3 แนวทางในการปรับปรุงเมือง เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ
ภัยพิบัติทางธรรมชาติในไทย ไม่ว่าจะน้ำท่วม ไฟป่า พายุ ความแล้ง แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม สึนามิ เป็นต้น นำมาซึ่งความสูญเสียให้กับเมือง ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ แล้วจะมีแนวทางในการปรับปรุงเมือง เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างไรได้บ้าง ในเมื่อเราจำเป็นต้องอยู่กับภาวะโลกรวนแบบนี้
ข้อมูลจากงานเสวนา “Dialogue Forum 1 l Year 5: โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค” ระบุว่าในปี 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation, WMO) ได้ออกคำเตือนว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ (El Niño) ได้พัฒนาขึ้นในเขตร้อนแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี นำไปสู่แนวโน้มอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้น สภาพอากาศและภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ แต่เมื่อมาถึงกลางปีนี้ (2567) จะเห็นว่าแนวโน้มของสภาพอากาศสุดขั้วนี้เปลี่ยนเป็นตรงข้ามอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่า ลานีญา (La Niña) โดยมีฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรง
ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บอกเล่าเพิ่มเติมในงานเสวนาข้างต้นว่า จากสถิติพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมมากขึ้นและแล้งมากขึ้นทุกปี จะเห็นว่าน้ำท่วมภาคเหนือในครั้งนี้มีโคลนมากับน้ำจำนวนมาก จึงอาจทำให้ลักษณะภูมิประเทศของประเทศไทยเปลี่ยนไปจากโคลนที่กัดเซาะเอาหน้าดินมาด้วย ซึ่งอาจทำให้ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งสถานการณ์ป่าไม้ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 31.47% จากที่ตั้งเป้าไว้ 40% ของพื้นที่ทั้งประเทศ นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้สถานการณ์น้ำรุนแรงขึ้นมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการที่ใช้ประโยชน์ของพื้นที่เป็นที่ชุมชนและที่อยู่อาศัยจนกีดขวางทางน้ำ การปล่อยมลพิษ รวมถึงการรุกล้ำลำน้ำจนกีดขวางทางน้ำเดิมที่ควรจะเป็นด้วย
จากข้อมูลเบื้องต้นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารเมืองจะต้องเร่งถอดบทเรียนและปรับปรุงเมือง เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติก็คือการวางแผนปรับปรุงเมืองให้เตรียมพร้อมต่อการตอบสนองต่อภัยพิบัติได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังภัยพิบัติ วันนี้ Bedrock จึงมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ 3 แนวทางในการปรับปรุงเมือง เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติมาแนะนำ
1. สร้างเมืองที่ยืดหยุ่นได้ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤต
การคาดการณ์ภัยพิบัติที่แม่นยำ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากหลายภาคส่วนและหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ท้องถิ่นหรือผู้บริหารเมืองต้องประสานงาน รอข้อมูล และรับคำสั่งหลายลำดับขั้นตอนจนอาจนำไปสู่การรับมือหรือการแจ้งเตือนประชาชนที่ล่าช้าเกินไป การลดช่องว่างด้วยการปรับกรอบแนวคิดหรือปรับกฎเกณฑ์ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการเมืองที่ยืดหยุ่นได้ (Urban Resilience) เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติได้อย่างดี ทั้งในแง่การตัดสินใจ การประสานงาน และการบูรณาการ อีกทั้งการเปิดช่องให้ท้องถิ่นสามารถวางกลยุทธ์ จัดสรรเครื่องมือหรือเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การคาดการณ์ผลกระทบ และการวางแผนช่วยเหลือให้เป็นไปตามโจทย์เฉพาะของท้องถิ่นนั้น ๆ จะทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นเหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศและวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้นการสร้างเมืองที่ยืดหยุ่นยังอาจเป็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่ครบครันและชัดเจนในการบริหารจัดการภัยพิบัติขึ้นมา เพื่อให้ผู้บริหารเมืองหรือท้องถิ่นรับคำสั่งโดยตรงจากหน่วยงานเดียว ทำให้ลดการประสานงาน ลดความสับสน ลดการตัดสินใจ และแก้สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่น ที่บังกลาเทศมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Urban Resilience Unit (URU) เพื่อรับมือ เตรียมพร้อม เสริมสมรรถนะในตรวจจับ และตอบสนองต่อภัยพิบัติในเมืองธากา (Dhaka) และพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมามีการทดสอบแผ่นดินไหวมากกว่า 1,750 ครั้ง รวมทั้งหน่วยงานนี้ยังมีอำนาจในการจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในเขตอำนาจ เช่น การจัดตั้งและจัดการระบบอนุญาตก่อสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวอาคารใหม่กำลังจะสร้างสามารถรับมือภัยพิบัติและความเสี่ยงด้านสภาพอากาศได้
2. ปรับปรุงระบบเตือนภัย
