สรุปการบรรยาย ในหัวข้อ อนาคตท้องถิ่นไทยกับการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดย รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยได้จัด “การประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2567 ประจำปี พ.ศ. 2567” ภายในงานมีสาระความรู้สำหรับผู้บริหารและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการพัฒนาบุคลากร ยกระดับท้องถิ่นสู่ดิจิทัลมากมาย หนึ่งในนั้นคือการบรรยายสุดพิเศษเรื่อง “อนาคตท้องถิ่นไทยกับการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี” โดย รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำไปปรับใช้กับท้องถิ่นกันได้อย่างแน่นอน วันนี้ Bedrock จึงจะนำมาสรุปให้ได้อ่านกันครับ
ความท้าทายของท้องถิ่นท่านอยู่ตรงไหน
ความเป็นเมืองในความคิดของหลายคนอาจวัดจากการจัดตั้งเป็นเขตเทศบาล มีประชากรจำนวนมากและหนาแน่น มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยไม่ได้มีเพียงเกษตรกรรมเป็นหลัก รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อม จำพวกถนน ไฟฟ้า น้ำประปา สัญญาณโทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อมองแล้ว คงต้องตอบได้ว่า ทุกพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทย แทบจะกลายเป็นเมืองไปเกือบทั้งหมดแล้ว จึงทำให้การกำหนดความท้าทายของเมืองได้ยาก เพื่อกำหนดถึงความท้าทายได้อย่างตรงจุดมากขึ้น จึงขอแบ่งเมืองออกเป็น
- เมืองโต จัดเป็นเมืองขนาดใหญ่ ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน มีประชากรวัยทำงานอาศัยอยู่เยอะ อีกทั้งยังมีประชากรแฝงอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น เทศบาลเมือง เทศบาลนคร
- เมืองหด จัดเป็นเมืองขนาดเล็กไปจนถึงกลาง มีประชากรคงที่ มีสูงอายุอาศัยอยู่จำนวนมาก เศรษฐกิจภายในเมืองไม่เติบโต รวมถึงเป็นเมืองที่นโยบายส่วนกลางไม่ได้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เมือง 2 ประเภทนี้มีความเป็นเมืองเหมือนกัน แต่เมื่อมองถึงรายละเอียดจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน จึงทำให้ความท้าทายและปัญหาภายในเมืองแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาในแต่ละเมืองจึงไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันทั้งหมดได้
คำถามต่อมาก็คือจะเลือกวิธีใดในการแก้ปัญหาให้เมือง เพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบทของเมืองตนเองมากที่สุด นั่นก็คือการเริ่มที่โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล
ท้องถิ่นของคุณวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลไว้ขนาดไหน
แต่เดิมเมื่อพูดถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หลายคนก็จะคิดภาพ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” แต่ในปัจจุบันบริบทของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก แบบเดิมคงไม่เพียงพอที่จะสร้างคุณภาพชีวิตและความน่าอยู่อย่างยั่งยืนให้กับเมืองได้ เนื่องจากประสิทธิภาพไม่เพียงพอและต้นทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมสูงมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วย “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านดิจิทัล" เรียงลำดับการพัฒนา ดังนี้
1. ดิจิทัลภิวัฒน์
ดิจิทัลภิวัฒน์ ไม่ใช่การแค่นำอินเทอร์เน็ตเข้าใช้ในการกระบวนการทำงานและบริหารจัดการเมืองเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนข้อมูลแบบแอนะล็อกเป็นแบบดิจิทัล เปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนกระบวนการ เปลี่ยนวิธีการและรูปแบบการผลิต รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการบริการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมสร้างขีดความสามารถและสร้างวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือคุณค่าให้กับประชาชน โดยมีวิวัฒนาการดังนี้
- Digitization เป็นการแปลงข้อมูลแบบแอนะล็อกหรือแบบกระดาษมาเป็นแบบดิจิทัล เช่น ระบบ E-saraban
- Digitalization เป็นขั้นกว่าของ Digitization นอกจากจะแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ยังต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการทำงานและกระบวนการด้วย เช่น การทำให้ประชาชนสามารถรับบริการสาธารณะทางออนไลน์ได้
- Digital Transformation เป็นขั้นกว่าของ Digitalization เป็นขั้นสุดท้ายก่อนที่จะพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มภิวัฒน์ เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนแนวคิด วัฒนธรรม รวมถึงพฤติกรรมด้วย
2. แพลตฟอร์มภิวัฒน์
