จุดความร้อน (Hotspot) คืออะไร ทำไมถึงบอกได้ว่ามีไฟไหม้หรือร้อนมาก
ช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา หรือช่วงไฟป่าแรง ๆ คำว่า “จุดความร้อน (Hotspot)” ได้มีการหยิกยกมารายงานกันในทุกวัน จุดความร้อนนี้คืออะไร ทำไมถึงบ่งบอกได้ว่าพิกัดใดร้อนมาก พื้นที่ไหนมีไฟไหม้ ตรงไหนอันตรายต่อสุขภาพ มาไขความกระจ่างกัน
1. จุดความร้อน (Hotspot) คืออะไร ?
จุดความร้อน หรือ Hotspot คือ จุดที่ตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งได้มาจากดาวเทียมที่ถูกพัฒนาระบบเซนเซอร์ให้มองเห็นค่าความร้อนบนผิวโลก เช่น ดาวเทียม Terra ดาวเทียม Aqua ดาวเทียม Suomi-NPP ดาวเทียม NOAA-20 เป็นต้น ลักษณะการทำงานในการตรวจวัดรังสีความร้อนก็คือ ดาวเทียมจะตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟาเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส บนพื้นผิวโลก จากนั้นก็จะประมวลผลและแสดงผลเป็นจุดที่มีค่าความร้อนสูงในพื้นที่ต่าง ๆ บนแผนที่ ซึ่งส่วนมากค่าความร้อนที่ตรวจพบจะมาจากไฟ
2. จุดความร้อน (Hotspot) ที่ตรวจพบบอกอะไรได้บ้าง
สาเหตุของการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) มักจะเกิดจากสาเหตุหลักเหล่านี้
- ไฟป่า: จุดความร้อนที่เกิดจากไฟป่าธรรมชาติ อย่างอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความชื้นต่ำ ทำให้อากาศร้อนจัดจนเกิดเชื้อเพลิงสะสม รวมถึงไฟป่าจากการกระทำของมนุษย์ เช่น เผาหาของป่า เผาล่าสัตว์ ลักลอบเผาป่าทำเกษตรกรรม ลักลอบค้ายาง ความขัดแย้งในพื้นที่ เป็นต้น
- เกษตรกรรม: จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก เผาเตรียมดินเพาะปลูก เผากำจัดวัชพืช การเผาตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงขยะอินทรีย์ที่ทับถมกันจนเกิดไฟไหม้ได้ในพื้นที่เกษตรกรรม
- ชุมชน: จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาขยะมูลฝอย เผาเพื่อกำจัดสิ่งปฏิกูล เช่น เผาใบไม้ เศษวัสดุเหลือใช้ รวมถึงการทิ้งบุหรี่หรือวัสดุไวไฟด้วย
3. ผลกระทบจากพื้นที่ที่มีจุดความร้อน (Hotspot) สูง
เมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดค่าจุดความร้อน (Hotspot) สูงกันแล้ว มาดูผลกระทบจากพื้นที่ที่มีจุดความร้อน (Hotspot) สูงกันว่ามีอะไรบ้าง
- ฝุ่น PM 2.5: เมื่อตรวจพบจุดความร้อน (Hotspot) ซึ่งมาจากการเผาไหม้ ก็จะนำไปสู่ฝุ่นมลพิษอย่าง PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของมนุษย์ได้
- สิ่งแวดล้อม: แน่นอนว่าเมื่อเกิดการเผาไหม้ โดยเฉพาะไฟป่า ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่าง ๆ ได้
- การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ: ผลที่ตามมาจากการเผาไหม้ คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่เราเรียกกันบ่อย ๆ ว่า โลกร้อน หรือโลกเดือด นั่นเอง
- ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน: เมื่อเกิดไฟป่า ไม่เพียงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ทั้งทัศนวิสัยไม่ดีในการขับขี่ เขม่าควัน และฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลถึงระบบหายใจของประชาชนในพื้นที่ได้ อีกทั้งยังเสี่ยงไฟลามไหม้บ้านเรือนและพื้นที่ประกอบเกษตรกรรมของประชาชนด้วย
- ภัยพิบัติทางธรรมชาติ: การเกิดไฟป่าย่อมทำลายระบบนิเวศตามที่บอกไป ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลาย สัตว์ป่าไร้ที่อยู่ ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมา เช่น อุทกภัย ดินถล่ม น้ำป่า เป็นต้น