จากสถานการณ์น้ำท่วมหรือไฟป่าในหลายครั้ง ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือช่องว่างด้านการสื่อสารไปสู่ประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนภัยที่ไม่ทั่วถึง ไม่เชื่อถือข้อมูลที่ได้รับมา เมื่อได้รับแจ้งเตือนแล้ว เกิดความสงสัยว่ามาถึงเมื่อไร ต้องประเมินอย่างไร จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รวมถึงข้อมูลการแจ้งเตือนในบางครั้งเข้าใจยากเกินไป จึงไม่นำไปสู่การอพยพหรือการปฏิบัติตัวตามที่ผู้แจ้งเตือนตั้งเป้าไว้ ดังนั้นการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ทั่วถึง น่าเชื่อถือ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญมากในการช่วยลดผลกระทบและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ตัวอย่างเช่น ระบบเตือนภัย J-Alert ของญี่ปุ่น ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จึงได้มีการออกแบบ J-Alert หรือ Japan's Emergency Warning System ระบบแจ้งเตือนประชาชนถึงเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติที่แม่นยำสูง ทั้ง แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด สภาพอากาศที่รุนแรง ประเทศถูกคุกคาม แจ้งข่าวฉุกเฉิน เป็นต้น โดยจะแจ้งเตือนในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์ วิทยุ ลำโพงกระจายเสียงตามท้องถิ่น เว็บไซต์ อีเมล รวมถึงโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Cell Broadcast
นอกจากนี้ที่ญี่ปุ่นยังมีระบบศูนย์กลางข้อมูลระดับท้องถิ่น L-Alert ที่จะให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับข้อมูลและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานทุกภาคส่วน แล้วแจ้งแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนผ่านช่องทางการกระจายเสียงของท้องถิ่น อินเทอร์เน็ต วิทยุท้องถิ่น เว็บไซต์ท้องถิ่น และส่งข้อความแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ ในเรื่องของแนวทางเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่นั้น ๆ เช่น ที่ตั้งศูนย์ช่วยเหลือในชุมชน จุดปลอดภัยของการอพยพในพื้นที่ เส้นทางที่ถูกตัดขาด ข้อมูลไฟฟ้าดับ ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ล่ม เป็นต้น
3. นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการภัยพิบัติ
ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงไม่เพียงแต่นำมาช่วยในการพยากรณ์และคาดการณ์ผลกระทบก่อนเกิดภัยพิบัติที่แม่นยำเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ในการมอนิเตอร์สถานการณ์เรียลไทม์ในระหว่างเกิด และเยียวยาในระยะสั้นและระยะยาวหลังเกิดภัยพิบัติได้ดีด้วย อีกทั้งปัจจุบันฐานข้อมูลมีการจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเมื่อนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ จึงทำให้ได้ Big Data ที่ครบถ้วนและถูกต้อง นำไปสู่การวางแผนปรับปรุงเมืองเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยอาศัยข้อมูลเมืองที่มีประสิทธิภาพ
อย่างเช่น “ระบบจัดการภัยพิบัติ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง” ที่นำเทคโนโลยีอัจฉริยะ AI และ Machine Learning มาจัดการและเชื่อมโยง Big Data หลายชั้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น แผนที่ภูมิประเทศ ประวัติการเกิดน้ำท่วม การพยากรณ์อากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม แล้วนำมาแสดงผลผ่านแผนที่สามมิติ หรือ Smart Map ให้ผู้ใช้งานเข้าใจได้ง่าย เห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถจัดการน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงทีและหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ สรุปสถานการณ์ ระบุความเสี่ยง คาดการณ์ทิศทางของน้ำ และคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาได้แม่นยำ พร้อมแสดงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่อพยพ พื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่เตือนภัย และพื้นที่ปลอดภัย เป็นต้น รวมทั้งยังมี AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่จากการสำรวจแบบเรียลไทม์ ทั้งภาพดาวเทียม ภาพจากโดรน ข้อมูลประชากร ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลผู้สูงอายุ รวมถึงพิกัดผู้อาศัย จึงช่วยตัดสินใจในการช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญได้ดีขึ้น ที่สำคัญข้อมูลที่ได้จากระบบจัดการภัยพิบัติสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวัดผลและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในแต่ละรอบได้ จึงทำให้ท้องถิ่นรู้ว่าต่อไปควรจะวางแผน ปรับปรุง หรือออกแบบแนวทางป้องกันและรับมือกับอุทกภัยอย่างไรให้สามารถลดการสูญเสียชีวิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติได้
เมื่อโลกรวน สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแต่เดิมจนเกิดเป็นภัยพิบัติที่คาดการณ์อย่างแม่นยำได้ยากและรุนแรงขึ้น ประกอบกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตจนเมืองไม่สามารถใช้แผนการรับมือภัยพิบัติแบบเดิมได้อีกต่อไป การวางแผนปรับปรุงเมืองที่สอดคล้องไปตามบริบทปัจจุบัน ทั้งการสร้างเมืองที่ยืดหยุ่น การปรับปรุงการแจ้งเตือน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.rti.org/insights/ways-to-improve-disaster-risk-reduction-in-cities
http://www.uru.gov.bd/en -https://thestandard.co/thai-flood-lessons-climate-crisis/