แพลตฟอร์มภิวัฒน์ คือพื้นที่ออนไลน์ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาแอปพลิเคชัน กระบวนการหรือเทคโนโลยีสืบเนื่องต่าง ๆ รวมไปถึงรูปแบบธุรกิจ ที่สร้างมูลค่าจากการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหรือองค์กร หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการบริหารจัดการ กระบวนการ และการทำงานมาต่อยอด โยงใยเชื่อมต่อ และประยุกต์ไปอีกขั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพที่มากขึ้น โดยแพลตฟอร์มจะต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
- พลังของการเชื่อมต่อและเครือข่าย แพลตฟอร์มจะต้องมีการเชื่อมต่อและโยงใยสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
- ความสามารถในการขยายขนาด โครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มจะต้องมีการขยายขนาดแบบทวีคูณ
- ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แพลตฟอร์มจะมีประสิทธิภาพมากน้อยจะต้องอาศัยฐานข้อมูลเป็นสำคัญ
- การทำงานร่วมกันของระบบต่าง ๆ แพลตฟอร์มจะต้องออกแบบให้ระบบต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยง และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การออกแบบเน้นหลักผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง แพลตฟอร์มจะต้องสร้างโดยคำนึงผู้ใช้งานเป็นหลักว่าจะต้องใช้งานได้ง่ายและสะดวก
- การสร้างระบบนิเวศของฟังก์ชันการทำงาน แพลตฟอร์มจะต้องมีการรวมระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีศูนย์รวมข้อมูล ระบบ หรือแอปพลิเคชันทุกอย่างให้อยู่ในที่เดียวกัน
สำหรับตัวอย่างของแพลตฟอร์มภิวัฒน์ ก็อย่างเช่น เริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลเมืองในมิติต่าง ๆ แล้วนำเทคโนโลยีที่มี IoT Sensor มาติดที่เสาไฟฟ้า เพื่อเชื่อมต่อและส่งข้อมูลการใช้งานเข้าสู่ส่วนกลาง แล้วพัฒนาไปสู่ระบบเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติเมื่อมีคนเดินผ่าน ต่อมาก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมโยงและรวบรวมกับฐานข้อมูลหรือระบบอื่นที่มีการใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกัน แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเมือง เพื่อพัฒนาไปสู่การชำระค่าไฟที่สอดคล้องกับการใช้งานจริงในรูปแบบออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส เป็นต้น
3. เอไอภิวัฒน์
เอไอภิวัฒน์ ก็คือขั้นกว่าของแพลตฟอร์มภิวัฒน์ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เพื่อพัฒนาเมือง เรียงอันกับการพัฒนาออกเป็น 4 ลำดับ ดังนี้
1. Artificial คือการที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา
2. Intelligence คือการที่มนุษย์ประดิษฐ์สิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วผ่านการใช้หรือสะสมข้อมูลที่มีรายละเอียดเป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นปัญญา
3. Narrow Intelligence คือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถเฉพาะทางบางอย่างดีกว่ามนุษย์ เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ, Google DeepMind ที่มีความสามารถในการแข่งขันเล่นเกมหมากล้อม (โกะ) จนชนะมนุษย์
4. Artificial General Intelligence คือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการโต้ตอบได้เอง
โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่ดี ต้องดีขนาดไหน
จากลำดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านดิจิทัล เริ่มตั้งแต่ดิจิทัลภิวัฒน์ ตามมาด้วยแพลตฟอร์มภิวัฒน์ และก้าวสูงสุดคือเอไอภิวัฒน์ จะเห็นว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพก็คือเรื่องของ “โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่ดี” หมายถึงข้อมูลจะช่วยให้ ท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการพัฒนาและบริหารจัดการเมืองได้ ช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ ดังนั้น ในวันนี้...จึงถึงเวลาแล้วที่ท้องถิ่นจะต้องเริ่มวางยุทธศาสตร์ให้เมืองในอนาคตและลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล เพื่อต่อสู้กับความท้าทายที่ปัญญาประดิษฐ์อาจจะเข้ามาแทนที่การทำงานบางอย่างของมนุษย์
6 กรอบการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมของท้องถิ่นไทย
อย่างที่บอกไปว่า ถึงเวลาแล้วที่ท้องถิ่นจะต้องเริ่มวางยุทธศาสตร์ให้เมือง เพื่อต่อสู้กับความท้าทายที่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่การทำงานบางอย่างของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการเมืองและวางยุทธศาสตร์ของเมืองให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน พร้อมวางแผนอยู่ร่วมกับกระแสการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล นำเอาความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์มาช่วยสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการทำงานแทนที่จะเข้ามาแย่งงาน จึงได้มีการวาง 6 กรอบการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมของท้องถิ่นไทยมาไว้ให้เป็นแนวทางในการพัฒนา ดังนี้
