ก้าวไปอีกขั้นของปัญญาประดิษฐ์สู่ยุค Physical AI

ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เปลี่ยนไวจนตามแทบไม่ทัน ต่อไปนี้จะไม่ใช่ยุคของ Agentic AI เพื่อนคู่คิดช่วยทำงานซ้ำซ้อนและตัดสินใจจากฐานข้อมูลอีกต่อไป แต่กำลังเข้าสู่ยุคแห่ง Physical AI ที่สามารถเป็นตัวแทนบนโลกแห่งความเป็นจริงที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น มาทำความรู้จักกันว่า Physical AI คืออะไร มีความสามารถแค่ไหน ทำงานอย่างไร และจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
Physical AI คืออะไร
NVIDIA (NVDA) เป็นบริษัทเทคโนโลยีผลิตชิปรายใหญ่ระดับโลก ซึ่งชิปนับเป็นมันสมองสำคัญในการประมวลผลของ AI ได้กล่าวถึงก้าวต่อไปของAI ว่ากำลังเข้าสู่ยุคของ Physical AI ซึ่ง Physical AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงกายภาพ เป็น AI ที่ผสานความสามารถของปัญญาประดิษฐ์เข้ากับปฏิสัมพันธ์ในโลกทางกายภาพ จึงไม่เพียงแค่สามารถเรียนรู้ได้เองจากกระบวนการซ้ำ ๆ แต่ยังสามารถรับรู้ เข้าใจ ให้เหตุผล ปรับตัว ตัดสินใจ และปฏิบัติการจากการเผชิญสถานการณ์แบบเรียลไทม์และซับซ้อนในชีวิตจริงได้อย่างเหมาะสม
ลักษณะการทำงานของ Physical AI จะเป็นลักษณะการจำลองสถานการณ์ในพื้นที่เสมือนจริงหรือที่เรียกว่า Digital Twin ยกตัวอย่างเช่นติดตั้ง IoT เซนเซอร์ที่เครื่องจักรหรือใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในโรงงาน แล้วนำไปจำลองเป็นโรงงานให้สภาพแวดล้อมเหมือนจริงแบบเรียลไทม์และแบบกำหนดสถานการณ์ตามที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้สามารถทดสอบ ฝึกทักษะ และพัฒนาเครื่องจักรให้ทำงานแบบอัตโนมัติในสถานการณ์ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยในการคาดการณ์ผล การวางแผนการปฏิบัติการ รวมถึงควบคุมเครื่องจักรได้แม่นยำและเหมาะสมมากขึ้น
จุดเด่นของ Physical AI
จุดเด่นหรือความสามารถของ Physical AI ก็คือสามารถเข้าใจสถานการณ์จริงอันซับซ้อนและไม่แน่นอนได้ดี เช่น พฤติกรรมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การคาดการณ์ การตัดสินใจ และตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์
ประโยชน์ของ Physical AI
Physical AI ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่จำลองเพื่อฝึกทักษะ เรียนรู้ ลองผิดลองถูก รวมถึงพัฒนาเครื่องจักรหรือจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม Physical AI จึงเหมาะกับการนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม
1. ยานพาหนะอัตโนมัติ
ยานพาหนะอัตโนมัติหรือรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles: AV) คือกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถนำ Physical AI มาใช้ในการพัฒนาความแม่นยำและความปลอดภัยในการขับขี่อัตโนมัติ ทั้งในกระบวนการเรียนรู้ การตอบสนองต่อสภาพการจราจร การปรับตัวต่อสภาพอากาศ การตัดสินใจเกี่ยวกับการขับขี่ในแต่ละสถานการณ์ เช่น การหลบหลีกอุบัติเหตุ การอ่านป้ายจราจร การตรวจจับคนเดินถนน การเปลี่ยนเลน การวิเคราะห์พฤติกรรมของคนเดินถนน การวางแผนเส้นทางตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์
2. หุ่นยนต์ในโรงงานหรือคลังสินค้า
หุ่นยนต์ในโรงงานหรือคลังสินค้า (Industrial Robots) เป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมสายงานผลิตที่ Physical AI จะถูกนำมาใช้เพื่อให้หุ่นยนต์ในโรงงานหรือคลังสินค้าสามารถทำงานแบบอัตโนมัติได้อย่างมีคุณภาพ มีความแม่นยำสูง สามารถเรียนรู้และปรับปรุงการปฏิบัติการได้เองในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น ปรับการทำงานเองได้โดยไม่ต้องตั้งโปรแกรมใหม่ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้โดยอัตโนมัติ การลำเลียงวัตถุหรือสินค้าไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ
3. หุ่นยนต์ดูแลบ้าน
หุ่นยนต์ดูแลบ้าน (Domestic Robots) คืออีกอุปกรณ์ที่เริ่มได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยเฉพาะหุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน ซึ่ง Physical AI นี้จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ เนื่องจากมีความสามารถในการรับรู้ ทำความเข้าใจ นำทาง และโต้ตอบกับโลกกายภาพได้อย่างเหมาะสม จึงช่วยพัฒนาในเรื่องการเรียนรู้และการจัดการวัตถุในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย การวิเคราะห์พื้นที่ การเข้าใจตำแหน่งของวัตถุ การปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบอัตโนมัติ รวมถึงการปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย
4. การแพทย์และสุขภาพ
การแพทย์และสุขภาพ (Medical Robots) เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จะนำ Physical AI มาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เฉพาะทางด้านผ่าตัด ร้อยเข็ม และเย็บแผล เพราะสามารถเรียนรู้ร่างกายของมนุษย์ ตอบสนองอัตโนมัติต่อสถานการณ์ที่ซับซ้อน อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวตามลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ
5. การสำรวจและกู้ภัย
งานท้าทายอย่างการสำรวจและกู้ภัย (Exploration and Rescue) ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายและเข้าถึงยาก เป็นอีกด้านที่ Physical AI จะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ ด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจหรือหุ่นยนต์กู้ภัยที่ผ่านการฝึกอบรมในพื้นที่จำลองบนโลกเสมือนจริงในหลากหลายสถานการณ์ก่อนลงพื้นที่บนโลกจริง เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถปฏิบัติการแบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้หุ่นยนต์ค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากอาคารที่พังถล่ม
Physical AI อาจจะเป็นก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนเกมธุรกิจขององค์กรของคุณในการชิงความได้เปรียบทางธุรกิจ ลดต้นทุน และเสริมศักยภาพการทำงานให้กับองค์กร เพราะไม่เพียงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจจากข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนทำงานในสถานการณ์จริงได้มากขึ้นด้วย
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.nvidia.com/en-us/glossary/generative-physical-ai/