นต้น
2. วิเคราะห์ความเสี่ยง
หลังจากจัดเก็บข้อมูลมาแล้วจะเข้าสู่การประมวลผล ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะมีปริมาณมหาศาลและกระจัดกระจาย จึงมักจะใช้ AI และ Machine Learning มาจัดเรียงและซ้อนทับข้อมูลเป็นชั้นข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมจัดระบบ และประมวลผลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณภาพ
3. รายงานผลผ่าน Dashboard
เมื่อระบบวิเคราะห์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว มักจะมีการแสดงผลการวิเคราะห์ผ่านแผนที่จำลอง หรือ Dashboard เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายและทันที ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยง ผลกระทบที่จะเกิด ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ แนวทางในการจัดลำดับความช่วยเหลือ เป็นต้น ซึ่งรายงานนี้ไม่เพียงเห็นได้ภายในศูนย์บัญชาการข้อมูลเท่านั้น แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนงานที่รับผิดชอบ และผู้ที่อยู่หน้างานที่มีสิทธิ์เข้าใช้งานระบบได้ก็จะสามารถเห็นข้อมูลได้เช่นเดียวกัน จึงทำให้สามารถวางแผนและปฏิบัติการได้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเท่านั้นระบบมักจะมีเครื่องมือในการส่งออกรายงานไปยังผู้อื่น เพื่อให้ดำเนินการในการจัดการภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย
ที่สำคัญระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ มักมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลต่าง ๆ เมื่อถึงสถานะ จุด หรือเส้นที่ผู้ใช้งานกำหนดไว้ว่าอยู่ในระดับอันตรายหรือไม่ตามแต่ละพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องมอนิเตอร์หน้าจอระบบตลอดเวลา อีกทั้งยังมีระบบสั่งงานไปยังอุปกรณ์ IoT ที่ติดตั้งไว้ที่สถานีสนามได้ด้วย
4. แจ้งเตือนและเข้าปฏิบัติการ
หลังจากประเมินสถานการณ์และวางแผนการดำเนินงาน โดยอาศัยรายงานผลจาก Dashboard แล้ว ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถดำเนินการต่ออย่างรวดเร็ว โดยอาจแจ้งเตือนภัยผ่านเสียงตามสาย หรือช่องทางโซเชียลต่าง ๆ ถึงสถานการณ์และแนวทางในการปฏิบัติตัว ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่หน้างานหรือผู้เกี่ยวข้องที่เข้าใช้งานระบบได้หรือรับข้อมูลจากระบบมาก็จะเห็นข้อมูลสถานการณ์แบบเรียลไทม์ใน Dashboard ทำให้เข้าปฏิบัติการได้ทันที และวางแผนการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยอาศัยข้อมูลจาก Dashboard ทั้งสถานการณ์เรียลไทม์ การคาดการณ์แนวโน้ม สถานการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงลำดับการเข้าช่วยเหลือ เป็นต้น
จุดเด่นของระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ
อย่างที่บอกไปว่าระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างครอบคลุมทุกกระบวนการ จึงมีจุดเด่นที่ผู้นำท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติควรจะนำมาใช้สนับสนุนงานในส่วนนี้
1. ดูรายงานผลผ่าน Dashboard ได้ง่าย ทุกที่ ทุกเวลา หากมีสิทธิ์เข้าใช้งาน
2. สามารถเรียกดูข้อมูลได้ทั้งแบบเรียลไทม์ และดูข้อมูลย้อนหลังได้
3. มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากระบบมักจะออกแบบให้มีการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง และมีมาตรฐานการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นไปตามกฎหมาย
4. ฐานข้อมูลมีประสิทธิภาพสูง มีการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายในการจัดเก็บ จึงทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติที่มีคุณภาพ อัปเดต แม่นยำ และครบถ้วน
5. มีระบบการแจ้งเตือนอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทราบได้ทันที นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขที่รวดเร็วมากขึ้น
ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster management) เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทุกหน่วยงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มนำมาใช้กันบ้างแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนในการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้ผ่านพ้นภัยพิบัติไปได้อย่างสูญเสียน้อยที่สุด และกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุดนะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.disaster.go.th/upload/download/file_attach/58a6b30b90d96.pdf