AI-as-a-Service คืออะไร ทำไมถึงช่วยเสริมศักยภาพให้ธุรกิจยั่งยืนได้
ยุคนี้ใคร ๆ ก็นำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาธุรกิจในองค์กร แต่สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นนำ AI มาใช้อย่างไร เลือกใช้บริการแบบไหน วันนี้ Bedrock มีรูปแบบการให้บริการ AI อย่าง AI-as-a-service มาเป็นอีกตัวเลือกสำหรับองค์กรที่กำลังมองหาบริการ AI ประสิทธิภาพสูง ในราคาประหยัดมาแนะนำ
AI-as-a-service คืออะไร
AI-as-a-service (AIaaS) เป็นการให้บริการ AI มาใช้ในการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งตัว AI จะอยู่ที่ส่วนกลางหรือ Server ของผู้ให้บริการ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องติดตั้งหรือพัฒนา AI ขึ้นมาเฉพาะองค์กรของตน ซึ่งในปัจจุบันบริการ AI-as-a-service มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับการพัฒนา AI ขึ้นมาเอง ช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาระบบขึ้นโดยเฉพาะ ยกเลิกการใช้บริการง่าย ผู้ให้บริการมักดูแล AI และอัปเดต AI ให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่ต้องดูแลเองให้ยุ่งยาก
ตัวอย่างของ AI-as-a-service
รู้จักความหมายของบริการ AI-as-a-service กันไปแล้ว แต่อาจยังมองภาพไม่ออกว่าบริการเหล่านี้คืออะไรบ้าง เรามาดูตัวอย่างบริการ AI-as-a-service ที่หลายองค์กรนิยมใช้บริการกัน
1. ระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition)
ระบบจดจำใบหน้า หรือ Face Recognition คือตัวอย่างของบริการ AI-as-a-service ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ มักใช้ในงานด้านการรักษาความปลอดภัย อย่างเมื่อเวลาต้องเข้า-ออกสำนักงาน ที่จะต้องสแกนใบหน้าเพื่อบันทึกการเข้า-ออก และตรวจสอบว่าคือใคร หรือใช้งานร่วมกับกล้องวงจรปิด เพื่อสแกนใบหน้าผู้คนในงาน เพื่อจดจำหรือตรวจสอบผู้ต้องสงสัย เป็นต้น โดยระบบจดจำใบหน้าจะเป็นลักษณะของการนำรูปมาเปรียบเทียบกันว่ารูปที่บันทึกไปเป็นใคร ใช่คนคนเดียวกันหรือไม่ เมื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ด้วย AI แล้ว จะส่งผลการวิเคราะห์มาที่ระบบ API (Application Programming Interface)
2. ระบบใช้งานบอต (Bot)
ระบบใช้งานบอตหรือแชตบอต คืออีกหนึ่งบริการ AI-as-a-service ยอดฮิตที่หลายธุรกิจนำมาใช้กัน เพื่อใช้ในงานด้านการตลาดและการบริการลูกค้า อย่างเช่น ระบบตอบคำถามอัตโนมัติ เมื่อพิมพ์คำถาม เลือกใช้บริการ หรือกดปุ่มต่าง ๆ เป็นต้น โดยจะเป็นลักษณะของการป้อนข้อมูลชุดข้อมูลคำถามและคำตอบไว้ในฐานข้อมูล เมื่อมีผู้สอบถามเข้ามา AI จะทำหน้าที่ในการทำความเข้าใจคำถาม สืบค้นฐานข้อมูล และประมวลผลเป็นคำตอบแก่ผู้สอบถามแบบอัตโนมัติในเวลาอันรวดเร็ว
3. ระบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine Learning)
ระบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือ Machine Learning ถือเป็นส่วนหนึ่งของ AI ที่หลายองค์กรนำมาใช้สนับสนุนงานเชิงเทคนิคเฉพาะทางในการช่วยวิเคราะห์และหาความสัมพันธ์ในข้อมูล เพื่อแก้ไขและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งระบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยชุดข้อมูลพื้นฐาน ชุดคำสั่ง และสภาพแวดล้อมที่ได้รับจากการเรียนรู้ของระบบ ทำให้สามารถตีความ วิเคราะห์ข้อมูล และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์
4. ระบบแยกแยะข้อมูล (Data Labeling)
ระบบแยกแยะข้อมูล หรือ Data Labeling เป็นอีกหนึ่งบริการ AI-as-a-service ที่นำมาใช้เพื่อจัดเก็บ จัดระเบียบ และจัดระบบข้อมูลปริมาณมหาศาลให้กับองค์กร เพื่อให้สามารถสืบค้น ตรวจสอบ และวิเคราะห์ ข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยจะเป็นการนำ AI มาช่วยจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติ ทั้งการแบ่งประเภท การจัดเรียงข้อมูล การคัดแยก รวมถึงการทำความสะอาดข้อมูล เป็นต้น
5. ระบบวิเคราะห์ความรู้สึก (Sentiment Analysis)
