CROWDSOURCING แนวคิดชวนประชาชนระดมแนวทางแก้ปัญหาและสร้างเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
การสร้างเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน องค์ประกอบสำคัญหนึ่งก็คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่การสร้างการมีส่วนร่วมใช่เพียงแค่ให้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของท้องถิ่น แจ้งเหตุร้องเรียน หรือร่วมกิจกรรมที่ท้องถิ่นจัดขึ้นเท่านั้น แต่จะต้องสามารถร่วมออกแบบ แก้ปัญหา และพัฒนาเมืองที่อยู่ได้ แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำอย่างไรที่เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติเหล่านี้ได้ มาลองใช้แนวคิดที่ชื่อว่า Crowdsourcing กันครับ
Crowdsourcing คืออะไร
Crowdsourcing มาจากการผสมของคำว่า Crowd ที่แปลว่ากลุ่มชนหรือมวลชนจำนวนมาก และ Sourcing ที่แปลว่าแหล่งที่มา เป็นแนวคิดในการทำงานที่อาศัยกลุ่มคนจำนวนมาก โดยอิงจากหลักการความคิดว่าคนกลุ่มใหญ่ย่อมมีความรู้มากกว่าคนเพียงคนเดียว มีจุดมุ่งหมายในการขอแนวคิดแนวทาง ความคิดเห็น ข้อมูล หรือความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้คนจำนวนมาก รวมถึงผู้สนใจในเรื่องนั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง การผลิต การพัฒนา การกำหนดกลยุทธ์ รวมถึงการบริหารจัดการ
สำหรับจุดเริ่มต้นของการนำแนวคิด Crowdsourcing มาใช้ประโยชน์จริงนั้นเริ่มขึ้นในวงการการออกแบบจากเว็บไซต์ Threadless.com ที่มีการเชิญนักออกแบบทั่วโลกมาออกแบบเสื้อยืด หากผลงานการออกแบบใดได้คะแนนจากผู้คนมากที่สุด นักออกแบบก็จะได้รับรางวัล ส่วนบริษัทก็จะผลิตเสื้อนั้นออกมาจำหน่ายจริง ซึ่งทำให้ผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า
ไม่เพียงเท่านั้นแนวคิด Crowdsourcing ยังนำมาใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐหรือการบริการจัดการท้องถิ่นด้วย อย่าง www.challenge.gov ของ U.S.General Services Administrations (GSA) สหรัฐอเมริกา ที่เปิดแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าร่วมการแก้ปัญหาผ่านประเด็นสาธารณะท้าทายต่าง ๆ
ประเภทของ Crowdsourcing
เจฟฟ์ ฮาวี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง Crowdsourcing ได้จัดหมวดหมู่ของการระดมมวลชนออกเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้
1. ปัญญารวมหมู่หรือปัญญาของมวลชน (Collective intelligence or crowd wisdom)
Crowdsourcing ประเภทนี้อิงกับหลักการที่ว่า คนกลุ่มใหญ่ย่อมมีความรู้มากกว่าคนเพียงคนเดียว โดยเป็นการรวบรวมความรู้จากหลายคนมาแก้ปัญหา ทำนายผลลัพธ์ หรือกำหนดกลยุทธ์ เช่น บริษัทด้านนวัตกรรม InnoCentive ที่เป็นตัวกลางในการรวมมวลชนในการช่วยแก้ปัญหาทางวิศวกรรม หลายครั้งพบว่าปัญหาด้านวิศวกรรมระดับยากแก้โดยครูสอนวิชาฟิสิกส์ หรืออย่างแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Safetipin เป็นแอปฯ แผนที่แจ้งพิกัดพื้นที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์ข่มขืนและสังหาร Jyoti Singh ในนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2555 จนนำไปสู่การประท้วงทั่วประเทศ เรียกร้องให้หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่อันตรายในเขตเมือง ซึ่งนอกจากแอปฯ นี้จะแจ้งพิกัดพื้นที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยแล้ว ยังมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานสามารถระบุข้อมูลเกี่ยวกับไฟถนน กล้องวงจรปิด คุณภาพของพื้นผิวถนน รวมถึงให้ความคะแนนความปลอดภัยของพื้นที่ด้วย
