ทำไม AI ถึงเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อน New S-Curve ในเมืองอัจฉริยะ
New S-curve กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม ช่วยสร้างตัวชี้วัดสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ให้เติบโต มาหาคำตอบกันว่า New S-curve คืออะไร ทำไมต้องพัฒนาในพื้นที่เมืองอัจฉริยะ แล้ว AI มีบทบาทอย่างไรบ้าง
New S-Curve คืออะไร
ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมไทยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามมูลค่าทางเศรษฐกิจและแนวโน้มในการเติบโตในอนาคต ได้แก่ First S-Curve ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมของประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูง และ New S-curve ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Growth Engines) ให้เติบโตในอนาคต
อุตสาหกรรม New S-curve เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่นับเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ และในปัจจุบัน ไทยยังมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม New S-curve ไม่เพียงพอ เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ ประเทศไทยจึงได้สร้างพื้นที่เมืองอัจฉริยะต้นแบบที่ภายในเมืองมีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลไว้รองรับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ อย่างเช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นต้น
อุตสาหกรรม New S-Curve มีอะไรบ้าง
สำหรับอุตสาหกรรม New S-curve ที่ไทยมุ่งพัฒนา และเตรียมพื้นที่รองรับผู้ประกอบการไว้ในเมืองอัจฉริยะต้นแบบ จะประกอบไปด้วย 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่
1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
4. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
AI นำมาพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve อย่างไรบ้าง
อย่างที่เล่าไปว่าอุตสาหกรรม New S-Curve ในเมืองอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ฉะนั้น AI หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นโปรแกรมหรือเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของเทคโนโลยีอัจฉริยะจึงจัดเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve ในเมืองอัจฉริยะให้เติบโตในอนาคต โดยสามารถนำ AI มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
อุตสาหกรรมเครื่องจักรระบบอัตโนมัติที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ย่อมมี AI ที่เป็นเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรให้มีสติปัญญาและความฉลาดเหมือนมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์หรือบริการตั้งแต่การคิด วิเคราะห์ข้อมูล ตัดสินใจ การทำงาน แก้ปัญหา และปรับปรุงด้วยตัวเอง เช่น หุ่นยนต์และจักรกลอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, การพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่ออุตสาหกรรม, เทคโนโลยี AR VR และ AI
2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบินและการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ทั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนและเป็นจุดเชื่อมต่อกับอินเดียและจีน ซึ่ง AI มีสามารถในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ ติดตาม คำนวณ และคาดการณ์ที่แม่นยำ จึงนำมาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านการบินและโลจิสติกส์อัจฉริยะได้ เช่น ยานพาหนะไร้คนขับ, แบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบ GPS ติดตามรถขนส่ง, ระบบ logistic cloud, รถขนส่งอัตโนมัติแบบไร้คนขับ, อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน
3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ซึ่ง AI ที่มีศักยภาพในการตรวจจับ ควบคุม วิเคราะห์ คาดการณ์ รวมถึงสร้างแบบจำลองเสมือนจริง จึงสามารถนำมาแปรรูปวัสดุหรือสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวได้หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์ทางเลือกด้านพลังงาน, วัสดุชีวภาพ, เทคโนโลยีแปรรูปคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพลังงาน, เทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่
4. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
อุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครือข่ายการสื่อสาร และการบริการอิเล็กทรอนิกส์ในด้านการพาณิชย์และการดําเนินธุรกิจ โดย AI ที่สามารถรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ทำงาน และโต้ตอบได้แบบชาญฉลาด รวมถึงการสร้างภาพจำลองเสมือนจริง จึงถูกนำมาเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์และการบริการในอุตสาหกรรมประเภทนี้ได้ เช่น ชิปที่อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing), เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of things: IoT)
5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
อุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพ ซึ่ง AI ที่มีจุดเด่นในเรื่องทำงานที่ซับซ้อน ป้องกันข้อผิดพลาดของมนุษย์ รวมถึงเลียนแบบมนุษย์ได้เสมือนจริง จึงสามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลดและป้องกันความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้กับผู้ป่วยได้ เช่น เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable Tech), หุ่นยนต์ทางการแพทย์, หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ
คงจะเห็นแล้วว่า AI มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อชิงเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจในอนาคตบนพื้นที่เมืองอัจฉริยะที่ไทยเตรียมความพร้อมรองรับไว้ให้