ระบบวิเคราะห์ความรู้สึก หรือ Sentiment Analysis เป็นบริการ AI-as-a-service ที่หลายองค์กรนำมาใช้สนับสนุนงานด้านการตลาดและการใช้บริการลูกค้า อย่างเช่น บริการระบบวิเคราะห์รีวิว คอมเมนต์ หรือการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ขององค์กรว่ามีความรู้สึกเชิงลบหรือเชิงบวก เป็นต้น โดยระบบวิเคราะห์ความรู้สึกจะรับข้อมูลมา และใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติว่ามีความรู้สึกอย่างไร
6. Optical Character Recognition (OCR)
Optical Character Recognition หรือ OCR คืออีกบริการ AI-as-a-service ที่หลายองค์กรเริ่มใช้บริการกัน เป็นลักษณะของการที่สแกนภาพเอกสาร ถ่ายรูปเอกสาร หรือถ่ายรูปโน้ตที่จดไว้ แล้วใช้โปรแกรมแปลงออกมาเป็นตัวอักษรและข้อความให้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพิมพ์ใหม่เองทั้งหมดนั่นเอง โดย OCR เป็นกระบวนการในการรับข้อความที่อยู่ในรูปแบบของภาพถ่าย แล้วทำการจำแนก และดึงข้อมูลตัวอักษรออกมาให้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ต่อ
ข้อดีของ AI-as-a-service ในธุรกิจ
ทราบความหมายและตัวอย่างของบริการ AI-as-a-service กันไปแล้ว เรามาดูข้อดีกันว่าทำไมจึงควรเลือกใช้บริการ AI ในรูปแบบ AI-as-a-service
1. ช่วยลดค่าใช้จ่าย
การพัฒนา AI เพื่อใช้เฉพาะองค์กรแบบถาวร จะต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาและการดูแลที่สูงมาก การเลือกใช้บริการแบบ AI-as-a-service ซึ่งเป็นลักษณะในการเช่าใช้บริการตามระยะเวลาหรือตามส่วนฟังก์ชันที่ต้องการจึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาได้มากกว่า อีกทั้งยังลดต้นทุนในการจ้างผู้ดูแลระบบเฉพาะทาง เนื่องจากผู้ให้บริการมักจะดูแลและอัปเดตให้ตลอดระยะเวลาใช้บริการด้วย
2. ช่วยสนับสนุนการทำงาน AI-as-a-service
เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยทุ่นแรงและสนับสนุนการทำงานให้กับมนุษย์ในหลายด้านให้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะงานที่ต้องการความแม่นยำ ความถูกต้อง ความรอบคอบ งานที่เป็นระบบแบบแผน รวมถึงงานที่ต้องวิเคราะห์พฤติกรรม และงานบริการลูกค้า
3. เรียกใช้งานง่าย ไม่ต้องติดตั้ง
AI-as-a-service เป็นรูปแบบการให้บริการคล้ายกับการเช่าใช้บริการของผู้ให้บริการ AI จึงไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมหรืออุปกรณ์มากมาย สามารถเรียกใช้งานได้ง่าย ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต แบบไม่จำกัดเครื่อง แต่จำกัดตามสิทธิ์การใช้มากกว่า
4. มีความปลอดภัย
AI-as-a-service เป็นอีกหนึ่งบริการเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง โดยมักมีการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง มีระบบตรวจสอบและติดตามการใช้งาน เพื่อป้องกันการทุจริต และเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน อีกทั้งหลายผู้ให้บริการมักมีการออกระบบให้คุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ไว้เรียบร้อย
5. อัปเดต AI อย่างสม่ำเสมอ
ผู้ให้บริการ AI-as-a-service ส่วนใหญ่มักจะมีการอัปเดตและพัฒนา AI ให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการ AI มาสนับสนุนการทำงานในเวอร์ชันใหม่ล่าสุดอยู่ตลอดระยะเวลาการใช้บริการ ต่างจากการจ้างพัฒนา AI สำหรับองค์กร ที่หากไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการพัฒนาก็จะทำให้ต้องใช้ AI ในเวอร์ชันที่จ้างพัฒนาตลอดไป โดยไม่มีการอัปเดต เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มความปลอดภัยให้สอดคล้องไปกับยุคสมัย
แนวทางในการเลือกใช้บริการ AI-as-a-service
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ AI-as-a-service จำนวนมาก แต่จะเลือกผู้ให้บริการอย่างไรให้ตอบโจทย์หรือเป้าหมายที่องค์กรต้องการมากที่สุด
1. เลือกบริการ AI-as-a-service ให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ
