การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล พลิกโฉมการดูแลสุขภาพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลด้านสุขภาพมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากทุกที และขาดการจัดระบบ จึงทำให้ข้อมูลด้านสุขภาพของหน่วยงานหรือองค์กรถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่คุ้มค่า แล้วจะมีวิธีใดที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดระบบให้นำไปใช้งานได้ง่าย ต่อยอดพัฒนางานด้านสุขภาพให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด สิ่งนั้นก็คือการใช้เทคโนโลยีมาจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล
ทำไมถึงควรจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลในงานด้านสาธารณสุข
การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลในงานด้านสาธารณสุขจะช่วยลดข้อจำกัดและอุปสรรคในหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่เพียงพอ
ด้วยอายุเฉลี่ยของประชาชนที่สูงมากขึ้น คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะมีโรคเรื้อรังหรือโรคภัยต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขไม่เพียงพอหรือกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ส่งผลให้เกิดการดูแลประชาชนได้ไม่ทั่วถึง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก็ต้องทำงานหนักมากจนเกินไป การนำจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ในเวลาอันรวดเร็วจะช่วยลดภาระงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา รวมถึงวางแผนในการดูแลสุขภาพประชาชนได้ตั้งแต่ขั้นปฐมภูมิดีมากขึ้น
2. ข้อมูลสุขภาพมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ข้อมูลสุขภาพที่เพิ่มพูนขึ้นในทุกวันตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การจัดการและการเรียกใช้ข้อมูลเป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลก็สูงขึ้นด้วย การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลด้านสุขภาพ ไม่เพียงช่วยรวบรวม จัดระบบ จัดการข้อมูลให้มาอยู่ในรูปแบบเดียวกันได้เท่านั้น ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ด้วย จึงทำให้ได้ข้อมูลดิจิทัลที่มีคุณภาพ เรียกใช้งานได้ง่าย ลดต้นทุนค่าจัดเก็บ และทำให้การวินิจฉัยโรค การรักษาโรค และการดูแลผู้ป่วยมีความแม่นยำมากขึ้น
3. ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา
ประชาชนไม่ได้จ่ายเพียงเงินในการรักษาเท่านั้น แต่ยังต้องเสียค่าเดินทางเพื่อมารับการรักษาและติดตามอาการที่สถานพยาบาลด้วย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา ประชาชนบางส่วนเลือกที่จะไม่รับการรักษา เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จนทำให้สุขภาพย่ำแย่กว่าเดิม ในขณะที่ภาครัฐก็มีต้นทุนในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น เช่น จากสวัสดิการรัฐ จากจำนวนบุคลากรที่อาจต้องลงพื้นที่เพิ่มขึ้น จากสถานที่ในการรองรับผู้ป่วย เป็นต้น การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลด้านสุขภาพจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการจัดทำระบบ Telemedicine หรือการรักษาระยะไกลหรือการแพทย์ทางไกลได้อย่างแม่นยำในการช่วยดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษา ปรึกษา และติดตามอาการได้ง่ายขึ้นผ่านออนไลน์
4. วิถีชีวิตของประชาชนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ในยุคที่ผู้คนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน การยกระดับงานสาธารณสุขด้วยการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องจากประชาชนสามารถเรียนรู้และเปิดรับใช้งานระบบต่าง ๆ ที่ออกมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมที่จะลองใช้งานหากสิ่งเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น
ตัวอย่างจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลในงานด้านสาธารณสุข
จากปัจจัยทั้ง 4 ที่ได้เล่ามา ไม่ว่าจะเป็น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่เพียงพอ ข้อมูลสุขภาพมีปริมาณเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา และวิถีชีวิตของประชาชนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลคงจะเห็นกันแล้วว่าการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้งานด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยข้อมูลที่จะนำมาจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อให้การดูแลรักษา การป้องกัน และการติดตามอาการ รวมถึงการวางแผนและปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องไปกับยุคสมัย ก็อย่างเช่น
-ข้อมูลการบันทึกผู้ป่วยและประวัติทางการแพทย์ทั้งหมดที่รวบรวมมาหลายปี
-ข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ที่สวมใส่ได้ หรือติดตามอาการได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับชุดข้อมูลจำนวนมหาศาล
-ข้อมูลด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและเอกชน
-ข้อมูลประชากรทั่วไปในชุมชน ทั้ง ชื่อ อายุ เพศ วัย น้ำหนัก ครอบครัว เพื่อได้ฐานข้อมูลความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ
-ข้อมูลผู้ได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง เพื่อได้ฐานข้อมูลในการกำหนดความเสี่ยง เรียงลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือเมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ
ข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมดนี้มีจำนวนมหาศาล แต่ยังไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นหากมีการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลด้านสุขภาพ ก็จะช่วยสนับสนุนการดูแลสุขภาพได้อย่างครอบคลุม อย่างเช่น
- ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานเทคโนโลยีด้านสุขภาพของสิงคโปร์ในชื่อ "Synapxe" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ข้อมูลทางการแพทย์จะไหลลื่นทั้งระบบการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่เวชระเบียนไปจนถึงความช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ เพื่อการดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
- เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่นำแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP) ด้านสุขภาพอัจฉริยะ มาใช้เป็นระบบกลางด้านข้อมูลสุขภาพของท้องถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะมาช่วยในการจัดเก็บ รวบรวม และเชื่อมโยงข้อมูลของท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลจากอุปกรณ์ Smart Health หรือ CARE KIT ที่ติดตั้งไว้ เพื่อติดตามอาการและเฝ้าระวังผู้ป่วย ลำดับความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคน บริหารจัดการอุปกรณ์ Smart Health ช่วยเหลือผู้ป่วยทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนการดูแลสุขภาพของคนในท้องถิ่นด้วย
การนำเทคโนโลยีมาจัดการปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ลดต้นทุนในการดูแลรักษา แก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษา และนำไปสู่การวินิจฉัย การรักษา การดูแล การป้องกันโรคและอาการเจ็บป่วยได้อย่างแม่นยำ องค์กรหรือหน่วยงานใดที่ต้องดูแลรักษาสุขภาพให้กับผู้คนแล้วประสบกับความท้าทายที่เล่าไป แนะนำว่าให้ลองเริ่มจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลดู รับรองว่าจะช่วยทลายอุปสรรคที่เจออยู่อย่างแน่นอน