ชวนดู 8 ประเทศตัวอย่างที่พัฒนาระบบเตือนภัยจนประสบความสำเร็จในการรับมือเหตุฉุกเฉิน
เป็นที่ทราบกันดีว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้ภัยพิบัติดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น การออกแบบระบบเตือนภัยที่ดีจะช่วยลดผลกระทบและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ วันนี้ Bedrock จึงเอาตัวอย่างระบบเตือนภัยพิบัติและเตือนภัยเหตุฉุกเฉินแก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ มาให้ดูกัน
1. สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา มีการนำเทคโนโลยีแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Wireless Emergency Alerts (WEA) มาใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงแจ้งคำสั่งอพยพทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทั้งพายุเฮอริเคน พายุไต้ฝุ่น พายุหิมะ น้ำท่วมฉับพลัน สึนามิ สารเคมีรั่ว เป็นต้น ซึ่งจะเป็นข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือในลักษณะข้อความสั้นไม่เกิน 90 ตัวอักษร เพื่อแจ้งว่าเกิดอะไร ต้องทำอย่างไร หรือป้องกันตัวอย่างไร
นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังมีระบบ Amber Alert ซึ่งเป็นระบบช่วยเหลือและติดตามเด็กหายภายในเวลา 24 ชม. โดยจะเป็นการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ในพื้นที่ด้วยเสียง พร้อมระบุรายละเอียด ทั้งสถานที่เกิดเหตุ หน้าตา หมายเลขทะเบียนรถต้องสงสัย เป็นต้น
2. เนเธอร์แลนด์
ในสหภาพยุโรปจะใช้ระบบเตือนภัยที่ชื่อว่า EU-Alert ซึ่งจะปรับชื่อตามแต่ละประเทศสำหรับเนเธอร์แลนด์จะใช้ชื่อว่า NL-Alert ซึ่งมักจะแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับภัยพิบัติ สถานการณ์ที่คุกคามชีวิต และให้คำแนะนำในกรณีฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือของประชาชน ป้ายโฆษณาทางดิจิทัล และป้ายทางออกของระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมสัญญาณเตือนการบิน ซึ่งระบบเตือนภัยที่พบบ่อยจะเป็นจำพวกพายุอันตราย ไฟไหม้ขนาดใหญ่ กลุ่มควัน และอาชญากรรมรุนแรง
3. ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่พบกับภัยพิบัติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด และสภาพอากาศที่รุนแรง จึงมีการจัดทำระบบเตือนภัยที่ชื่อว่า J-Alert หรือ Japan's Emergency Warning System ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนประชาชนถึงเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติที่มีความแม่นยำสูง โดยจะแจ้งเตือนในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์ วิทยุ ลำโพงกระจายเสียงตามท้องถิ่น เว็บไซต์ อีเมล รวมถึงโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Cell Broadcast
นอกจากนี้ ยังมีระบบศูนย์กลางข้อมูลระดับท้องถิ่นที่ชื่อว่า L-Alert ซึ่งเป็นระบบที่ให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับข้อมูลและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานทุกภาคส่วน แล้วแจ้งแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนผ่านช่องทางการกระจายเสียงของท้องถิ่น อินเทอร์เน็ต วิทยุท้องถิ่น เว็บไซต์ท้องถิ่น และส่งข้อความแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ ถึงแนวทางในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่
4. ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ มีการใช้ระบบ ECBS (Emergency Cell Broadcast System) ซึ่งเป็นระบบกระจายสัญญาณฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติ ผลกระทบ การเตรียมตัวและตอบสนองต่อภัยพิบัติ ข้อมูลศูนย์อพยพ และจุดรับ-ส่งประชาชน โดยจะแจ้งเตือนฉุกเฉินในลักษณะ Cell Broadcast Service (CBS) ซึ่งเป็นข้อความแจ้งเตือนประเภทหนึ่งที่จะเด้งขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ที่ต้องการแจ้งเตือนผ่านบริการกระจายสัญญาณ
5. เกาหลีใต้
เกาหลีใต้ อีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบเตือนภัยฉุกเฉินที่ทรงประสิทธิภาพ โดยเป็นระบบ Emergency Alert System หรือ EAS ซึ่งเป็นระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินแบบระบุหรือกำหนดพื้นที่ได้ เช่น แผ่นดินไหว พายุเข้า ฝนตกหนัก ฝุ่น PM 2.5 รถไฟฟ้าขัดข้อง เหตุอาชญากรรมในพื้นที่ และการแจ้งเตือนคนหาย พร้อมคำแนะนำเบื้องต้น ผ่านข้อความเตือนภัยฉุกเฉินชื่อว่า Korean emergency alert ซึ่งเป็นแบบ Cell Broadcasting System (CBS) ผ่านเสาสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือภายในไม่กี่วินาที ทั้งภาษาเกาหลี จีน และอังกฤษ
6. ออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย มีระบบแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์ที่ชื่อว่า Emergency Alert Australia ซึ่งจะแจ้งเตือนเป็นข้อความเสียงไปยังโทรศัพท์บ้านและข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในพื้นที่ของภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับภัยพิบัติที่ได้รับการแจ้งเตือนบ่อยก็คือเรื่องของไฟป่า ไฟไหม้ น้ำท่วม และเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
7. แคนาดา
แคนาดามีระบบเตือนภัยสาธารณะแห่งชาติ (National Public Alerting System: NPAS) ที่ชื่อว่า Alert Ready ซึ่งจะแจ้งเตือนถึงภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น ไฟไหม้ ไฟป่า ระเบิด สารเคมีรั่วไหล คุณภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นต้น โดยจะแจ้งเตือนผ่านวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ไร้สายที่เชื่อมต่อ LTE ในส่วนผู้พิการหูหนวก หูตึง ตาบอด หรือสายตาเลือนราง ระบบจะแจ้งเตือนในรูปแบบของเสียงเตือนภัย การสั่น และการแปลงข้อความเป็นเสียง
8. อินเดีย
อินเดียมีระบบเตือนภัยเหตุฉุกเฉิน ผ่านการแจ้งเตือนในรูปแบบระบบ Cell Broadcast Alert System (CBAS) ไปยังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งจะแจ้งถึงภัยพิบัติล่วงหน้าหรือเหตุฉุกเฉินร้ายแรงต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศที่เลวร้าย สึนามิ น้ำท่วมฉับพลัน ความปลอดภัยสาธารณะ ประกาศการอพยพ และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่มักใช้โทรศัพท์มือถือ ระบบการแจ้งเตือนจึงควรมีการปรับให้เข้ากับยุคสมัย การแจ้งเตือนแบบเสียงตามสาย โทรทัศน์ และวิทยุอาจไม่เพียงพออีกต่อไป จากตัวอย่างที่นำเสนอมาจะเห็นว่าหลายประเทศมีการนำระบบการแจ้งเตือนแบบ Cell Broadcasting System (CBS) มาใช้ ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐไปสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ เลยครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.emergencyalert.gov.au/
https://www.publicsafety.gc.ca/cnt/mrgnc-mngmnt/mrgnc-prprdnss/ntnl-pblc-lrtng-sstm-en.aspx