อย่างแรกที่ควรดูก็คือการดูว่ามีบริการอะไรบ้างที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ โดยควรเน้นดูจากเป้าหมายที่ต้องการมากที่สุด เนื่องจากในหลายผู้ให้บริการอาจมีหลายฟังก์ชัน แต่อาจไม่ตอบโจทย์ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการก็เป็นได้ ดังนั้นต้องดูที่เป้าหมายเป็นหลัก
2. เลือกผู้ให้บริการที่มีระบบความปลอดภัยสูง
ความปลอดภัยของข้อมูลคือเรื่องสำคัญที่องค์กรจะต้องใส่ใจเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากข้อมูลจากเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกจัดเก็บบน Cloud หรือ Server ระบบ ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องมีการออกแบบระบบเพื่อป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลที่ครบทุกมิติ ทั้งการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง การเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว การป้องกันการขโมยข้อมูลที่มีมาตรฐาน ซึ่งอาจดูจาก ISO 27001 หรือ CSA Star Certification เป็นต้น
3. ทดลองการใช้งานฟรี
การทดลองใช้งานฟรี คืออีกแนวทางในการเลือกใช้บริการ AI-as-a-service เพื่อจะได้ทดลองใช้งานจริงว่าถ้านำมาใช้ในองค์กรจะเป็นอย่างไร ตอบโจทย์หรือไม่ ใช้งานง่ายหรือยาก ระบบช้าหรือเร็ว มีความผิดพลาดมากน้อยเพียงใด ช่วยสนับสนุนงานได้ดีหรือไม่
4. มี Dashboard
การเลือกบริการ AI-as-a-service ที่มี Dashboard ให้ผู้ใช้งานได้ดูภาพรวมของการทำงาน คืออีกสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะทำให้ผู้ใช้บริการเห็นภาพรวมการทำงานของระบบแบบเรียลไทม์ ช่วยในการตรวจสอบ และนำข้อมูลไปพัฒนากระบวนการทำงานขององค์กร หรือพัฒนาธุรกิจในด้านอื่นต่อไป
5. เลือกใช้บริการ AI-as-a-service ที่มีความแม่นยำสูง
ควรเลือกใช้บริการ AI-as-a-service ที่มีความแม่นยำสูงเพียงพอที่จะเสริมประสิทธิภาพการทำงานตามเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยผู้ใช้งานสามารถขอดูค่า Confidence Score ของ AI นั้น ๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกโอกาสในความผิดพลาดมาประกอบการตัดสินใจได้
6. เลือกใช้บริการ AI-as-a-service ที่มีความน่าเชื่อถือ
ควรเลือกบริการ AI-as-a-service กับผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพ ความเสถียร ความปลอดภัย และป้องกันผลกระทบทางธุรกิจอื่น ๆ ที่จะตามมา ดังนั้นจึงควรตรวจสอบชื่อผู้ให้บริการให้แน่ใจก่อนว่าไว้ใจได้หรือไม่ โดยควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ทั้งทางกฎหมาย ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์การให้บริการ รวมถึงกระแสทางโซเชียล
7. เลือกราคาที่คุ้มค่า
บริการ AI-as-a-service มีแพ็กเกจราคาหลายแบบให้เลือก ดังนั้นจึงต้องเลือกแพ็กเกจราคาที่ตอบโจทย์และคุ้มค่ากับธุรกิจมากที่สุด โดยปกติจะมี 3 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้
- Pay-as-you-go: เป็นแบบ Pre-paid เป็นแบบการซื้อเครดิตการใช้งาน หากหมดก็ต้องซื้อเครดิตเพิ่ม เหมาะสำหรับองค์กรที่มีการใช้งานมากน้อยในแต่ละช่วงไม่เท่ากัน
- Monthly plan หรือ Subscription: เป็นแบบ Post-paid เป็นการจ่ายรายเดือน โดยมีกำหนดว่าแต่ละเดือนจะใช้ได้เท่าไร หากใช้เกินก็ต้องจ่ายเพิ่มตามราคาที่กำหนด เหมาะสำหรับองค์กรที่มีการใช้งานปริมาณคงที่ในแต่ละเดือน
- Pay-per-use: เป็นแบบจ่ายตามปริมาณการใช้ โดยอาจมีการกำหนดราคาขั้นต่ำที่ต้องจ่ายไว้ด้วย เหมาะสำหรับองค์กรที่ไม่ได้ใช้บ่อย ๆ หรือใช้ไม่สม่ำเสมอ ยากที่จะวางแผนการใช้งาน
บริการ AI-as-a-service คืออีกทางเลือกขององค์กรที่ต้องการ AI Transformation ให้สอดรับไปกับยุคสมัยปัจจุบัน พร้อมรองรับอนาคต เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน หากองค์กรของคุณกำลังหาข้อมูลบริการเหล่านี้อยู่ อย่าลืมนำสาระความรู้ และแนวทางในการเลือกผู้ให้บริการที่ Bedrock รวบรวมมาไปประกอบการตัดสินใจนะครับ หรือปรึกษาเรื่องการเริ่มต้นใช้บริการ AI-as-a-service ในองค์กรได้ที่อีเมล: [email protected] หรือ Line หรือ Facebook