ทำความรู้จัก นครเซจง เกาหลีใต้ เมืองสร้างใหม่ เพื่อให้เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่องที่ขับเคลื่อนด้วย Big Data

หลายคนคงรู้จัก กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมือง Smart City ต้นแบบอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งต้องบอกว่าในเกาหลีไม่ได้มีแค่โซลเท่านั้น แต่ยังมีซองโด ยอซู ซูวอน ปูซาน และเซจง ที่กำลังพัฒนา Smart city กันอย่างเข้มข้นอีกด้วย วันนี้ Bedrock จะมาแนะนำให้รู้จักกับ นครเซจง เมืองที่กำลังได้รับการผลักดันให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย Big Data
นครเซจง เมืองปกครองตนเองพิเศษ
นครเซจง (Sejong) มีชื่อเป็นทางการว่า ‘เมืองปกครองตนเองพิเศษเซจง’ อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ เป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2550 เพื่อขยายเมืองและลดความแออัดของเมืองหลวงอย่างโซล โดยนำพื้นที่บางส่วนจากจังหวัดชุงชองใต้ (South Chungcheong) และจังหวัดชุงชองเหนือ (North Chungcheong) มาสร้างเป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองอย่างดี มีลักษณะเป็นกลุ่มตึกสี่เหลี่ยมทรงสูงกระจายตัวเป็นวงกว้าง และระหว่างตึกจะมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัว เพื่อให้คนเมืองใช้พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งยังมีการขุดทะเลสาบเทียมขนาดใหญ่ และมีสวนสาธารณะจำนวนมากด้วย
นครเซจงเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางราชการและเอกชนจำนวนมากที่ย้ายและขยับขยายมาจากโซล ที่สำคัญนครเซจงได้รับการจัดตั้งและกำลังพัฒนาให้เป็นเมืองนำร่อง Smart city ที่ขับเคลื่อนเมืองด้วย Big Data
นครเซจง เมืองนำร่อง Smart city ที่บริหารจัดการเมืองด้วย Big Data
เป้าหมายสำคัญของนครเซจง ก็คือการสร้างเมืองสำหรับทุกคน มีธรรมาภิบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในการวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาของเมือง การใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การรักษาความปลอดภัย และการรับมือกับภัยพิบัติ
ปัจจุบันนครเซจง ได้กำหนด “พื้นที่นำร่องเมืองอัจฉริยะเซจง” ขึ้นมา ภายในพื้นที่จะแบ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัย เขตเมือง และพื้นที่ทำงานร่วมกัน โดยมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่นำเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม 4.0 มาประยุกต์ใช้ในด้านการเคลื่อนย้าย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและการทำงาน พลังงานและสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล วัฒนธรรมและการชอปปิง ชีวิตและความปลอดภัย โดยจุดเด่นสำคัญของโครงการเมืองอัจฉริยะเซจง ก็คือการบริหารจัดการเมืองโดยใช้ Big Data ตั้งแต่การผลิตข้อมูลไปจนถึงการรวบรวม การประมวลผล การวิเคราะห์ และการใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งมีการเปิดข้อมูล เพื่อนำไปสร้างสิ่งต่าง ๆ โดยยึดประโยชน์และความต้องการของพลเมืองเป็นศูนย์กลาง
ตัวอย่างการพัฒนาในโครงการเมืองอัจฉริยะเซจง
เรามาดูตัวอย่างการพัฒนาในโครงการเมืองอัจฉริยะเซจงที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นกันดีกว่าน่าสนใจกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ
นครเซจง ต้องการสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยี ธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับประชากร เพื่อให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน จึงมีการออกแบบระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะมาใช้ในเมือง ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ รถยนต์ไร้มลพิษ และเครือข่ายขนาด 10 Gigabit ซึ่งเป็นเครือข่ายแห่งอนาคต เป็นต้น
2. การให้บริการแก่สาธารณชน
นครเซจง มีการออกแบบและจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อให้เทคโนโลยีอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ระบบ wi-fi สาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะ และการจัดทำแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกและรวมบริการทุกด้านให้แก่ประชาชน เช่น แอปพลิเคชันบริการเรียกรถที่ชื่อว่า “Shucle” อยู่ในโครงการนำร่อง Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นการบริการการเดินทางที่ตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้
3. การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ
นครเซจง นำข้อมูล, เทคโนโลยี, AI และ Blockchain มาใช้ในการบริหารจัดการเมือง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการและเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เช่น การสร้างคลังข้อมูลสารสนเทศ โมเดลจำลองฝาแฝดเสมือนจริงของวัสดุทางกายภาพ เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Digital Twin) และการทำอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค
ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อสร้างงานให้กับประชาชน และสร้างรายได้จากการเก็บภาษีให้กับนครเซจงด้วย ตัวอย่างบริษัทด้านข้อมูลที่มาตั้งในนครเซจงก็อย่างเช่น Naver Cloud Data Center
4. ศูนย์กลางยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ
นครเซจงต้องการสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางยานพาหนะแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ จึงมีการตั้งศูนย์ Autonomous Driving Big Data Control Center เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัย การพัฒนา และทดสอบยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับโลก เช่น การพัฒนาโดรน, การพัฒนาแพลตฟอร์มตรวจสอบข้อมูลประจำตัวบน blockchain สำหรับโดรน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานโดรน, การบริการรถยนต์ไร้มลพิษที่ขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติในพื้นที่ใจกลางเมือง รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
5. ศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่
เพื่อให้นครเซจงเป็นเมืองที่ยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง จึงออกแบบโครงสร้างพื้นที่ฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น Sejong Smart National Industrial Complex เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมวัสดุและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมอัจฉริยะ และ Sejong Tech Valley การส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคและอุตสาหกรรมท้องถิ่น
6. สร้างแหล่งการศึกษาตลอดชีวิต
ด้วยความที่นครเซจงเป็นเมืองใหม่ จึงมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้จำนวนมากภายในเมือง ภายใต้แนวคิด เดินเพียง 10 นาที จะต้องถึงศูนย์การเรียนรู้ ปัจจุบันนครเซจงมีห้องสมุดสาธารณะ 10 แห่ง ห้องสมุดขนาดเล็ก 60 แห่ง และห้องสมุดที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงอีก 7 แห่ง (เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง) นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง Sejong Happy Education Support Center ศูนย์สนับสนุนการศึกษาที่มีความสุขของเซจงอีกด้วย
นครเซจง คือพื้นที่นำร่องเมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย Big Data ที่น่าจับตามองว่าจะมีโครงการใหม่ ๆ อะไรอีกบ้าง สำหรับในประเทศไทยนั้น ก็มีพื้นที่พัฒนาพิเศษ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องเมืองอัจฉริยะเช่นกัน นั่นก็คือที่วังจันทร์วัลเลย์ ผู้ที่อยากไปศึกษาดูงานก็สามารถไปเยี่ยมชมกันได้นะครับ
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่อยากเริ่มบริหารจัดการเมืองด้วยการใช้ Big Data สามารถปรึกษาบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล และผู้ให้ให้บริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับที่ตั้ง เพื่อผลักดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก้าวสู่เมืองอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อได้ที่อีเมล: [email protected] หรือ Line หรือ Facebook
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