2. การให้คะแนนนิยมของมวลชน (Crowd voting)
Crowdsourcing ประเภทนี้มักใช้เพื่อช่วยตัดสินใจโดยอาศัยคะแนนนิยม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้มวลชนมีส่วนร่วมในการให้คะแนนหรือจัดอันดับในเรื่องต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ขายภาพออนไลน์ www.shutterstock.com ที่มีฟีเจอร์คะแนนนิยมและยอดดาวน์โหลด หากคะแนนสูง ภาพนั้นก็จะได้รับความน่าเชื่อถือ แล้วปรากฏภาพนั้นในลำดับต้น ๆ หรืออย่างเช่นการประกวด The Star และ The Voice ที่เปิดให้ประชาชนโหวตนักร้องที่ชื่อชอบ ซึ่งใครที่ได้รับเลือกมากที่สุดก็จะได้รับเงินรางวัลและโอกาสในวงการบันเทิง
3. การระดมทุนของมวลชน (Crowdfunding)
Crowdsourcing ประเภทนี้เป็นระดมทุนจากคนจำนวนมาก เพื่อจัดทำโครงการตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องอาศัยนักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันการเงิน เช่น เว็บไซต์ www.taejai.com แพลตฟอร์มระดมเงินทุนของคนไทย ที่เป็นตัวกลางในการเปิดโอกาสให้มวลชนขอระดมทุนในการจัดทำโครงการต่าง ๆ หากมวลชนพบโครงการที่สนใจ ก็สามารถสนับสนุนเงินเพื่อโครงการนั้นได้
4. การสร้างสรรค์ของมวลชน (Crowd creation)
Crowdsourcing ประเภทนี้เป็นการระดมสมองและความคิดสร้างสรรค์จากมวลชนเพื่อสร้างสิ่งใหม่ เช่น www.stage32.com ชุมชนสำหรับผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่สามารถเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงให้ความรู้เชิงปฏิบัติจนนำไปสู่การปฏิบัติจริงมาแล้วหลายครั้ง
4 ประเภทของ Crowdsourcing ที่นำเสนอไปนั้น เมื่อนำมาใช้งานจริง มักจะมีการใช้ในรูปแบบของการผสมผสานมากกว่าการเลือกประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น อาจมีการระดมความคิดสร้างสรรค์ก่อน แล้วตามมาด้วยการโหวตเลือกก็ได้ เป็นต้น
ประโยชน์ของ Crowdsourcing ในการบริหารจัดการท้องถิ่น
แนวคิด Crowdsourcing สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายไม่เพียงแต่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเท่านั้น ยังสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น
1. แก้ปัญหาให้ท้องถิ่น
ในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีปัญหาหรืออุปสรรคในการบริหารจัดการที่มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป ฉะนั้นการแก้ปัญหาของท้องถิ่นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากผู้นำท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอย่างเดียวเสมอไป แต่ควรมาจากประชาชนที่อยู่ภายในเมือง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงนักลงทุนในท้องถิ่นนั้นที่มาระดมความคิดเห็นและแนวทางในการแก้ปัญหาอันมีลักษณะเฉพาะของเมืองต่างกันไป เพื่อให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขอย่างตอบโจทย์และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่อยู่ในพื้นที่มากที่สุด หลายครั้งอาจได้วิธีแก้ปัญหาในแบบที่ง่ายหรือมีประสิทธิภาพแบบไม่คาดคิดก็เป็นได้ อย่างเช่น การที่ท้องถิ่นตั้งปัญหาขึ้นมาเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้ประชาชนเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาโดยไม่ระบุตัวตน เมื่อได้แนวทางแล้วอาจเปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันโหวตเลือกวิธีการที่ดีที่สุด โดยไม่ระบุตัวตนเช่นเดิม เมื่อได้ข้อสรุปแล้วท้องถิ่นก็จะดำเนินการจัดการระดมทุนจากเอกชน หรือการจัดทำโครงการเป็นลำดับถัดไป ซึ่งการให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนวทางแบบไม่ระบุตัวตนจะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกล้าที่จะเสนอและแสดงความสามารถออกมาได้อย่างอิสระ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาในแบบใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพได้
