ระบบยื่นขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์คืออะไร มีข้อดีข้อเสียตรงไหน ถ้าท้องถิ่นนำมาใช้ควรเริ่มอย่างไร

ปัจจุบันการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน มาดูกันว่าหากต้องการสร้างระบบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์ทำแล้วดีจริงหรือไม่ และเจ้าพนักงานท้องถิ่นควรจะทำอย่างไรถ้าต้องการสร้างระบบการขออนุญาตออนไลน์
การขออนุญาตก่อสร้างอาคารคืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคารกันก่อน ซึ่งก็คือการขอการขออนุญาต เพื่อก่อสร้างอาคาร ก่อนที่จะก่อสร้างจริง เพื่อตรวจสอบว่าอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด อีกทั้งยังต้องความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย และป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยสามารถยื่นคำขอได้ 2 ช่องทางหลัก ได้แก่
1. ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างอาคารด้วยตนเองที่สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะก่อสร้าง เช่น สำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานคร, สำนักงานเทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานเมืองพัทยา
2. ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างก่อสร้างผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางออนไลน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะก่อสร้าง เช่น www.bizportal.go.th, http://smilepermit.bangkok.go.th/, ระบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
การขออนุญาตก่อสร้างอาคารทางออนไลน์ทำได้แค่ไหน
ปัจจุบันการขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์ หรือ E-Submission สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อรับรองการขออนุญาตผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องลงลายมือชื่อ พร้อมกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลกัน
ข้อดีของการขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์
การขออนุญาตก่อสร้างอาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลดีต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดย 5 ข้อหลัก ๆ มีดังนี้
สะดวกในการยื่น
ผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำร้องได้ตามวันและเวลาที่สะดวก อีกทั้งไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาที่สำนักงาน
เอกสารไม่หาย ค้นหาได้ทุกเมื่อ
เมื่อคำร้องเข้าสู่ระบบก็จะทำให้เอกสารแนบหรือคำร้องที่ขอได้รับการจัดเก็บอยู่ในระบบ มีจัดระเบียบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูล จึงง่ายต่อเจ้าหน้าที่ในการค้นหาเอกสารที่ต้องการ
การพิจารณารวดเร็วขึ้น
เจ้าหน้าที่สามารถลดเวลาในการค้นหาเอกสาร สืบค้นข้อมูล และส่งต่องานไปให้ผู้รับผิดชอบได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการจัดระเบียบ ก็จะส่งผลให้การพิจารณาคำร้องรวดเร็วขึ้น ประชาชนผู้ขออนุญาตก็จะไม่ต้องรอผลการพิจารณานานเท่าเดิม
ติดตามง่ายขึ้น
ผู้ขออนุญาตสามารถติดตามสถานะของคำร้องได้ง่ายขึ้น รู้ว่าขณะนี้อยู่ที่ขั้นตอนใด ต้องใช้เวลาเท่าไร ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจสอบขั้นตอนภายในได้เช่นกันว่าตอนนี้คำร้องนั้นอยู่ที่ส่วนใด สถานะใด
ลดเวลากระบวนการทำงานและภาระงานซ้ำซ้อน
เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็เห็นสถานะชัดเจน โดยไม่ต้องตามหาผู้รับผิดชอบหรือสถานะของงานนั้น ๆ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนของงานที่อาจเกิดขึ้นได้

อุปสรรคของการขออนุญาตก่อสร้างอาคารทางออนไลน์
แม้การขออนุญาตก่อสร้างอาคารทางออนไลน์จะมีข้อดีมากมาย แต่จากข้อมูลของ TDRI พบว่าผลสำรวจผู้ขออนุญาตก่อสร้าง/ดัดแปลงอาคารใน กทม. จำนวน 400 ราย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้ยื่นขออนุญาตผ่านทางเว็บไซต์เพียง 1% เท่านั้น โดยอุปสรรคสำคัญ ประกอบไปด้วย
