ใช้ Big Data สร้าง Smart City ไปกับนครบาร์เซโลนาโมเดล

“นครบาร์เซโลนา” แห่งสเปน เมืองที่ไม่ได้โดดเด่นแค่สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม และบาร์ซ่า สโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเท่านั้น แต่ทราบหรือไม่ว่าเมืองนี้ยังเป็น Smart City ต้นแบบของโลกในการใช้ Big Data ขั้นเทพด้วย มาดูกันว่านครบาร์เซโลนาใช้กลยุทธ์ใดในการบริหารจัดการท้องถิ่น และมีการยกระดับท้องถิ่นดิจิทัลอย่างไรบ้าง
นครบาร์เซโลนา (Barcelona) เป็นเมืองขนาดใหญ่และประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสองของสเปน จึงกลายอุปสรรคสำคัญในการยกระดับท้องถิ่นดิจิทัลสู่ Smart City ที่ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของทุกคน แต่ข้อดีของบาร์เซโลนาก็คือมีผังเมืองที่เป็นระเบียบ มีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูง ประกอบกับเทศบาลนครบาร์เซโลนาเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเมืองให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดในการนำสิ่งที่เรียกว่า Big Data และ Internet of Things มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐและคุณภาพชีวิตของประชาชน จนในปี ค.ศ. 2013 นครบาร์เซโลนาก็ประกาศตัวเป็น Smart City ผ่านการวางแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี (ค.ศ. 2010 - 2020) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง เป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรและนวัตกรรมของทวีปยุโรป
4 กลยุทธ์ในการพัฒนาเทศบาลนครบาร์เซโลน่าสู่ Smart City
สำหรับเคล็ดลับการผลักดันนครบาร์เซโลนาให้กลายเป็น Smart City ต้นแบบนั้น เทศบาลนครบาร์เซโลนาได้ใช้เทคโนโลยีและ Big data ในการขับเคลื่อนผ่าน 4 กลยุทธ์ ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 Barcelona Growth: ใช้ Big Data ปรับโฉมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กลยุทธ์แรกในการพัฒนานครบาร์เซโลนาเป็น Smart City ก็คือการนำ Big Data จำนวนมากทั้งภายในและภายนอกองค์กรมาวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ชื่อว่า “Barcelona Growth” ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทให้กับองค์กรปกครองเทศบาลนครบาร์เซโลนาในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองจาก “Mobile World Capacity” สู่การเป็น “Smart City” อย่างเต็มรูปแบบ โดยนำ Big Data มาผลิตนวัตกรรม ดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน และเพิ่มอัตราการจ้างงาน
กลยุทธ์ที่ 2 Barcelona Global: ใช้เทคโนโลยีดึงดูดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
กลยุทธ์ต่อมาก็คือ “Barcelona Global” เป็นการดึงดูดให้เกิดความร่วมมือและรวมกลุ่มของภาคเอกชน องค์กรอิสระ และองค์กรไม่แสวงหากำไรในการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ความสามารถ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเทศบาลนครบาร์เซโลนาได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนา Smart City ไว้อย่างชัดเจน พร้อมจัดลำดับความสำคัญในพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการภาครัฐ ที่สำคัญมีการบูรณาการระบบเข้ากับเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
กลยุทธ์ที่ 3 A New Brand Barcelona: ใช้การวิเคราะห์เชิงลึก ปรับกลยุทธ์การพัฒนาเมือง
กลยุทธ์ที่ 3 ในการสร้าง Smart City ของบาร์เซโลนาก็คือ “A New Brand Barcelona” เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อปรับกลยุทธ์การพัฒนาเมือง โดยเริ่มจากการศึกษา สำรวจ เข้าสู่กระบวนการนำ Big Data ที่ได้มาวิเคราะห์เชิงลึก ซึ่งเทศบาลนครบาร์เซโลนามองว่าเป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในการตัดสินใจว่าจะเก็บข้อมูลใด เก็บอย่างไร เก็บนานเท่าไร แล้วจะนำไปใช้ในปรับกลยุทธ์การพัฒนาเมืองอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เมืองมีอัตลักษณ์และคุณค่าอย่างยั่งยืน
กลยุทธ์ที่ 4 A New City Brand Communication: ใช้การสื่อสาร เพิ่มคุณค่าและความเชื่อมั่น
กลยุทธ์สุดท้ายในการสร้าง Smart City ของบาร์เซโลนาก็คือเรื่องของการสื่อสาร “A New City Brand Communication” เป็นการประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้เกิดความเชื่อมั่น เพิ่มคุณค่า และสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นเมืองแห่งธุรกิจ ผู้ประกอบการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ตัวอย่างโครงการอัจฉริยะในเทศบาลนครบาร์เซโลนา
ปัจจุบันการขับเคลื่อนนครบาร์เซโลนาสู่ Smart City ด้วย 4 กลยุทธ์ที่เล่ามา ทำให้มีโครงการอัจฉริยะต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น
