ส่อง 5 เมืองตัวอย่างที่นำ Generative AI มาพลิกโฉมเมืองให้น่าอยู่กว่าที่เคย
Generative AI หนึ่งในรูปแบบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) จนสามารถสรรค์สร้างสิ่งใหม่ได้เอง ทำให้ผู้คนนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในวงการต่าง ๆ รวมถึงนำมาใช้สร้างเมืองให้น่าอยู่และทันสมัยกว่าที่เคย วันนี้ Bedrock จึงมี 5 เมืองตัวอย่างที่นำ Generative AI มาใช้ในการแก้ปัญหาและยกระดับเมืองมาแนะนำ
1. บัวโนสไอเรส (Buenos Aires)
บัวโนสไอเรส (Buenos Aires) เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินา เห็นถึงปัญหาของประชาชนในการติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อรับบริการสาธารณะและแจ้งเรื่องร้องเรียน ทั้งจะต้องเดินทางมาที่สำนักงาน ใช้เวลาในการจัดส่งเอกสาร และช่องทางออนไลน์เดิมไม่ตอบโจทย์ บัวโนสไอเรสจึงได้พัฒนา Generative AI ในรูปแบบแชตบอตที่ชื่อว่า “Boti” ผ่าน WhatsApp ในปี พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารและช่วยเหลือประชาชนในเมืองที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมลดขั้นตอนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ ลดเวลาการเดินทางและเวลาจัดส่งเอกสารในการรับบริการสาธารณะ จากรายงานของ Observatory of Public Sector Innovation ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 พบว่ามีการสร้างสถิติการสนทนาถึง 11 ล้านครั้ง เฉลี่ย 5 ล้านครั้งต่อเดือน โดยประชาชนนิยมใช้ในการรับบริการยื่นคำขอและเข้าถึงข้อมูลเมือง
สำหรับความสามารถเด่นของแชตบอต Boti เมื่อประชาชนส่งข้อความสอบถามเข้ามา ระบบจะมีการประมวลผลข้อความของผู้ใช้และนำคำตอบมาตอบข้อสงสัยที่เฉพาะเจาะจง โดย Boti จะให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของเมืองแบบเรียลไทม์ ทั้งการเดินทางในเมือง การรีไซเคิล สุขภาพ ความปลอดภัย สวัสดิการทางสัมคม วัฒนธรรม กิจกรรม พื้นที่สาธารณะ และการท่องเที่ยว เช่น การถามหาจุดจอดรถ ณ พิกัดที่ผู้ใช้งานอยู่ ตัวแชตบอต Boti จะเชื่อมต่อข้อมูลแผนที่ของเมือง ข้อมูลกฎการจอดรถ และตรวจสอบข้อมูลพื้นที่โดยรอบ ผ่าน API แล้วจึงประมวลผลเป็นคำตอบแก่ผู้ถามแบบเฉพาะเจาะจง
อีกความสามารถพิเศษของ Boti ก็คือการรับเรื่องร้องเรียน ติดต่อ จองคิว และขอรับบริการสาธารณะของเมืองได้ในเวลาสั้น ๆ โดยประชาชนไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงาน นอกจากนี้ ภายใน Boti ยังมีการพัฒนาเนื้อหาสาระอื่นเพื่อพัฒนาประชาชนในเมืองด้วย เช่น Boticuentos นิทานที่สามารถโต้ตอบเพื่ออ่านและเล่นกับเด็กได้ เป็นต้น
2. สิงคโปร์ (Singapore)
สิงคโปร์ (Singapore) ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเมืองอัจฉริยะต้นแบบ และเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มี Digital Twin แบบจำลองเสมือนจริงของประเทศขึ้นมา มีการประกาศกลยุทธ์ AI แห่งชาติ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย AI จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมรัฐบาลของสิงคโปร์จึงมีโครงการปัญญาประดิษฐ์แบบ Generative AI กว่า 100 โซลูชัน หนึ่งในโครงการนำ Generative AI มาเป็นโซลูชันที่น่าสนใจก็คือ “onePA" เครื่องมือแนะนำการจองสถานที่ออกกำลังกายและสิ่งอำนวยความสะดวก
โดย “onePA" เริ่มจากการนำปัญหาของประชาชนในสิงคโปร์ที่ไม่ได้รับความสะดวกในการจองการใช้บริการสถานที่ออกกำลังกายและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเมือง จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง สมาคมประชาชน (People’s Association: PA) และหน่วยงานเทคโนโลยีของรัฐบาลสิงคโปร์ (the Government Technology Agency of Singapore ) ในการพัฒนา “onePA" เครื่องมือแนะนำการจองสถานที่ออกกำลังกายและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสนทนาหรือพิมพ์สถานที่และวันที่ที่ต้องการจอง แล้วระบบจะช่วยค้นหาสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แบบอัตโนมัติ ที่สำคัญยังสามารถสื่อสารได้ถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง ภาษาทมิฬ และภาษามลายู ซึ่งภาษาราชการของสิงคโปร์ด้วย
3. อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam)
อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้ AI อย่าง ChatGPT และ Dall-E ช่วยสร้างวัสดุที่ยั่งยืน (Generating Sustainable Materials) ผ่านโครงการ Artificial Intelligence for Sustainable Molecules and Materials (AI4SMM) โดยได้มีการนำความสามารถของ Generative AI อย่างการใช้ข้อความจาก ChatGPT และภาพจาก Dall-E มาช่วยสร้างภาพจำลอง หาองค์ประกอบประกอบของโมเลกุลใหม่ หากระบวนการทางเคมีใหม่ รวมถึงการคาดการณ์ผลลัพธ์ ที่จะนำไปสู่วัสดุที่ยั่งยืน (Sustainable materials) เพื่อพลังงาน สิ่งแวดล้อม และอนาคตที่ยั่งยืน เช่น เกลือสำหรับกักเก็บพลังงาน (Energy Storage in Salts) เหล็กกล้าที่ยั่งยืน (Sustainable Steel) พลาสติกที่ปลอดภัย และโปรตีนจากพืชชนิดใหม่
4. ดัลลาส (Dallas)
ดัลลาส (Dallas) เมืองในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยบนท้องถนนของการใช้ยานพาหนะไร้คนขับ จึงได้มีการพัฒนาและกำลังทดสอบการใช้งานของรถยนต์และรถบรรทุกไร้คนขับที่นำ Generative AI เข้ามาช่วย โดยมีการใช้ Copilot4D ที่ได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้การขับและตรวจจับระยะห่างของวัตถุจาก Lidar Sensor ประกอบกับข้อมูลและภาพในวางแผนเส้นทางและตรวจจับวัตถุ และแสดงผลสภาพแวดล้อมในรูปแบบภาพแผนที่สามมิติ เพื่อให้สามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำล่วงหน้า 10 วินาที ทำให้มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาหลายประการ เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การปล่อยคาร์บอน และการขาดแคลนแรงงาน
5. บอสตัน (Boston)
ปัจจุบันเมืองบอสตัน (Boston) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มีเลนจักรยานน้อยและขาดความต่อเนื่องของเส้นทาง อีกทั้งถนนยังไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะกับการขับขี่จักรยาน เมืองบอสตันจึงต้องการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน แต่การให้ความรู้และประชาสัมพันธ์แบบเดิม ทำให้ประชาชนในเมืองไม่เข้าใจและมองไม่เห็นภาพจนเกิดเป็นความกังวลว่าจะกระทบกับวิถีชีวิตและเมืองที่เขาอยู่ จึงได้มีการนำความสามารถของ Generative AI มาออกแบบภาพเมืองให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยนำโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจักรยานแบบเมืองโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ที่เป็นเมืองต้นแบบ มาซ้อนทับกับโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมอาคารของเมืองบอสตัน เพื่อให้ประชาชนในบอสตันเข้าใจและรู้สึกถึงความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ว่าหากมีการออกแบบและพัฒนาเมืองบอสตันที่เป็นมิตรกับจักรยานแล้วเมืองจะมีหน้าตาอย่างไร และส่งผลต่อวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง
Generative AI คืออีกเทคโนโลยีอัจฉริยะที่น่าสนใจในการนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ เพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานและบริการของเมือง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะนำมาใช้อย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัย ความโปร่งใส จริยธรรม และความต้องการของประชาชนในเมืองกันด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
-https://www.weforum.org/agenda/2024/07/generative-ai-smart-cities/
-https://www.onepa.gov.sg/facilities
-https://www.weforum.org/agenda/2024/01/driving-trust-paving-the-road-for-autonomous-vehicles/