ทำความรู้จัก J-Alert และ L-Alert สุดยอดระบบเตือนภัยทรงประสิทธิภาพของญี่ปุ่น
เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเขย่าญี่ปุ่นต้อนรับวันปีใหม่ที่ผ่านมา และยังตามมาอีกหลายระลอกจนสร้างความเสียหายในกับชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คืออาคารบ้านเรือนที่ออกแบบมาเพื่อรองรับภัยพิบัติ ประชาชนมีความรู้เบื้องต้นในการป้องกันตนเอง และสุดยอดระบบเตือนภัยของประเทศญี่ปุ่นอย่าง J-Alert ที่มีความรวดเร็ว จนไม่เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ อีกทั้งยังมี L-Alert ด้วย สองระบบนี้คืออะไรมาทำความรู้จักกัน
ระบบเตือนภัย J-Alert คืออะไร
ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้งติดอันดับโลก จึงมีความก้าวหน้าในการจัดเก็บฐานข้อมูล พัฒนาระบบเฝ้าติดตามภัยพิบัติและจุดที่จะเกิดขึ้นอย่างแม่นยำ โดยในปี พ.ศ. 2547 ระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า ที่ชื่อว่า J-Alert หรือ Japan's Emergency Warning System ได้นำมาใช้ในญี่ปุ่น เพื่อแจ้งเตือนประชาชนถึงเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด สภาพอากาศที่รุนแรง ประเทศถูกคุกคาม แจ้งข่าวฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งจะทำการแจ้งเตือนในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์ วิทยุ ลำโพงกระจายเสียงตามท้องถิ่น เว็บไซต์ อีเมล รวมถึงแจ้งเตือนไปที่โทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Cell Broadcast
สำหรับระดับการแจ้งเตือนในระบบ J-Alert จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความเร่งด่วน ดังนี้
- ระดับ 1 สัญญาณสีเหลือง คือการเตือนให้ระวัง แนะนำให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งเตรียมอพยพ
- ระดับที่ 2 สัญญาณสีแดง คือการเตือนภัยอันตราย แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอพยพโดยด่วน
- ระดับที่ 3 สัญญาณเตือนสีม่วง คือกำลังเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นแล้วหรืออาจกำลังจะเกิด ทุกคนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิต โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากทางการเพิ่มเติม
จุดเด่นของระบบเตือนภัย J-Alert
J-Alert คือระบบเตือนภัยที่ได้รับการขนานนามว่าเจ๋งสุด ๆ ด้วยจุดเด่นสำคัญ 2 อย่าง ดังนี้
-กระจายการแจ้งเตือนถึงทุกคนอย่างรวดเร็ว
นอกจากจะแจ้งเตือนตามช่องทางหลักแล้ว ความพิเศษของ J-Alert ก็คือมีการใช้ระบบการแจ้งเตือนที่เรียกว่าระบบ Cell Broadcast คือการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วมากในไม่กี่วินาที โดยไม่ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ แต่เป็นการส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่แบบรวดเดียว และเจาะจงพื้นที่ได้ ซึ่งไม่กระทบการใช้งานโทรศัพท์ ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์และคลื่นความถี่
-แจ้งเตือนแบบความไวแสง ทำให้เตรียมรับมือได้ดี
ความไวแสงในการแจ้งเตือนภัยของ J-Alert นั้นมีความรวดเร็วมาก โดยทันทีที่ได้รับข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา รัฐบาล เป็นต้น หน่วยดับเพลิงและการจัดการภัยพิบัติ (Fire and Disaster Management Agency: FDMA) จะอาศัยดาวเทียมหรือเครือข่ายสำรองภาคพื้นดิน (backup terrestrial circuits) ไปยังอุปกรณ์รับ J-Alert เพื่อทำการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แล้วกระจายสัญญาณการแจ้งเตือนตามช่องทางต่าง ๆ ซึ่งพบว่ากระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น ทำให้ประชาชนเตรียมรับมือหรือป้องกันตนเองได้อย่างรวดเร็ว
ระบบ L-Alert ศูนย์กลางข้อมูลระดับท้องถิ่น
ระบบ L-Alert ถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2554 เป็นอีกหนึ่งระบบที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ทำหน้าที่เหมือนศูนย์กลางที่คอยส่งข้อมูล เพื่อแนะนำแนวทางเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน โดยจะเน้นให้ข้อมูลเฉพาะเจาะจงพื้นที่หรือท้องถิ่น ทำให้ในแต่ละท้องถิ่นหรือพื้นที่จะได้รับคำแนะนำที่ไม่เหมือนกัน เช่น ที่ตั้งศูนย์ช่วยเหลือในชุมชน จุดปลอดภัยของการอพยพในพื้นที่ เส้นทางที่ถูกตัดขาด ข้อมูลไฟฟ้าดับ ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ล่ม คำแนะนำต่าง ๆ เป็นต้น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำหน้าที่รับข้อมูลและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานทุกภาคส่วน แล้วทำการแจ้งแก่ประชาชนในพื้นที่ผ่านช่องทางการกระจายเสียงของท้องถิ่น อินเทอร์เน็ต วิทยุท้องถิ่น เว็บไซต์ท้องถิ่น และส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
คงจะเห็นกันแล้วว่าการนำระบบการเตือนภัยมาใช้ สามารถช่วยในเรื่องของการรับมือ เตรียมการป้องกัน รวมทั้งวางแผนช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในไทยสามารถเริ่มได้ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่าระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ด้านภัยพิบัติ มาใช้ในการแจ้งเตือน การวางแผนการรับมือภัยพิบัติให้ประชาชนและท้องถิ่นได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากอยากรู้ว่าระบบนี้คืออะไร คลิกอ่านได้ที่: แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ด้านการจัดการภัยพิบัติ คืออะไร
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
https://esolia.com/japan-emergency-broadcast-system-j-alert/
https://www.fdma.go.jp/about/organization/post-18.html