IoT เซนเซอร์สำคัญ ช่วยจัดเก็บ Data คุณภาพ สร้าง Location Intelligence
Location Intelligence หนึ่งในความสามารถของการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้กับข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่ช่วยให้ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจสามารถบริหารจัดการและตัดสินใจได้อย่างแม่นยำขึ้น นำไปสู่การปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม ซึ่งหนึ่งในกุญแจที่เป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการสร้าง Location Intelligence ก็คือ IoT เซนเซอร์
IoT คืออะไร IoT
หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) เป็นชื่อเรียกของเครือข่ายอุปกรณ์หลากหลายชิ้นที่ทำงานเชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเราสามารถควบคุมหรือสั่งการอุปกรณ์เหล่านี้ได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น เปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านทางสมาร์ตโฟน
IoT ทำงานอย่างไร
ในส่วนของการทำงานของ IoT จะต้องอาศัย 3 องค์ประกอบหลักในการทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือคลาวด์ (Cloud) ได้แก่
1. อุปกรณ์ IoT หรือ Smart Device ที่จะต้องติดตั้งไว้ที่วัตถุ คน สัตว์ หรือสิ่งของ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์หรืออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อื่นได้ โดยภายในอุปกรณ์ IoT จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ประเภท RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องระบุตัวตนของสิ่งนั้น และเซนเซอร์ (Sensors) ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์ วงจร หรือระบบที่จะสื่อสารและนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เข้าสู่กระบวนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตหรือคลาวด์ (Cloud) เป็นสื่อกลาง
2. อินเทอร์เน็ตหรือคลาวด์ (Cloud) ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อ รับ และส่งต่อข้อมูล เพื่อให้สามารถควบคุมและสั่งงานจากระยะทางไกลได้
3. แอปพลิเคชันหรือระบบสั่งงาน จะทำหน้าที่เสมือนรีโมตควบคุมและสั่งงานการทำงานของอุปกรณ์ IoT รวมถึงมอนิเตอร์หรือดูข้อมูลของอุปกรณ์นั้น ๆ
ตัวอย่างของ IoT ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ต้องบอกว่าที่จริงแล้ว ในชีวิตประจำวันหลายคนคงใช้ IoT กันอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เรียกว่า IoT ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นมาลองดูตัวอย่างของ IoT กันครับ
1. ระบบไฟอัจฉริยะ
ระบบไฟอัจฉริยะ เป็นระบบ IoT ที่ทำให้เราสามารถควบคุมและสั่งการทำงานของไฟส่องสว่างได้ผ่านสมาร์ตโฟน เช่น ปิด-เปิดไฟ ปรับความสว่าง ปรับโทนสี เป็นต้น
2. ระบบควบคุมเครื่องปรับอุณหภูมิ
ระบบควบคุมเครื่องปรับอุณหภูมิ เป็นระบบ IoT ที่เราสามารถควบคุมหรือสั่งการทำงานเครื่องปรับอุณหภูมิ เช่น ตั้งเวลาเปิด-ปิดแอร์ เปิดแอร์ก่อนถึงบ้าน เป็นต้น
3. ระบบการเตือนภัยอัจฉริยะ
ระบบการเตือนภัยอัจฉริยะ เป็นระบบ IoT ที่ช่วยในการตรวจจับการทำงานของอุปกรณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสามารถพัฒนาให้แจ้งเตือนตามสถานการณ์ที่ต้องการได้ เช่น แจ้งเตือนการลืมปิดไฟ แจ้งเตือนเมื่อพบควัน เป็นต้น
4. ระบบภายในรถยนต์
ปัจจุบันรถยนต์มีการนำ IoT มาใช้เป็นระบบภายในรถยนต์ เช่น สั่งล็อก-เปิดรถยนต์ผ่านสมาร์ตโฟน เป็นต้น
5. ระบบรักษาความปลอดภัย
กล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่เป็น IoT ซึ่งทำให้เราสามารถดูภาพแบบเรียลไทม์หรือภาพย้อนหลัง รวมถึงการควบคุมการทำงานของกล้องวงจรปิดผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนได้
ประโยชน์ของ IoT ในการสนับสนุนการสร้าง Location Intelligence
เห็นตัวอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวันกันไปแล้ว มาดูกันดีกว่าว่า แล้ว IoT คือเซนเซอร์สำคัญกับการสร้าง Location Intelligence อย่างไรบ้าง
1. การสร้างแผนที่อัจฉริยะ เพื่อลดภาระการทำงาน
การติดตั้งเซนเซอร์ IoT ที่วัตถุหนึ่ง ณ พื้นที่หนึ่งที่ต้องการ จะสามารถดึงข้อมูลมาสร้างเป็นแผนที่อัจฉริยะ เพื่อดูภาพรวมหรือสถานะของวัตถุนั้นได้ เช่น การติดตั้ง IoT ไว้ที่เครื่องขุดเจาะน้ำมัน ถังเก็บน้ำมัน และเกจวัดความดัน แล้วดึงข้อมูลทั้งหมดมาสร้างเป็นแผนที่อัจฉริยะ ใช้ดูสถานะการทำงานของเครื่องขุดเจาะ ปริมาณของน้ำมัน รวมถึงข้อมูลของความดันในหน้าจอแสดงผลเดียว ทำให้เห็นภาพรวมโดยที่ไม่ต้องเดินไปสำรวจของจริงบ่อยครั้ง รวมถึงหากพบแจ้งเตือนสถานะที่ผิดปกติจะได้แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และวางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
2. เก็บข้อมูลแบบบูรณาการ วางแผนงานง่ายมากขึ้น
