“อาคารศูนย์ปฏิบัติการ IOC” แห่งวังจันทร์วัลเลย์ ต้นแบบวอร์รูมของท้องถิ่นไทยที่อยากก้าวสู่ Smart City
หลายท่านคงได้รู้จักกับเมืองอัจฉริยะต้นแบบของไทยอย่าง “วังจันทร์วัลเลย์” ณ ตำบลป่ายุบ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง กันแล้ว แต่รู้หรือไม่ หัวใจสำคัญของเมืองอัจฉริยะแห่งนี้อยู่ที่ไหน? นั่นก็คือ “ศูนย์ปฏิบัติการ IOC” สถานที่นี้คืออะไร แล้วทำไมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยากก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) จะต้องรู้จักไว้เป็นไอเดียในการสร้างศูนย์บัญชาการข้อมูลของท้องถิ่นกัน
ศูนย์ปฏิบัติการ IOC คืออะไร
ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ ย่อมาจาก Intelligent Operation Center หรือ IOC เป็นศูนย์กลางควบคุมสาธารณูปโภคของเมือง สำหรับควบคุมและสั่งการระบบสาธารณูปโภค ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายในพื้นที่เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ที่เต็มไปด้วย Big Data มหาศาล สามารถควบคุม ตรวจสอบ และบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ภายในเมืองอัจฉริยะให้เกิดความเรียบร้อยและราบรื่น โดยมีลักษณะเป็นอาคารปฏิบัติการ 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,700 ตารางเมตร และพื้นที่ดาดฟ้า 1,300 ตารางเมตร ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงมาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ในระดับ Certified เพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานทั้งน้ำและไฟฟ้า
ศูนย์ปฏิบัติการ IOC มีระบบสุดไฮเทคอะไรบ้าง
ด้วยความที่ศูนย์ปฏิบัติการ IOC คือศูนย์บัญชาการด้านข้อมูล ควบคุม และตรวจสอบระบบต่าง ๆ ภายในวังจันทร์วัลเลย์ เมืองอัจฉริยะต้นแบบของไทย ภายในศูนย์ปฏิบัติการ IOC จึงเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและระบบสุดไฮเทคเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1. ห้องควบคุมปฏิบัติการ (Control Room) เป็นห้องควบคุมและสั่งการระบบปฏิบัติการต่าง ๆ โดยอาศัยฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ มีความแม่นยำสูง และข้อมูลสามารถเชื่อมโยงหรือบูรณาการกันได้ ทำให้ภายในห้องควบคุมปฏิบัติการ ประกอบไปด้วย Video Wall หน้าจอ LED ขนาดใหญ่มากหลายชุด พร้อมโต๊ะให้พนักงานสามารถปฏิบัติการในการมอนิเตอร์ข้อมูลทุกระบบภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์แบบเรียลไทม์ เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์ พร้อมพัฒนาต่อยอดเมืองในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น
- Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA)
ระบบการตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคแบบ Real-time เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบรวบรวมน้ำเสีย
- Energy Management System (EMS)
ระบบแสดงปริมาณการรับจ่ายสาธารณูปโภคแบบ Real-time โดยจะรับข้อมูลมาจาก Smart Meter ที่ติดตั้งใน Tie-in Building และสามารถคำนวณค่าบริการรวมถึงออกใบแจ้งหนี้
- Building Management System (BMS)
ระบบตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์งานระบบของอาคาร เช่น ระบบปรับอากาศ Access Control ระบบลิฟต์ ระบบไฟส่องสว่าง ระบบ Fire Alarm ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบ Public Address
- Security Management System (SMS)
หน้าจอแสดงผลควบคุมและสั่งการ ระบบ CCTV ระบบ Fire Alarm ระบบ Smart Parking ระบบ Network Monitoring System ระบบ Bus Tracking ระบบ Environmental Monitoring System ระบบ Emergency Phone
- Substation Automation System (SA)
ระบบตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าภายใน Substation
- Smart Street Lighting System
ระบบตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของระบบไฟส่องสว่างตามแนวถนน ทางเดิน และทางจักรยาน
- Lighting Control System
ระบบตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของระบบไฟส่องสว่างของอาคารต่าง ๆ ภายใน Utility Center
2. ห้อง Smart Meeting Room เป็นห้องระดมสมอง ห้องประชุม 40 ที่นั่ง หรือใช้เป็นห้องประชุมทางไกลก็ได้ ภายในห้อง Smart Meeting Room ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีสุดไฮเทคเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับการทำงานคล่องตัว เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น
- ระบบประชุมทางไกลพร้อมกระจกไฟฟ้าเปลี่ยนสถานะเป็นใสหรือขุ่น เพื่อให้ผู้ประชุมสามารถมองลงมาที่ ห้องควบคุมปฏิบัติการ (Control Room) ได้
- จอ Video Wall แบบ 3x3 ขนาดจอ 55 นิ้ว และจอแสดงผลขนาด 75 นิ้ว 2 ชุด
- จอ Smart Touch-screen Interactive Display ขนาด 70 นิ้ว ที่สามารถเขียนหน้าจอและบันทึกลงคอมพิวเตอร์ หรือส่งทางอีเมลได้
- ระบบแสดงผลบนจอภาพโดยการเชื่อมต่อแบบไร้สายกับคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือได้
- ระบบสั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยเสียงหรือระบบไร้สายผ่านแท็บเล็ต เช่น ลำโพง สวิตช์ควบคุมไฟส่องสว่าง
ประโยชน์ของศูนย์ปฏิบัติการ IOC
จากระบบไฮเทคในศูนย์ปฏิบัติการ IOC ที่เล่ามา หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพว่าการมีศูนย์ปฏิบัติการ IOC มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการนำไปบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะอย่างไรบ้าง เรามาขยายความเพิ่มให้เข้าใจถึงประโยชน์ของศูนย์ปฏิบัติการ IOC ในการสร้างเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City กันครับ
1. บริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์อย่างแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการข้อมูล เนื่องจากเมืองอัจฉริยะมักมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ภายในเมือง ไม่เพียงสร้างความสะดวกสบายให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ แต่ยังได้ฐานข้อมูลจำนวนมากกลับมาด้วย โดยข้อมูลเหล่านี้คือหัวใจสำคัญในการนำมาปรับปรุงเมืองหรือพัฒนาเมืองในอนาคตได้ ดังนั้นศูนย์ปฏิบัติการ IOC จึงเป็นศูนย์บัญชาการด้านข้อมูลที่สำคัญให้กับเมืองได้ เนื่องจากสามารถแสดงผลฐานข้อมูลทุกอย่างที่จัดเก็บได้จากระบบต่าง ๆ ที่เมืองนำมาใช้ ทำให้เห็นภาพรวมข้อมูลเมืองที่ลึกและกว้างมากขึ้น บูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกันง่ายขึ้น นำไปสู่การวิเคราะห์ พัฒนาต่อยอดเมืองในมิติต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ใช้ทรัพยากรและงบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุดได้
2. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ศูนย์ปฏิบัติการ IOC เปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการด้านข้อมูล จึงทำให้ทราบพฤติกรรมของประชาชนได้อย่างถูกต้อง วิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดที่ตรงจุด และตอบสนองความต้องการให้กับประชาชนได้อย่างถูกทิศทางมากขึ้น อย่างเช่น เมืองอัจฉริยะมีการใช้ Smart Meter ข้อมูลการใช้น้ำและไฟก็จะถูกส่งมายังศูนย์ปฏิบัติการ IOC ทำให้เห็นข้อมูลการใช้พลังงานที่ละเอียดครบถ้วน หรืออย่างไฟส่องสว่างตามที่สาธารณะที่ติดตั้งระบบ IoT ข้อมูลของการใช้พลังงาน เวลาในการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ก็จะถูกส่งมาที่ศูนย์ปฏิบัติการ IOC ทำให้ผู้บริหารเมืองอัจฉริยะทราบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจง่าย และออกแบบนโยบายในการประหยัดพลังงานได้อย่างตรงจุด เช่น รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงานในช่วงเวลาหนึ่ง การตั้งเวลาเปิด-ปิดไฟสาธารณะตามความต้องการในการใช้งานของประชาชน เป็นต้น ขณะเดียวกันประชาชนก็จะทราบปริมาณการใช้ไฟฟ้าในที่พักของตนเองด้วยว่าใช้มากน้อยเท่าไร และจะประหยัดได้อย่างไร
