ทัวร์ 3 เมือง 3 แนวทางในการสร้างคุณภาพอากาศดี ไร้มลพิษ
คุณภาพอากาศไม่เพียงส่งผลแค่ด้านสุขภาพ แต่ยังรวมถึงด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเมืองด้วย เมืองที่มีมลพิษอย่างพวกฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก จะทำให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองได้รับผลกระทบต่อสุขภาพสะสมระยะยาว ขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว แล้วจะทำอย่างไรให้เมืองมีอากาศสะอาด เป็นหมุดหมายของนักลงทุน และนักท่องเที่ยว Bedrock มีไอเดียจาก 3 เมืองตัวอย่างที่มีคุณภาพอากาศดี ไร้มลพิษมาแนะนำครับ
1. เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมืองซูริก (Zurich) ในสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) เมืองที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เนื่องจากมีคุณภาพอากาศบริสุทธิ์และมลพิษต่ำติดอันดับโลก ส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์มาจากการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะแนวทางในการจัดเก็บภาษีขยะ (Taxes On Waste) ที่ไม่เหมือนใคร เพื่อเป้าหมายในการลดขยะ สนับสนุนให้ประชาชนในเมืองแยกขยะและรีไซเคิล
สำหรับการจัดเก็บภาษีขยะของเทศบาลเมืองซูริกไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมและภาษีแบบเหมาจ่าย แต่จะยึดแนวทางที่ว่ายิ่งมีขยะจำนวนมากก็จะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นตามไปด้วย โดยประชาชนจะต้องซื้อถุงขยะจากเทศบาลที่เรียกว่า “Züri-Sacke” เพื่อนำไปใส่ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ดังนั้นยิ่งมีจำนวนถุงขยะมากก็ยิ่งจ่ายภาษีเยอะตามไปด้วย เหตุที่เทศบาลเมืองซูริกใช้แนวทางนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในเมืองรู้สึกว่าการแยกขยะและการรีไซเคิลเป็นเรื่องง่าย ฟรี ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าภาษีและค่าธรรมเนียมขยะเยอะ โดยจะมีบริการจุดรวบรวมแก้วและโลหะกระจายอยู่ทั่วเมือง มีการกำหนดวันและเวลาให้ประชาชนนำขยะประเภทกระดาษมาวางไว้นอกบ้าน กำหนดให้นำพลาสติก ขยะพลังงาน หรือขยะตามที่กำหนดมาทิ้งที่ร้านสะดวกซื้อได้ สินค้าหลายอย่างมีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับการรีไซเคิล
หลังจากการใช้ระบบนี้พบว่าการจัดเก็บภาษีในรูปแบบนี้ช่วยลดประมาณขยะที่ไม่คัดแยกลดลง ประชาชนมีแนวโน้มที่จะรีไซเคิลมากขึ้น จำนวนในการจัดเก็บขยะในเมืองก็ลดลงตามไปด้วย
สำหรับการกำจัดขยะในเมืองซูริกนั้น มีการนำขยะไปกำจัดตามหลักการสุขาภิบาล ทั้งการกำจัดด้วยความร้อน ทำปุ๋ยหมัก เปลี่ยนเป็นพลังงาน สำหรับขยะรีไซเคิลเทศบาลจะมีการจ้างหรือติดต่อบริษัทเอกชนให้รับขยะไปรีไซเคิลได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินให้เทศบาล
2. เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
เมืองซิดนีย์ (Sydney) ในประเทศออสเตรเลีย (Australia) มีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วทั้งเมือง เพื่อกรองและปรับปรุงคุณภาพอากาศ ให้ร่มเงา ลดความร้อนในเมือง ลดมลพิษจากน้ำฝน สร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน รวมถึงปรับปรุงรูปลักษณ์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างเมืองที่มีความน่าอยู่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 เมืองซิดนีย์มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะคิดเป็น 155.4 ตารางเมตรต่อคน
สำหรับแนวทางในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของซิดนีย์นั้น อาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์และการดำเนินการแบบครบวงจร ทั้งสิ่งแวดล้อม การขนส่ง ที่อยู่อาศัย และสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น การปลูกต้นไม้ปกคลุมในระดับชั้นเรือนยอดหรือคาโนปี้ (Canopy) ในที่ดินส่วนบุคคลและสาธารณะ หรือการปกป้องพื้นที่ป่าและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างโคอาลา (Koala) เนื่องจากเมืองขยายตัวและที่อยู่อาศัยมีความหนาแน่นขึ้น โดยมีการจัดกิจกรรมเดินเล่นชมโคอาลาและปลาวาฬชายฝั่งรอบซิดนีย์ การสร้างสวนสาธารณะกลางเมืองขนาดใหญ่อย่าง Royal Botanic Garden Sydney, Centennial Park, Sydney Park เป็นต้น โดยในอนาคตซิดนีย์ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 40% ของพื้นที่ และมีต้นไม้ในระดับชั้นเรือนยอดหรือคาโนปี้ไม่ต่ำกว่า 27% ในปี พ.ศ. 2593
3. เรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์
เมืองเรคยาวิก (Reykjavik) ประเทศไอซ์แลนด์ (Iceland) เมืองแห่งอากาศสะอาดที่เปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินมาสู่ผู้นำแห่งพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันเมืองเรคยาวิกใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำประมาณ 73% และพลังงานความร้อนใต้พิภพประมาณ 27%
ด้วยความที่เมืองเรคยาวิกมีลักษณะภูมิประเทศสุดพิเศษที่เป็นธารน้ำแข็ง ภูเขาไฟ น้ำพุร้อน และมีแมกมาใต้ดิน ทำให้เรคยาวิก เหมาะกับการการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและผลิตพลังงานจากความร้อนใต้พิภพ เทศบาลเมืองเรคยาวิกจึงมีการวางแผนขับเคลื่อนพลังงานสีเขียวในระยะสั้นและยาว เพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น เมืองที่ปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล การลดจำนวนปั๊มน้ำมัน การกระตุ้นให้ใช้ยานพาหนะไฟฟ้า ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต อุตสาหกรรม และการขนส่งภายในประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น เรคยาวิกยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยพลังงานหมุนเวียนระดับโลก ที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงบริษัทจากต่างประเทศในการสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนด้วย
หวังว่า 3 เมืองตัวอย่างคงเป็นไอเดียในการสร้างเมืองอากาศสะอาด ไร้มลพิษอย่าง PM2.5 กันได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นซูริกเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ใช้มาตรการภาษีขยะ ซิดนีย์ที่ปกป้องพื้นที่สีเขียวและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วยการสร้างสวนสาธารณะและจัดกิจกรรมท่องเที่ยว รวมถึงเรคยาวิกที่ดึงจุดเด่นของภูมิประเทศมาพัฒนาจนเป็นผู้นำแห่งพลังงานหมุนเวียนด้วย
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.tomorrow.city/10-cities-with-the-best-air-quality-in-the-world/
https://airly.org/en/the-7-cities-with-the-cleanest-air-in-the-world-ranking/
https://www.tec.org.au/protect_expand_sydney_blue_green_spaces
https://www.cityofsydney.nsw.gov.au/strategies-action-plans/greening-sydney-strategy