การติดตั้งเซนเซอร์ IoT ในหลากหลายวัตถุและพิกัดที่ทำงานเชื่อมโยงกัน จะทำให้สามารถดึงข้อมูลทั้งหมดมาสร้างเป็น Location Intelligence ให้อยู่ใน Dashboard เดียวกัน จะทำให้เห็นภาพรวมที่ทั้งลึกและกว้าง ซึ่งทำให้การวางแผนงานง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่างจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยตนเองที่ต้องใช้พลังงานคนและเวลา อีกทั้งยังเสี่ยงเก็บข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน จนส่งผลให้การวางแผนงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ IoT ไว้ที่สัตว์แต่ละตัวในฟาร์ม เมื่อมีการเคลื่อนไหวก็จะทำให้เห็นการกระจุกตัว ตำแหน่งที่พบเห็น สุขภาพ รวมทั้งพฤติกรรมของสัตว์ โดยจะมีข้อมูลเรียลไทม์ปรากฏขึ้นที่จอแสดงผล ซึ่งจะช่วยเจ้าของฟาร์มหรือผู้ดูแลมอนิเตอร์สัตว์ทุกตัวได้ง่ายขึ้น หากพบความผิดปกติ เสี่ยงโรคระบาดก็จะสามารถวางแผนป้องกัน แผนรักษา และแผนควบคุมพื้นที่ระบาดได้อย่างทันท่วงที
3. ได้ข้อมูลคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วน ช่วยตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยข้อมูลคุณภาพที่มีความถูกต้องครบถ้วน การนำ IoT มาช่วยสนับสนุนการสร้าง Location Intelligence จะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน พร้อมแนวทางในการวิเคราะห์ที่แม่นยำได้ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลจากเซนเซอร์ IoT ที่กล้องวงจรปิด เซนเซอร์ IoT วัดอุณหภูมิ เซนเซอร์ IoT ตรวจจับระดับน้ำและปริมาณน้ำฝน มาผสานกับฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ได้ Location Intelligence แผนภาพจำลองอัจฉริยะด้านภัยพิบัติ เพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์น้ำ วิเคราะห์แนวโน้ม รวมถึงวางแผนรับมือและจุดอพยพล่วงหน้า โดยผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่วางแผนไม่ต้องใช้เพียงประสบการณ์หรือข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในการตัดสินใจเรื่องภัยพิบัติอีกต่อไป
4. เช็กข้อมูลเรียลไทม์ ช่วยให้บริหารจัดการได้สอดคล้องกับสถานการณ์
การติดตั้งเซนเซอร์ IoT จะทำให้ได้ข้อมูลเรียลไทม์ อีกทั้งในหลายอุปกรณ์ IoT มักมีการสร้างระบบแจ้งเตือนเพื่อแจ้งข้อมูลแบบอัตโนมัติไว้ด้วย นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้รับผิดชอบในส่วนงานนั้นแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบ และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ง่ายด้วย เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ IoT ตรวจจับการเคลื่อนไหวบนท้องถนนและกล้องวงจรปิด เมื่อพบการจราจรที่ติดขัดปรากฏในแผนที่แบบ Smart Map ก็จะสามารถบริหารจัดการจราจรบนท้องถนนให้ตรงตามสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ได้อย่างเหมาะสม หรืออย่างการติดตั้งเซนเซอร์ IoT ไว้ที่ถังขยะ ก็จะสามารถติดตามปริมาณขยะได้ เมื่อพบการแจ้งเตือนพิกัดถังขยะเต็มปรากฏในแผนที่อัจฉริยะ เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปจัดการเก็บขยะได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดโดยไม่ต้องขับสำรวจทุกพื้นที่ อีกทั้งยังนำข้อมูลไปต่อยอดในการจัดการตารางการจัดเก็บและเส้นทางในการจัดเก็บได้อย่างเหมาะสมด้วย
5. ตรวจจับความผิดปกติ ยกระดับความปลอดภัยและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที
การติดตั้งเซนเซอร์ IoT จะสามารถตรวจจับและระบุตำแหน่งความผิดปกติของสิ่งต่าง ๆ ยิ่งมีระบบการแจ้งเตือนจะยิ่งช่วยสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ IoT ตรวจจับความร้อนและการติดตั้งเซนเซอร์ IoT ตรวจจับควันที่อาคารหรือพื้นที่ป่า เมื่อมีการส่งสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติบนแผนที่อัจฉริยะก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทราบพิกัด ประเมินความเสี่ยง และเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันที หรืออย่างการติดตั้งเซนเซอร์ IoT ที่โครงสร้างสะพาน เพื่อรายงานสถานะการใช้งาน หากพบความเสี่ยงที่สะพานจะชำรุดปรากฏในแผนที่อัจฉริยะหรือ Smart Map จะทำให้วิศวกรหรือผู้รับผิดชอบทราบตำแหน่งที่มีปัญหาอย่างรวดเร็ว แล้วเข้าซ่อมแซมได้อย่างทันท่วงที โดยไม่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งาน
คงจะเห็นภาพกันแล้วว่า เซนเซอร์ IoT คือส่วนสำคัญที่ในการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อสร้าง Location Intelligence ที่สมบูรณ์แบบ ให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลเชิงลึกไปวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ไขในเรื่องต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และการคาดเดาอีกต่อไป