เปิดโลกทัวร์เมือง “วังจันทร์วัลเลย์” เมือง Smart City จำลองของไทย ในพื้นที่ EECi
Bedrock ขอชวนไปทัวร์วังจันทร์วัลเลย์ พื้นที่ต้นแบบ Smart City ของไทย ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าไปศึกษาถ้าอยากเปลี่ยนผ่านเมืองสู่ Smart City
วังจันทร์วัลเลย์คืออะไร
วังจันทร์วัลเลย์ หรือโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก คือพื้นที่กว่า 3,454 ไร่ ที่ตั้งอยู่ใน ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) โดยอาศัยแนวคิดเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
วังจันทร์วัลเลย์มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี โดยภายในโครงการมีการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบสาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่รองรับการอยู่อาศัยของประชากรภายในโครงการ เพื่อผลักดันนวัตกร นักวิจัย และผู้ประกอบการไทยให้ทำธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก เพื่อรองรับงานวิจัยและนวัตกรรม ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform ได้แก่
1. พื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (Education Zone)
พื้นที่ขนาด 1,340 ไร่ ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมโอกาสด้านการศึกษาเรียนรู้ ประกอบไปด้วยสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถาบันปลูกป่า ปตท. ศูนย์การเรียนรู้ สร้างนวัตกรรม และเชื่อมโยงองค์ความรู้ในพื้นที่
2. พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone)
พื้นที่ขนาด 975 ไร่ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามแนวคิด Smart Innovation Platform เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ EECi และยังมีที่ดินและพื้นที่ในอาคารให้เช่าเพื่อการวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งมีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานบริการและระบบนิเวศที่ทันสมัยที่ครบครันรองรับให้ด้วย
3. พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone)
พื้นที่ขนาด 152 ไร่ ที่จัดให้เป็นที่พักอาศัย แหล่งสันทนาการ ศูนย์การค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับนวัตกร นักวิจัย บุคลากรและครอบครัว ผู้ประกอบการ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงแรม อพาร์ตเมนต์ ศูนย์การค้า คลินิกอัจฉริยะ พื้นที่สีเขียว พื้นที่ทำงาน เป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในโครงการยังมีพื้นที่สีเขียวกว่า 608 ไร่ และอีก 416 ไร่ เป็นพื้นที่พัฒนาโครงสร้างพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคภายในเมือง (Infrastructure & Utilities)
ความอัจฉริยะในโครงการวังจันทร์วัลเลย์
อย่างที่บอกไปว่าโครงการวังจันทร์วัลเลย์นำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มาพัฒนาพื้นที่ ทำให้ภายในโครงการมีนวัตกรรมอัจฉริยะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการเมืองได้มากมาย เช่น
1. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
- ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) เพื่อวัดการใช้งานพลังงาน โดยสามารถแสดงผลแบบ Real-time และย้อนหลังได้
-รองรับการติตตั้ง Solar Farm และ Solar Rooftops เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- บริการ EV Shuttle Buses และ EV Charging Stations เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเดินทางโดยใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
- มีพื้นที่ Green Area และ Open Space รวมกันคิดเป็น 60% ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดเป็นสำนักงานวิจัยและเขตนวัตกรรมที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ยั่งยืน
- สร้างพื้นที่ Green Area และ Green Belt โดยใช้หลักการปลูกป่าและฟื้นฟูธรรมชาติป่าเชิงนิเวศแบบยั่งยืน
- ติดตั้งเซนเซอร์กระจายตามจุดสำคัญต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังและบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศและทางน้ำ ได้แก่ CO2, O2, O3, PM 2.5, Dissolved Oxygen, Wind Speed, Rain Gauge
- มีโครงข่ายท่อส่งน้ำประปาและท่อรับน้ำเสียที่ฝังอยู่ใต้ดิน พร้อมติดตั้งมิเตอร์วัดปริมาณของเสียแต่ละแปลงพื้นที่ ซึ่งสามารถแสดงผลแบบ Real-time และย้อนหลังได้
- น้ำเสียภายในโครงการ เมื่อผ่านกระบวนการบำบัดแล้ว จะนำมาใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ทั้งหมด เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน
3. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
- มีระบบสัญญาณ Wi-Fi ที่ครอบคลุม
- มีระบบการเรียนรู้ผ่านห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
4. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
- มีอาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center - IOC) ตามมาตรฐานของสถาบันอาคารเขียวไทย และสถาบัน LEED (USGB) ระดับ Certified ที่เป็นศูนย์กลางการควบคุมระบบสาธารณูปโภคและรักษาความปลอดภัยทั้งหมด
- มี Wangchan Valley Mobile Application ใช้จองพื้นที่จอดรถล่วงหน้า ตรวจสอบเวลา Shuttle Bus และแจ้งเหตุฉุกเฉิน
- มีศูนย์ควบคุมที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- มีห้องประชุมที่ทันสมัย
5. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
- มีระบบ City Data Platform
- มีระบบรองรับการดำเนินการทางด้านการค้าและการเงินได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ธนาคารออนไลน์ ระบบแจ้งหนี้ค่าบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Billing) ติดต่อสอบถามและขอรับการบริการผ่าน Service Center
- มีระบบรองรับการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบที่ทันสมัย เช่น Block Chain เป็นต้น
6. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
- มีบริการรถ EV Shuttle Buses ที่เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- มี Smart Bus Stop เช่น ติดตามสถานะของรถ โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
- มี EV Charging Stations ครอบคลุมพื้นที่
- มีทางจักรยาน
- มีระบบจองพื้นที่จอดรถ (Smart Parking) สำหรับผู้ที่จะเข้ามาในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์
7. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
- มีระบบตรวจจับใบหน้า (Face Recognition)
- มีระบบตรวจสอบป้ายทะเบียนรถ (License Plate Recognition)
- มีระบบตรวจสอบการบุกรุก
- มีกล้องจับความร้อนในเวลากลางคืนหรือพื้นที่อับแสง
- มีระบบวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ ตลอดจนผู้ใช้เส้นทางสัญจร เช่น แจ้งเตือนหากมีผู้ประสบอุบัติเหตุในพื้นที่
- มีการติดตั้งระบบตรวจจับความเร็วของยานพาหนะ
- มีระบบตรวจจับวัตถุแปลกปลอมป้องกันการนำวัตถุมาวางทิ้งไว้ในพื้นที่ควบคุม และการเข้ามาในพื้นที่ของสัตว์ต่างๆ
- รองรับการส่งสัญญาณภาพผ่านอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ที่สำคัญยังมีการสร้างศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง (Data Center) และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) ซึ่งเป็นการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ทำให้สามารถบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะและสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่อยากศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการเมืองและนวัตกรรมอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ถือเป็นเมืองจำลอง Smart City ที่น่าสนใจนะครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ https://www.wangchanvalley.com