Telemedicine คืออะไร ทำไมตอบโจทย์การบริการทางการแพทย์ยุคดิจิทัล
ความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงการรักษาของประชาชน คือกระจกสะท้อนปัญหาอย่างหนึ่งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย หนึ่งในการแก้ปัญหาที่ไทยเริ่มนำมาใช้กัน นั่นก็คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่าง Telemedicine และ Telehealth เทคโนโลยีนี้คืออะไร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือการบริการด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองท้องถิ่นของคุณได้นำมาใช้กันหรือไม่ มาทำความรู้จักกันครับ
1. Telemedicine คืออะไร
Telemedicine เป็นการรักษาระยะไกลหรือการแพทย์ทางไกล โดยบุคลากรทางการแพทย์จะให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชนผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference หรือโทรศัพท์พูดคุยแบบเรียลไทม์ เพื่อสอบถามอาการ ประเมินอาการ วินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค โดยไม่ต้องเดินทางหรือมาพบกัน ทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ แต่ใช่ว่าจะทดแทนการหาหมอได้ทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอาการของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ที่เห็นได้ชัดก็ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ที่ผ่านมานั่นเองครับ
ส่วนอีกคำหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อย ๆ และหลายคนสงสัยกันว่าความหมายเดียวกันหรือไม่ นั่นก็คือคำว่า Telehealth ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการรักษาระยะไกลหรือการแพทย์ทางไกลเช่นเดียวกับ Telemedicine นั่นเองครับ เพียงแต่คำว่า Telehealth มักใช้ในความหมายที่กว้างกว่าครอบคลุมการดูแลสุขภาพ บริการทางการแพทย์และการให้บริการทางสาธารณสุขทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การปรึกษา การวินิจฉัย การรักษา การเฝ้าระวัง การติดตาม การดูแลสุขภาพ การฟื้นฟูสุขภาพ การแจ้งเตือน การนัดหมาย รวมไปถึงการให้ความรู้ ซึ่งบุคลากรที่เกี่ยวข้องก็จะมีมากกว่า ไม่เพียงเฉพาะแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเภสัชกร นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย
2. ประโยชน์ของการรักษาแบบ Telemedicine
การรักษาแบบ Telemedicine ที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
-ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจรักษาและวินิจฉัยจากแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
-ผู้ป่วยที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องหรือมีโรคประจำตัวสามารถติดตามการรักษาได้ง่าย โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง
-ผู้ป่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
-ลดเวลาการรอคิวในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล
-ลดความแออัดและหนาแน่นในโรงพยาบาล
-ลดระยะเวลาในการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
-ข้อมูลที่ได้รับจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ
-เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางการแพทย์ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และให้คำปรึกษาในวงการแพทย์ด้วยกัน
3. Telemedicine นำมาใช้อย่างไรบ้าง
ปัจจุบันมีการนำรักษาระยะไกล หรือ Telemedicine มาใช้ในการปรึกษา ติดตาม และรักษาทางการแพทย์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น
1. ให้คำปรึกษาและวินิจฉัยสุขภาพโดยการพูดคุยหรือ Video Conference ซึ่งอาจให้ผู้ป่วยติดตั้งแอปพลิเคชันหรือเข้าเว็บไซต์ เพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ
2. เฝ้าระวังและติดตามอาการ โดยการนำอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ มาติดตั้งที่บ้าน เพื่อมอนิเตอร์และเก็บข้อมูล หากพบความผิดปกติจะมีการแจ้งเตือนหรือแสดงผลไปยังโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ให้ได้ทราบข้อมูลและทำการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
3. รักษาผ่านการพูดคุยหรือ Video Conference โดยอาจให้ผู้ป่วยติดตั้งแอปพลิเคชันหรือเข้าเว็บไซต์ เพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมักจะอยู่ในกลุ่มโรคที่ไม่ร้ายแรง อาการไม่รุนแรง ไม่ได้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงผู้ที่ต้องรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
4. เป็นฐานข้อมูลทางการแพทย์และด้านสาธารณสุข ด้วยข้อมูลที่เป็นการบริการด้านสาธารณสุขทางออนไลน์ จึงทำให้มีการจัดเก็บข้อมูลที่ครบถ้วน ทำให้กลายเป็นคลังความรู้ที่สำคัญ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถสืบค้นฐานข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย
ในอนาคตไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบและประชากรจะอายุยืนยาวขึ้น การเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่องค์กรปกครองท้องถิ่นหรือองค์กรบริหารส่วนจังหวัดต้องรับผิดชอบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง Telemedicine จะช่วยให้การบริหารจัดการด้านบุคลากร การเข้าถึงการรักษา และพื้นที่รองรับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือรับบริการด้านสาธารณสุขที่ท้องถิ่นดูแลได้ดีขึ้น