ท้องถิ่นต้องรู้! แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood Hazard Map) คืออะไร รู้ให้รอบ ใช้ให้เป็น รับมือน้ำท่วมได้อย่างมีแผน

อุทกภัยหรือน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งต่อชีวิต เศรษฐกิจ เกษตรกรรม คมนาคม ระบบสาธารณูปโภค และคุณภาพชีวิตของประชาชน การวางแผนรับมือที่ดีจึงต้องอาศัยข้อมูลเชิงพื้นที่ถูกต้องและชัดเจน “แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม” (Flood Hazard Map) คือหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ท้องถิ่นสามารถคาดการณ์ วางแผน และจัดการสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างเป็นระบบ
มาทำความเข้าใจกันว่า “แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม” คืออะไร มีประโยชน์ ข้อจำกัด และท้องถิ่นสามารถนำไปใช้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยได้อย่างไร จากงานวิจัยของ ผศ.ดร. ภวิสร ชื่นชุ่ม และ นายขวัญชัย แพโคกสูง ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาแบบจำลองคาดการณ์น้ำท่วม ร่วมกับ เบดร็อค อนาไลติกส์ และ เทศบาลนครยะลา
แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมคืออะไร
แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood Hazard Map) เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญใช้ในการวางแผนป้องกันและจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม โดยเป็นแผนที่ที่แสดงขอบเขตและระดับความเสี่ยงของพื้นที่ต่อการเกิดน้ำท่วม ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลหลากหลายด้าน ทั้งลักษณะภูมิประเทศ ระบบทางน้ำ สภาพดินฟ้าอากาศ สถิติการเกิดอุทกภัยในอดีต และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ สำหรับการสร้างแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมนั้นจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่ทันสมัยและหลากหลายแหล่งที่มา เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม แบบจำลองการไหลของน้ำ (Hydrological Modeling) และข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศ เพื่อให้สามารถประเมินทั้งความถี่และความรุนแรงของน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยให้ท้องถิ่นสามารถวางแผนป้องกันความเสียหายและบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงได้ดีขึ้น
แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมอ่านและใช้อย่างไร
ในการแสดงผลของแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมมักแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนตามระดับความเสี่ยง โดยปกติจะแบ่งเป็น
- พื้นที่เสี่ยงสูง (High Risk Zone): มักเป็นที่ลุ่มใกล้แม่น้ำหรือพื้นที่ที่มีประวัติน้ำท่วมซ้ำซาก
- พื้นที่เสี่ยงปานกลาง (Moderate Risk Zone): อาจเคยเกิดน้ำท่วมบ้าง แต่ไม่รุนแรงหรือไม่บ่อยครั้ง
- พื้นที่เสี่ยงต่ำ (Low Risk Zone): มีโอกาสน้ำท่วมน้อย แต่ยังต้องเฝ้าระวังในกรณีฝนตกหนักต่อเนื่อง
ประโยชน์ของแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood Hazard Map) สามารถนำไปใช้ในด้านการจัดการภัยพิบัติทั้ง 3 ระยะอย่างเป็นระบบ ทั้งก่อนเกิดน้ำท่วม ขณะเกิดน้ำท่วม และหลังน้ำท่วม โดยมีบทบาทดังนี้
1. การเตือนภัยน้ำท่วม (Early Warning)
แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมช่วยให้หน่วยงานสามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงได้ล่วงหน้า ด้วยข้อมูลจากปริมาณฝน ระดับน้ำ และลักษณะภูมิประเทศ จึงช่วยให้หน่วยงานออกประกาศเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมล่วงหน้าได้แม่นยำและทันเวลาว่าชุมชนใดควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมีเวลาเตรียมการรับมือ เช่น การเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง ยานพาหนะ หรือของมีค่าไปยังที่สูง
2. การเตรียมการรับมือก่อนน้ำท่วม (Pre-Flood Preparedness)
เมื่อรู้จากแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงสูง จึงช่วยให้ท้องถิ่นวางมาตรการป้องกันและลดความเสียหายได้ ทั้งการวางแผนอพยพ การเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูงหรือที่ปลอดภัย การกำหนดเส้นทางอพยพ รวมถึงการซักซ้อมแผนในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง และการจัดเตรียมอุปกรณ์กู้ภัยในจุดยุทธศาสตร์ล่วงหน้า เช่น เรือ ชูชีพ และถุงทราย
3. การช่วยเหลือหลังน้ำท่วม (Post-Flood Emergency Response)