1. การบริหารจัดการท้องถิ่น
กลุ่มของแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพิ่มขีดความสามารถการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น ลดเวลา และสร้างกลไกการมีส่วนร่วม เช่น แพลตฟอร์มที่รวมบริการออนไลน์ของท้องถิ่น ทั้งการจ่ายภาษี การขออนุญาตก่อสร้าง การร้องเรียน เป็นต้น
2. การดูแลสุขภาพ
การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมายกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัย เช่น อุปกรณ์ห้อยคอ และ Smart Watch ที่มีระบบการแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับผู้สูงอายุ การแพทย์ระยะไกล (Telemedicine) ที่มีการจัดบริการปรึกษาแพทย์ทางไกลผ่านทาง Video Call
3. โครงสร้างพื้นฐาน
การใช้และเชื่อมโยงอุปกรณ์เทคโนโลยีหรือกลุ่ม IoT Sensor เพื่อสร้างความปลอดภัย ป้องกันอาชญากรรม การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนภายในเมือง
4. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเมืองสีเขียว สร้างความยั่งยืน ควบคุมการใช้พลังงาน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เช่น การระบบติดตามการจัดเก็บขยะมูลฝอย
5. การพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่
การใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การใช้ระบบฐานข้อมูลเปิด (Open Data) เพื่อเปิดข้อมูลเมืองให้นักธุรกิจนำไปวางแผนการลงทุน เพื่อสร้างการจ้างงานและเพิ่มมูลค่าผลผลิตชุมชน
6. การจัดการความปลอดภัยและภัยพิบัติ
คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการภัยพิบัติ ทั้งก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ เช่น การใช้ระบบแจ้งเตือนประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การใช้ระบบจัดการภัยพิบัติ ที่อยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองของ Bedrock
กับดักการพัฒนาด้านดิจิทัลของท้องถิ่น
หลายท้องถิ่นเริ่มมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาเมืองกันแล้ว แต่กลับไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าที่คาดหวัง ซึ่งอาจมาจากกับดักการพัฒนาด้านดิจิทัลของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น
- ขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่ดี จึงไม่สามารถขับเคลื่อนเมืองหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ได้ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่ดีตามที่ได้เล่าไปข้างต้น
- ขาดการเชื่อมโยงทุกระบบเข้าด้วยกัน จึงไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและเป็นเนื้อเดียวกัน ส่งผลให้งานไม่มีประสิทธิภาพมากพอ สามารถแก้ไขได้ด้วยการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง หรือระบบในกลุ่ม Enterprise Resource Planning (ERP) มาใช้
- ขาดการวางยุทธศาสตร์ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล จึงไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมและไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง สามารถแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านดิจิทัลตามที่ได้เล่าไปข้างต้น
- ขาดบุคลากรที่มีศักยภาพเท่าทันโลก จึงทำให้ใช้เทคโนโลยีได้ไม่คุ้มกับประสิทธิภาพและไม่เห็นผล ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการโน้มน้าวบุคลากรให้เห็นถึงความสำคัญของระบบที่นำมาใช้ พัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเชิงเทคโนโลยี ด้วยการฝึกอบรม รวมถึงเลือกแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายและสะดวก
- ขาดสวัสดิการพื้นฐานด้านดิจิทัล จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ท้องถิ่นนำมาใช้ได้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้สวัสดิการด้านดิจิทัลอย่างสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนใช้ฟรี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ระบบที่ท้องถิ่นนำมาใช้
เป็นอย่างไรบ้างครับ กับสรุปสาระความรู้จากการบรรยายสุดพิเศษเรื่อง “อนาคตท้องถิ่นไทยกับการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี” ในงาน “การประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2567 ประจำปี พ.ศ. 2567” หวังว่าหลายท่านที่ไม่ได้ไปร่วมงานหรือท่านที่ไปร่วมงาน แต่พลาดเนื้อหาสาระบางอย่างไปจะสามารถนำสรุปนี้ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นกันได้นะครับ ไว้คราวหน้ามีการบรรยายในงานใดที่น่าสนใจ Bedrock จะนำมาสรุปแล้วเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