ตัวอย่างท้องถิ่นที่นำแนวทาง Crowdsourcing มาใช้ก็อย่างเช่น เทศบาลตำบลบ้านกลาง ที่มีอุปสรรคในการรับเรื่องร้องเรียนและความฉับไวในการแก้ปัญหาให้ประชาชน เมื่อได้มีการปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนในท้องที่แล้วจึงได้นำระบบ Bellme ซึ่งเป็นระบบรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ที่ให้พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งเหตุ ร้องเรียน และติดตามสถานะ ผ่านทาง LineOA และเว็บไซต์ของเทศบาลได้ โดยภายในระบบสามารถแจ้งเหตุได้ง่าย แชร์พิกัดได้แม่นยำ มีระบบส่งต่องานไปยังส่วนงานที่รับผิดชอบแบบอัตโนมัติทำให้แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้ดี จนได้รับคำชื่นชมจำนวนมาก ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ในแต่ละกองงานยังสามารถข้อมูลที่ระบบสรุปให้มาทำสรุปผลงานประจำเดือนได้ง่ายขึ้นด้วย
2. สร้างการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์อันดีในชุมชน
ภารกิจหนึ่งที่ผู้บริหารและพนักงานท้องถิ่นจะต้องทำก็คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การนำแนวคิด Crowdsourcing มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของท้องถิ่นจะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์อันดีในชุมชนได้ เนื่องจากหลักการของ Crowdsourcing คือหลายหัวดีกว่าหัวเดียว ไม่ว่าจะเป็นการระดมสมอง ระดมทุน ระดมความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาหรือสร้างสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในเมือง ดังนั้นก็ย่อมต้องอาศัยการพูดคุย การประชุม และการสื่อสารระหว่างกัน โดยท้องถิ่นจะต้องเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงคนภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการรับแนวทาง ความคิดเห็น และวิธีการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ตอบสนองทุกความต้องการ อีกทั้งหากวิธีการและแนวทางที่ผ่านการใช้แนวคิด Crowdsourcing ก็จะทำให้ได้รับความร่วมมือจากมวลชนส่วนใหญ่ในขั้นตอนการดำเนินการและการปฏิบัติงานในโครงการและนโยบายต่าง ๆ ของท้องถิ่นด้วย
3. รวบรวมคลังข้อมูลที่มีคุณภาพ
ข้อมูลคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิด Crowdsourcing จะทำให้ท้องถิ่นได้คลังข้อมูลจำนวนมากที่อัปเดตและมีคุณภาพสูง เนื่องจากขั้นตอนสำคัญของ Crowdsourcing คือการรวบรวมความคิด ไอเดีย และวิธีการ ดังนั้นหากท้องถิ่นมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่ดีก็จะทำให้ได้คลังข้อมูลและความรู้เข้าสู่ท้องถิ่นด้วย
คงจะเห็นแล้วว่า การนำแนวคิด Crowdsourcing มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดประเภทหนึ่งหรือมีการผสมผสานหลายประเภทเข้าด้วยกัน ก็ย่อมนำไปสู่การมีส่วนร่วมของมวลชนที่สามารถพัฒนาท้องถิ่นของคุณให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความทันสมัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขได้ หากเห็นว่าแนวคิดนี้เข้ากับท้องถิ่นของคุณ อย่าลืมลองนำไปประยุกต์ใช้กันนะครับ
ขอบคุณที่มา:
https://www.tomorrow.city/what-is-crowdsourcing-case-studies-public-participation-urban-management/
วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม ประจำปี 2563