เมื่อเกิดน้ำท่วม แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจะช่วยให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าพื้นที่ใดควรได้รับความช่วยเหลือก่อน เช่น ชุมชนที่ถูกตัดขาดหรือมีประชากรเปราะบางอาศัยอยู่เยอะ นอกจากนี้ยังช่วยจัดสรรทรัพยากร เช่น ส่งเรือหรือเสบียงไปยังพื้นที่ที่เดือดร้อนมากที่สุด รวมถึงใช้วางแผนฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างและระบบสาธารณูปโภคที่เสียหายด้วย
ข้อดีของแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood Hazard Map) ช่วยให้การบริหารจัดการอุทกภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการคาดการณ์ วางแผนรับมือ และการช่วยเหลือหลังเกิดภัย โดยมีข้อดีสำคัญ ดังนี้
1. คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงล่วงหน้าได้แม่นยำ
ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากภูมิประเทศ ระบบทางน้ำ สภาพอากาศ และสถิติอุทกภัยในอดีต ทำให้สามารถระบุพื้นที่เสี่ยงและแจ้งเตือนประชาชนได้แม่นยำและทันเวลา
2. ช่วยวางแผนป้องกันและรับมือน้ำท่วม
ช่วยในการวางแผนป้องกันและรับมือน้ำท่วมทั้งในระดับชุมชนและระดับนโยบาย เช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้าง การออกแบบระบบระบายน้ำ และการเตรียมเส้นทางอพยพ รวมถึงการฝึกซ้อมในพื้นที่เสี่ยง
3. สนับสนุนการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบเมื่อเกิดน้ำท่วม
ช่วยระบุพื้นที่วิกฤตที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนได้อย่างชัดเจน จึงช่วยให้จัดสรรทรัพยากรและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อจำกัดของแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
แม้จะมีข้อดีในด้านการจัดการและลดผลกระทบจากอุทกภัยมากมาย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ควรทราบก่อนใช้งาน เช่น
1. ความถูกต้องและความทันสมัยของข้อมูล
หากข้อมูลไม่ได้รับการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอหรือข้อมูลไม่สมบูรณ์ ก็อาจทำให้คาดการณ์ได้คลาดเคลื่อน
2. ความซับซ้อนในการตีความข้อมูล
แผนที่เสี่ยงภัยมักมีข้อมูลทางเทคนิคที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการวิเคราะห์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่ไม่มีความรู้เฉพาะทางเข้าใจได้ยาก และนำไปใช้ไม่ถูกต้อง
3. ใช้ต้นทุนและทรัพยากร
การสร้างและบำรุงรักษาระบบแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เทคโนโลยี งบประมาณ และบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะ
แนวทางการพัฒนาแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมของท้องถิ่น
เพื่อให้แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมตอบโจทย์การใช้งานจริงในระดับท้องถิ่น จึงควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านเทคนิคการจัดเก็บและจัดการข้อมูล เช่น ใช้ IoT และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์และวิเคราะห์แนวโน้ม รวมไปถึงการพัฒนาระบบแสดงผลให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม นอกจากนี้ต้องบริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมเพื่อให้ระบบมีความต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยพิบัติด้วย
แพลตฟอร์มจัดการภัยพิบัติ ทางเลือกสำเร็จรูปสำหรับท้องถิ่น
ท้องถิ่นหลายพื้นที่อาจมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและทรัพยากร การพัฒนาแผนที่เองอาจเป็นภาระที่หนักเกินไป การเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดการภัยพิบัติ จากเบดร็อค อนาไลติกส์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเป็นระบบจัดการภัยพิบัติสำหรับท้องถิ่น ที่นำเทคโนโลยีมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ตั้งแต่การจัดเก็บ รวบรวม และเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดมาไว้ที่แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง เพื่อวิเคราะห์ ประมวลผล พร้อมคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง คาดการณ์ผลกระทบจากน้ำท่วม และคำนวณเส้นทางในการเข้าช่วยเหลือ โดยแสดงผลผ่าน Dashboard แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมที่เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังมีระบบแจ้งเตือนเมื่อถึงค่าที่กำหนด ช่วยให้ท้องถิ่นวางแผน ป้องกัน และตอบสนองต่อน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากท้องถิ่นใดสนใจพัฒนาแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood Hazard Map) หรือใช้บริการแพลตฟอร์มจัดการภัยพิบัติสามารถปรึกษาได้ที่ [email protected] หรือ LINE หรือ Facebook