1. มีความสับสนและไม่รู้จักช่องทางขออนุญาตออนไลน์ที่ให้บริการ
2. ไม่เชื่อมั่นในระบบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารทางออนไลน์
3. ติดตามความคืบหน้ายาก ไปที่สำนักงานสามารถสอบถามต่อตัวได้ง่ายกว่า
4. ไม่สะดวก เนื่องจากต้องแนบเอกสารจำนวนมาก โดยเฉพาะการยื่นแบบแปลนอาคาร
แนวทางทำระบบขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เมื่อประชาชนและเจ้าพนักงานท้องถิ่นเกิดความไม่มั่นใจในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำอย่างไรที่จะสนับสนุนการขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกใจประชาชน Bedrock Analytics มีคำแนะนำดี ๆ มาเสนอ
ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์
ผู้ขออนุญาตบางคนอาจรู้สึกว่าเดินทางไปที่สำนักงานทีเดียวจบ สแกนเอกสารไม่ถูก หรือไปติดต่อสอบถามถึงที่ง่ายกว่า ฉะนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ว่ามีความสะดวกอย่างไร ติดตามผลอย่างไร ติดต่อได้ช่องทางไหน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
เพิ่มช่องทางติดต่อออนไลน์ให้กับประชาชน
เพิ่มความรู้สึกสบายใจและมั่นใจให้ประชาชนในการสอบถามและติดตามสถานะได้ง่ายขึ้น นอกจากช่องทางติดต่อเดิมแล้ว การเพิ่มช่องทางออนไลน์ในการติดต่อก็เป็นอีกช่องทางที่ควรทำและดูแลอย่างสม่ำเสมอ
จัดทำคู่มือการพิจารณาและผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน
เพิ่มความรวดเร็วในการพิจารณา พร้อมลดภาระซ้ำซ้อนของงาน ควรจัดทำคู่มือแนวทางในการพิจารณา และผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน
ทำระบบฐานข้อมูลอ้างอิงและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ
การค้นหาเอกสารคำร้อง การค้นหาข้อมูลเอกสารประกอบจากภายในและภายนอกหน่วยงานในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตก่อสร้างอาคารต้องใช้เวลา ใช้ดุลยพินิจสูง ดังนั้นการลงทุนในการนำระบบฐานข้อมูลอ้างอิงและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ จึงเพิ่มประสิทธิภาพ มีข้อมูลรอบคอบในการใช้ดุลยพินิจ เสริมความรวดเร็วและความถูกต้องในการจัดการงานเอกสารและกระบวนการทำงานในการพิจารณาคำร้องได้
ใช้ระบบติดตามงานและการทำงานร่วมกัน
การตรวจสอบสถานะของคำร้องว่าอยู่ขั้นตอนใดและใครคือผู้รับผิดชอบ คืออีกหนึ่งอุปสรรคที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องพบเจอ หลายครั้งอาจพบว่าทำงานแบบซ้ำซ้อน การออกแบบระบบติดตามหรือการทำงานร่วมกันจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ หากเป็นงานที่ไม่มีความซับซ้อนอาจเริ่มจากใช้เครื่องมือฟรีง่าย ๆ เช่น trello.com, monday.com เป็นต้น
พัฒนาระบบการยื่นขออนุญาตเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเอง
แต่ละชุมชนและท้องที่ล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกัน การพัฒนาระบบการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเองจึงเป็นอีกทางออกสำคัญ เพราะไม่เพียงได้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง ยังสามารถบริหารจัดการได้ง่ายและรวดเร็วอีกด้วย ในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนรับออกแบบระบบเหล่านี้
การขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์เป็นรูปแบบการขออนุญาตที่สะดวกต่อผู้ขอและเจ้าพนักงานท้องถิ่น ช่วยยกระดับท้องถิ่นดิจิทัล สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน ขณะเดียวกันเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย หากต้องการปรึกษาเรื่องการยกระดับองค์กรท้องถิ่นดิจิทัล ปรึกษาฟรีได้ที่ Inbox: https://www.facebook.com/BedrockAnalyticsTH
ขอบคุณข้อมูล:
ผลสำรวจผู้ขออนุญาตก่อสร้าง/ดัดแปลงอาคารใน กทม. จาก TDRI
https://tdri.or.th/2023/06/construction-permits-in-bangkok-article/
https://thaipublica.org/2023/02/tdri-corruption-construction-permit-1/