3. แก้ปัญหาเมืองได้อย่างรวดเร็ว
ด้วยความที่ศูนย์ปฏิบัติการ IOC คือศูนย์ควบคุมและตรวจสอบระบบต่าง ๆ ภายในเมือง เช่น ระบบอุปโภค สาธารณูปโภค ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบพลังงาน ระบบความปลอดภัย ระบบแจ้งเตือน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะปรากฏขึ้นในศูนย์ปฏิบัติการ IOC แบบเรียลไทม์ จึงทำให้เห็นสถานการณ์ของเมืองตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อพบความเสี่ยงหรือความผิดปกติในจุดต่าง ๆ ก็มักจะมีระบบแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติ ทำให้เมืองอัจฉริยะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที รวมถึงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนในพื้นที่แจ้งเหตุเข้ามาเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ไฟส่องสว่างตามที่สาธารณะที่ติดตั้งระบบ IoT ดับหรือเสีย ระบบก็จะแจ้งเตือนที่ห้องควบคุมในศูนย์ปฏิบัติการ IOC เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าทำการซ่อมจุดที่ไฟเสียได้ทันที โดยไม่ต้องไล่สำรวจเองหรือรอคนแจ้ง เมื่อซ่อมไฟได้อย่างรวดเร็ว ก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรือการก่อเหตุอาชญากรรมในพื้นที่ได้
4. ใช้ทรัพยากรและงบประมาณอย่างคุ้มค่า
ศูนย์ปฏิบัติการ IOC เป็นศูนย์กลางของการรวบรวม จัดเก็บ และเชื่อมโยง Big Data ของเมืองอัจฉริยะ นำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาเมืองได้อย่างตอบโจทย์ประชาชน เสริมศักยภาพให้เมือง และสร้างความยั่งยืนให้กับเมือง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเมืองอัจฉริยะเห็นข้อมูลแบบภาพรวมแล้ว ก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการเมืองโดยใช้ทรัพยากรและงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดได้ อย่างเช่น การเห็นภาพรวมการใช้พลังงานภายในเมืองอัจฉริยะ ทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ก็จะทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้พลังงานของประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด การหาพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์มาใช้ในบางจุด การปลูกต้นไม้ที่ต้องการน้ำน้อยมาแทน หรือลดปริมาณในการใช้น้ำรดต้นไม้ในพันธุ์ไม้บางชนิด การออกมาตรการประหยัดพลังงานในพื้นที่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และประหยัดการใช้งบประมาณในเรื่องค่าพลังงานไฟฟ้าและค่าน้ำประปาได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองไปพร้อม ๆ กัน
หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดกำลังก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ การสร้างวอร์รูมหรือศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการด้านข้อมูลและบริหารจัดการ ควบคุม และตรวจสอบระบบต่าง ๆ ที่เมืองนำมาใช้เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการออกแบบเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการ IOC ที่วังจันทร์วัลเลย์ คืออีกหนึ่งตัวอย่างในการเป็นวอร์รูมที่มีประสิทธิภาพที่ท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเมืองได้นะครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ:
https://www.wangchanvalley.com/th/SiteVisit/SiteVisit/?keys=yTODUW2YXME=