4. ประโยชน์ของการทำแบบจำลองจากจุดความร้อน (Hotspot)
ประโยชน์ของจุดความร้อน (Hotspot) ที่ไทยนำมาใช้กันบ่อย ๆ ก็คือการสร้าง Location Intelligence ด้วยการสร้างแบบจำลองคาดการณ์ความเสี่ยงของพื้นที่ที่จะเกิดไฟป่าและทิศทางที่จะเกิดไฟป่า การประเมินสถานการณ์ไฟ การวางแผนดับไฟและป้องกันไฟป่า เป็นต้น
- การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่าที่แม่นยำล่วงหน้า 7 วัน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำ Big Data ในหลากหลายชั้นและที่เกี่ยวข้องกัน มาคาดการณ์ความเสี่ยงของพื้นที่ที่จะเกิดไฟป่าได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น
1. จุดความร้อน (Hotspot สะสมย้อนหลัง 10 ปี)
2. จุดความร้อนสะสมปัจจุบันและย้อนหลัง 7 วัน
3. ดัชนีความแตกต่างของความชื้น (NDWI) ย้อนหลัง 7 วัน
4. ความถี่พื้นที่เผาไหม้ ปี พ.ศ. 2553- 2558 (LANDSAT-5, LANDSAT-8)
5. ประเภทการใช้ที่ดิน เช่น ป่าผลัดใบ ป่าไม่ผลัดใบ พื้นที่เกษตรกรรม แหล่งน้ำ ฯลฯ
6. ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์
โดยจะนำข้อมูลเชิงพื้นที่เหล่านี้มาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยการประเมินตามแบบจำลองคณิตศาสตร์ จากโปรแกรมระบบภูมิสารสนเทศสร้างแบบจำลองด้วย Model-Builder เพื่อนำไปสู่การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่าที่แม่นยำล่วงหน้า 7 วัน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าน้อย
- พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าปานกลาง
- พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาก
สำหรับผลที่ได้จากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงด้วยวิธีข้างต้น ทำให้ทราบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดไฟป่าในช่วงเวลานั้น และยังใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนเจ้าหน้าที่ระดับบริหารและเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้วางแผนการตัดสินใจและบริหารจัดการในพื้นที่ เพื่อช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
-ประเมินสถานการณ์และควบคุมไฟป่า
นอกจาก GISTDA จะนำมาใช้ในการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วันแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้นำข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) มาใช้ในงานประเมินสถานการณ์และควบคุมไฟป่าด้วย โดยรับข้อมูล Hotspot รายวันล่าสุดที่ผ่านประเทศไทย จากการตรวจวัดด้วย MODIS บนดาวเทียม Terra และ Aqua มาประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ว่าจุดความร้อน (Hotspot) ที่พบค่าสูงอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวนกี่จุด อยู่พิกัดใด และอยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวนกี่จุด หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังสำนักบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนงานประเมินสถานการณ์และข้อมูลการตรวจหาไฟภาคพื้นดิน รวมถึงใช้ตรวจสอบการดับไฟในพื้นที่จริงด้วย
สำหรับใครที่อยากเช็กว่าวันนี้พื้นที่ใดในประเทศไทยมีจุดความร้อน (Hotspot) สูงผิดปกติก็สามารถเข้าไปสำรวจได้หลากหลายช่องทาง เช่น ภาพแสดงจุดความร้อนรายวันของ GISTDA แผนที่จำลองแสดงสถานการณ์จุดความร้อนหรือ PM 2.5 ของกรมป่าไม้ รวมถึงแผนที่แสดงจุดความร้อนซึ่งมีโอกาสเกิดไฟไหม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ:
- https://www.gistda.or.th/more_news.php?c_id=579&page=4