เมื่อระบบและโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นถูกซ่อนอยู่ใต้ดิน จึงต้องฝากให้เทคโนโลยีช่วยดูแลและตรวจสอบ
ปกติโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการจะต้องมีการบำรุงรักษาเมื่อเกิดการชำรุดหรือถึงวงรอบการบำรุงรักษา ซึ่งหากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่เหนือพื้นดินหรือเข้าถึงได้ง่ายก็คงจะสำรวจและบำรุงรักษาได้ง่าย แต่ส่วนที่อยู่ในพื้นดินหรือเข้าถึงได้ยากจะตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงได้อย่างไร
มาดูแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่อยู่ใต้พื้นดินหรือพื้นที่ที่เข้าถึงยาก จาก รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาวางแผนภาคผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ที่สำคัญเป็น Center of Focus หรือที่ปรึกษาให้กับบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) ที่ได้บอกเล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจผ่าน Podcast ช่องเมือง-หมา-นุด กันครับ
แนวทางในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจสอบและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน
การดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่อยู่ใต้พื้นดินหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยาก เช่น สายไฟ ท่อประปา เป็นต้น มักเป็นเรื่องที่ยากต่อการตรวจสอบ ดูแล และซ่อมบำรุง ทำให้ไม่ได้รับความสนใจที่จะดูแลเท่าที่ควร เมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว น้ำท่วม จึงมักเกิดความเสียหายมหาศาล อย่างเช่น ความเสียหายหลังจากแผ่นดินไหวที่ซีเรียและตุรกีพบว่าอาคารพังถล่มเกือบทั้งเมือง ถนนพังเสียหายจำนวนมาก น้ำประปาและไฟฟ้าไม่สามารถใช้งาน ซึ่งสาเหตุนอกจากเป็นอาคารเก่า การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานแล้ว ยังมาจากการละเลยที่จะดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นทีที่เข้าถึงยาก มองไม่เห็น หรืออยู่ใต้ดินด้วย
ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจสอบจึงช่วยให้เมืองสามารถดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นการนำโดรนมาถ่ายวิดีโอในพื้นที่ที่คนไม่สามารถข้าถึงหรือถ่ายภาพได้ด้วยตนเอง แล้วใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ช่วยวิเคราะห์ ตรวจสอบภาพหาจุดร้าวหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น และคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหลักการของ AI ที่สามารถคาดการณ์ได้ก็คือการทำซ้ำจนระบบจดจดจำและเรียนรู้ได้เอง เช่น การถ่ายภาพมุมเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกัน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงจนระบบรู้ว่ารอยแตกแบบนี้จะเฉียงไปไหนทิศทางใด ขยายไปมากเพียงใด เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้นการนำเทคโนโลยีใช้ในการตรวจสอบและดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ยังช่วยป้องกันและรักษาชีวิตของคนไว้ได้ด้วย เพราะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเสี่ยงชีวิตเข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย หรือสามารถนำมาวางแผนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยก่อนเข้าดำเนินการด้วย อย่างเทคโนโลยี Building Information Modeling หรือ BIM ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่สามารถนำมาช่วยในการตรวจสอบและดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังช่วยป้องกันและรักษาชีวิตของคนได้เช่นกัน โดยจะเป็นการนำเอาแบบแปลนและโครงสร้างของอาคารมาอยู่ในคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น เช่น เมืองบัลติมอร์ที่สหรัฐอเมริกา มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างอาคารและพื้นที่เสี่ยงก่อนเข้าปฏิบัติงาน อันเนื่องมาจากก่อนหน้ามีนักดับเพลิงเสียชีวิตจากการพลัดตกอาคารที่ทรุดโทรม
เกณฑ์การตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน
จากที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยในงานส่วนระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อุปสรรคที่หลายเมืองไม่สามารถทำได้ก็มาจากต้นทุนของเทคโนโลยีที่มีราคาสูง อีกทั้งยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้หลายเมืองต้องตระหนักถึงงบประมาณและความคุ้มค่าให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ แล้วจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดว่าควรจะนำเทคโนโลยีมาช่วยในส่วนงานนี้
1. ความจำเป็น
อย่างแรกก็คงต้องมองว่า หากเมืองของคุณมีการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน มีความแข็งแรง และออกแบบมาให้ง่ายแก่การดูแลรักษาอยู่แล้ว อย่างเช่น กรุงปารีสของฝรั่งเศสที่มีการออกแบบและวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่มากแบบที่คนเดินได้ไว้ใต้ถนน (Paris Sewer System) ซึ่งจะมีชื่อถนนกำกับอยู่ จึงทำให้ง่ายต่อการระบายน้ำ การป้องกันน้ำท่วม การบำบัดน้ำเสีย สะดวกต่อการบำรุงรักษาไฟฟ้าและประปาที่อยู่ใต้ดิน อีกทั้งในอดีตท่อใต้ดินนี้ยังใช้เป็นเส้นทางส่งไปรษณีย์ไปตามเมืองต่าง ๆ ด้วย
ตัวอย่างจากกรุงปารีสที่เล่ามาจะเห็นว่าการนำเทคโนโลยีที่ต้องใช้ต้นสูงมากมาใช้ในการช่วยดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานอาจจะมีความจำเป็นน้อยกว่าเมืองที่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน มีความแข็งแรงไม่มากพอ และไม่ได้ออกแบบมาให้ง่ายแก่การดูแลรักษาในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ซึ่งเมืองในแบบนี้มีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย เนื่องจากภัยพิบัติที่ดูจะรุนแรงมากขึ้นและถี่ขึ้น เมืองจึงยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบหลังเกิดภัยพิบัติ ทั้งสิ่งปลูกสร้างพังถล่ม ถนนทรุด ระบบไฟและประปาตัดขาดนั่นเอง
2. ความคุ้มค่า
อีกเกณฑ์เลือกเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานก็คือความคุ้มค่า โดยต้องดูถึงเป้าหมายที่ต้องการ ประสิทธิภาพที่จะได้รับ และงบประมาณที่มีว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เพื่อให้ต้นทุนในการใช้บริการเทคโนโลยีไม่สูงจนเกินไป
3. มาตรฐานในการพิจารณาใบอนุญาตก่อสร้าง
มาตรฐานในการอนุญาตก่อสร้างอาคารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ หากเมืองมีการอนุญาตก่อสร้างแบบไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงมีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามที่ขออนุญาตไว้ซึ่งอาจจะนำไปสู่อันตราย ไม่ปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยและผู้ที่อยู่ข้างเคียงอาคารได้ในอนาคต การนำเทคโนโลยีมาในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของอาคารที่ก่อสร้างไปอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อเพิ่มความโปร่งใส สร้างมาตรฐาน และสร้างความปลอดภัยให้แก่เมืองและประชาชนในเมือง แนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่อยู่ใต้พื้นดินหรือยากต่อการเข้าถึง จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองดีขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต หากท้องถิ่นใดที่สนใจเทคโนโลยีอัจฉริยะมาช่วยในการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินของเมือง บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) พร้อมให้คำปรึกษาและให้บริการระบบบริหารจัดการทรัพย์สินอัจฉริยะ (Smart Asset Management) โดยสามารถติดต่อได้ที่อีเมล: [email protected] หรือ Line หรือ Facebook
ขอบคุณข้อมูล:
Podcast ช่องเมือง-หมา-นุด EP165: เทคโนโลยีการบำรุงรักษาเมือง โดย รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
https://www.bloomberg.com/features/2023-ways-to-make-cities-better/