1. ระบบการจัดการขยะอัจฉริยะ มีทั้งการติดตั้งเซนเซอร์ในถังขยะ เมื่อขยะเต็มก็จะมีรถมารับไปทิ้งแบบอัตโนมัติ และระบบจัดเก็บขยะด้วยท่อดูดในเขตใจกลางเมืองที่มีถนนคับแคบ โดยเมื่อทิ้งขยะในถังที่มีเครือข่ายท่อใต้ดินเครื่องดูดอากาศแรงดันสูง ขยะก็จะถูกดูดมารวมกันที่สถานีพักขยะ ซึ่งเป็นกระบะปิดทึบป้องกันกลิ่นและการรั่วซึม จากนั้นจะมีรถมาบรรทุกขยะไปยังโรงงานคัดแยกและทำลายขยะ
2. ระบบเฝ้าติดตามการจราจร เพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของการจราจร รวมถึงอุบัติเหตุแบบเรียลไทม์
3. แอปพลิเคชันค้นหาตำแหน่งสถานีเช่าหรือคืนจักรยาน ซึ่งมีกว่า 400 แห่งทั่วเมือง เพื่อรณรงค์ให้ขับขี่จักรยานสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. แอปพลิเคชันค้นหาที่จอดรถอัจฉริยะที่ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์
5. ป้ายบริเวณจุดจอดรถประจำทางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา โดยป้ายจะแสดงผลข้อมูลแบบอัจฉริยะ ทั้งสายรถประจำทาง ระยะเวลาที่รถจะมาถึง อุณหภูมิ เป็นต้น
6. ระบบควบคุมไฟบนถนน ที่สามารถเพิ่มและลดความสว่างได้อัตโนมัติตามช่วงเวลาและความหนาแน่นของยานพาหนะบนท้องถนน
7. สนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยมีการวางเครือข่ายสถานีเติมไฟฟ้าทั่วเมือง
8. ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งบาร์เซโลนาเป็นเมืองแรกของโลกที่ออกกฎหมายสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Thermal Ordinance) เพื่อกระตุ้นให้อาคารและที่อยู่อาศัยในเมือง หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อผลักดันให้เป็นเมืองคาร์บอนศูนย์ในปี ค.ศ. 2050
9. ระบบควบคุมคุณภาพน้ำในสวนสาธารณะอัจฉริยะ สามารถควบคุมการเปิดปิดน้ำในวงเวียนน้ำพุ ตลอดจนควบคุมระบบส่งน้ำใต้ดินมายังโรงบำบัด โดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับและสั่งการกลไกการจ่ายน้ำผ่านคอมพิวเตอร์
10. แอปพลิเคชันส่งเสริมปฏิสัมพันธ์สำหรับผู้สูงอายุ ในโครงการที่ชื่อว่า Vincles ที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย ช่วยทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลานมากยิ่งขึ้น ลดปัญหาโรคซึมเศร้าและการเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ เพื่อให้เป็น Smart City ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นครบาร์เซโลนากำลังพัฒนา แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เรียกว่า City OS ใช้ในการเก็บและวิเคราะห์ Big Data แล้วนำไปบริหารจัดการเมืองและการคาดการณ์สถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการก็คือการรวมศูนย์และเชื่อมโยงข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของเมืองแบบบูรณาการผ่านการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถเรียกดูข้อมูลแบบเรียลไทม์หรือข้อมูลที่เคยรวบรวมได้ ทั้งข้อมูลการจราจรขนส่ง การใช้พลังงาน การควบคุมสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ และข้อมูลสาธารณะ หลังจากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ แล้วนำไปใช้ในการบริหารจัดการเมือง การคาดการณ์สถานการณ์ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ไม่เพียงเท่านั้น City OS ยังเชื่อมต่อกับระบบอื่นในสเปนได้ง่ายอีกด้วย
ในการพัฒนา City OS ยังให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยการใช้ระบบ Competitive dialogue การปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้รับทราบข้อมูลความต้องการของเทศบาลในการดำเนินการโครงการนั้น ๆ ด้วย
คงจะเห็นกันแล้วว่าเทศบาลนครบาร์เซโลนาใช้ Big Data เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการบริหารจัดการเมืองเพื่อก้าวไปสู่ Smart City อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับในประเทศไทย แพลตฟอร์มเทคโนโลยีในการนำ Big Data มาบริหารจัดการเมือง ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะคุ้นเคยกันดีก็ได้แก่ City Data Platform แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง และ City Digital Data Platform แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ที่บูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลที่รองรับการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศไทย อีกทั้งยังใช้ Machine Learning ในการคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าได้ด้วย
หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่ต้องการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองมาใช้พัฒนา Smart City อย่างนครบาร์เซโลนา สามารถปรึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับท้องถิ่นคุณได้ที่ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) E-mail: [email protected] หรือ Line หรือ Facebook
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
- https://www.posttoday.com/politics/500849