การบูรณาการ GIS และ IoT ก้าวแรกของการปรับปรุงและติดตามคุณภาพอากาศระดับท้องถิ่นแบบเรียลไทม์

คุณภาพอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การสร้างอากาศสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน แต่ด้วยข้อจำกัดในการจัดเก็บและจัดหาข้อมูลทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้ดีเท่าที่ควร การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ GIS มาบูรณาการร่วมกับระบบอินเทอร์เน็ต หรือ IoT ใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดและติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่สำคัญ เช่น โรงเรียน โรงงาน สวนสาธารณะ หรือสถานที่ราชการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในระดับท้องถิ่น
IoT เซนเซอร์ช่วยเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ IoTเซนเซอร์กันเล็กน้อย IoT หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) เป็นชื่อเรียกของเครือข่ายอุปกรณ์หลากหลายชิ้นที่ทำงานเชื่อมโยงกันและควบคุมได้ผ่านอินเทอร์เน็ต IoT ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ฝุ่นละออง ระดับน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น โดยมักจะมีลักษณะเป็นอุปกรณ์เซนเซอร์ที่จะนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์เข้าสู่ระบบคลาวด์หรือศูนย์ข้อมูล
GIS ในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูล
นอกจากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับ IoT แล้ว มาทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ GIS สักเล็กน้อย โดย GIS หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) เป็นกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geospatial Data) ที่ทำงานโดยการป้อนข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เช่น ภาพแผนที่ ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ตัวเลข ตัวอักษร ระยะทาง เข้าไปวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง แม่นยำสูง และใช้งานง่าย
ทำไมถึงควรบูรณาการ IoT และ GIS ในการติดตามคุณภาพอากาศ
ตามที่บอกเล่าคุณสมบัติของ IoT และ GIS ไปข้างต้น คงจะพอมองภาพออกกันแล้วว่า หากเชื่อมโยงข้อมูลแบบเรียลไทม์จาก IoT เซนเซอร์ที่เก็บข้อมูลคุณภาพอากาศแล้วส่งต่อไประบบ GIS ก็จะทำให้ได้ข้อมูลอัปเดตแบบเรียลไทม์ มีความแม่นยำสูง สามารถวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ส่งผลให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานสามารถวางแผนการดำเนินงานและตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น
1. ติดตามคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์
การรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์จาก IoT เซนเซอร์ที่ติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน โรงงาน สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ หรือเสาอัจฉริยะในพื้นที่ แล้วส่งเข้าสู่ระบบ GIS เพื่อวิเคราะห์และแสดงผลในแดชบอร์ด (Dashboard) จะทำให้ได้ข้อมูลคุณภาพอากาศในแต่ละจุดแบบปัจจุบันที่มีความแม่นยำสูง ทำให้สามารถนำไปใช้บริหารจัดการ ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และวางแผนการดำเนินงานได้อย่างทันท่วงที
2. การแจ้งเตือนภัยเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย
IoT เซนเซอร์ที่เชื่อมกับแผนที่จากระบบ GIS สามารถแจ้งเตือนเมื่อถึงค่าที่กำหนดไว้ได้ ดังนั้นจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้แจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามสถานการณ์และการป้องกันสุขภาพตนเอง อีกทั้งยังช่วยแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้ตอบสนองต่อคุณภาพอากาศที่เสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลา
3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงรุก
เมื่อสามารถรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และอัปเดตก็ย่อมนำไปสู่การบริหารจัดการสถานการณ์แบบเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการออกมาตรการควบคุมมลพิษ การกำจัดฝุ่นแบบเร่งด่วน การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ การออกนโยบายส่งเสริมอากาศสะอาด รวมไปถึงการหาความร่วมมือในการพัฒนาและวิจัยเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เป็นต้น
คุณภาพอากาศที่ดี ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองในหลากหลายมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการดำรงชีวิต ด้านพลเมือง ด้านการบริหารภาครัฐ ด้านขนส่ง รวมถึงด้านเศรษฐกิจของท้องถิ่นด้วย ดังนั้น การบูรณาการเอาความสามารถของ IoT เซนเซอร์และระบบ GIS มาผสานกัน จึงช่วยยกระดับการติดตามคุณภาพอากาศและสนับสนุนการตัดสินใจด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่ในการพัฒนาเมืองได้ดีขึ้น
ขอบคุณภาพประกอบ