ท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าว ท่าเรือระบบขนส่งอัจฉริยะแอร์แทร็ก (air-track) แห่งแรกของโลก
ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ท่าเรือที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาบูรณาการในการบริหารจัดการและโลจิสติกส์ ซึ่งหากให้ยกตัวอย่างก็ต้องพูดถึงเมืองจีนเป็นประเทศแรก ๆ เพราะจีนมีท่าเรืออัจฉริยะจำนวนมากและมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อย่างที่จะเล่าในวันนี้ก็คือ ท่าเรือชิงต่าว (Qingdao Port, 青島港) ท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรกของโลกที่มีระบบขนส่งอัจฉริยะแอร์แทร็ก (air-track)
ท่าเรือชิงต่าว (Qingdao Port, 青島港) ตั้งอยู่ที่เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นท่าเรือการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1892 จัดเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างประเทศของจีนและของโลก โดยจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนท่าเรือชิงต่าวแบบเดิมไปสู่ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ก็คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อท่าเรือและอุตสาหกรรมการขนส่งทางน้ำทั่วโลก ทั้งในเรื่องการจัดการการขนส่งสินค้าและจำนวนแรงงาน ประกอบกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงนำมาสู่การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าว
ท่าเรือชิงต่าว ท่าเรืออัจฉริยะที่มีระบบขนส่งอัจฉริยะแอร์แทร็ก (air-track)
ท่าเรือชิงต่าว ถือเป็นท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรกของโลกที่มีระบบขนส่งอัจฉริยะแอร์แทร็ก (air-track) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเครือข่าย 5G มาผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร ที่สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 1.5 ล้านทีอียู (หน่วยเทียบเท่ายี่สิบฟุต) ต่อปี ซึ่งช่วยลดต้นทุนในระบบขนส่งมหาศาล อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัย ลดแรงงานคน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาอื่นในการขนส่งภาคพื้นดิน
จุดเด่นของท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าว
ท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าวมีระบบขนส่งอัจฉริยะแอร์แทร็ก (air-track) และตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติที่ได้รับการออกแบบและผลิตภายในประเทศทั้งหมด โดยประยุกต์เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อให้เกิดระบบอัตโนมัติอันทรงประสิทธิภาพหลากหลายมิติ
1. นำเทคโนโลยี 5G ผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างระบบอัตโนมัติ
จุดเด่นที่สำคัญเลยของท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าว คือการนำเทคโนโลยี 5G มาผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างระบบอัตโนมัติในกระบวนการโลจิสติกส์ เช่น การประมวลผลแบบเอดจ์ (Edge) การกำหนดตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูง การควบคุมอุปกรณ์ท่าเรือขนาดใหญ่จากระยะไกลและการจัดการสินค้าอย่างอัจฉริยะ รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์และการมองเห็นของคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างระบบขับขี่อัตโนมัติ การควบคุมระยะไกล การนับอัจฉริยะ และการรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบอัจฉริยะเพื่อการกำหนดตารางเวลา พื้นที่ และอุปกรณ์จัดเก็บสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครนอัตโนมัติ เพื่อเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์และการส่งข้อมูลวิดีโอความละเอียดสูง ทำให้สามารถตรวจสอบและติดตามการขนส่งมีประสิทธิภาพ
2. ระบบ Zero Transfer
ท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าวมีวิธีการขนส่งแบบระบบขนส่งอัจฉริยะแอร์แทร็ก (air-track) ที่เรียกว่า “Zero Transfer” หรือ “การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ลอยฟ้าอัตโนมัติ” ซึ่งเป็นการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์จากลานไปยังท่าเรือและรถไฟ โดยไม่ต้องลงบนพื้นดิน ส่งผลให้วิธีการขนส่งมีความปลอดภัยสูง มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดเวลา แก้ปัญหาหรือลดอุปสรรคในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ได้ดี
3. เรือคอนเทนเนอร์อัจฉริยะนำทางด้วยตนเอง
ท่าเรือชิงต่าว มีเรือที่ชื่อว่า “เรือจื้อเฟย (智飞)” ซึ่งเป็นเรือคอนเทนเนอร์อัจฉริยะที่สามารถนำทางด้วยตนเอง โดยการร่วมกันพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชนของจีน ภายใต้ “โครงการวิจัยภายใต้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาเทคโนโลยีหลักของการนำทางและการควบคุมเรืออัจฉริยะบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันระหว่างเรือกับชายฝั่ง” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถเดินทางด้วยตนเองตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ในระบบนำทางอัจฉริยะขั้นสูง มีความสามารถในการแสดงตำแหน่งของเรือและสิ่งกีดขวางที่อยู่ใกล้เคียงได้อย่างแม่นยำ ผ่านเซนเซอร์กล้องและเรดาร์อินฟราเรด สามารถขับขี่แบบอัตโนมัติ ด้วยการป้อนข้อมูลของท่าเรือปลายทางและเส้นทางเดินเรือ มีระบบหลีกเลี่ยงการชนอัจฉริยะจะทำงานโดยอัตโนมัติตามระเบียบ International Regulations for Preventing Collisions at Sea (COLREGS) และระบบการเทียบท่าอัตโนมัติ เป็นต้น
4. แพลตฟอร์มบริการออนไลน์ที่ครอบคลุม
ท่าเรือชิงต่าว มีการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงกันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ด้วยการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะมาผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็น การยื่นเอกสารและทำพิธีศุลกากรทางออนไลน์ แอปพลิเคชันสำหรับลูกค้าที่ต้องการรับบริการจากท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าว ทั้งการจองและการทำธุรกรรมตู้คอนเทนเนอร์แบบบริการตนเอง ทำให้ช่วยลดเวลาและต้นทุนด้านกำลังคนด้วย
ท่าเรืออัจฉริยะชิงต่าวของจีน ถือเป็นอีกตัวอย่างในการพลิกอุปสรรคจากโควิด 19 ให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างท่าเรืออัจฉริยะแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกที่น่าจับตามอง และเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของจีน โดยในอนาคตท่าเรือชิงต่าวนี้กำลังพัฒนาให้กลายเป็นท่าเรือสีเขียวที่ชาญฉลาด และเป็นตัวอย่างสำหรับท่าเรือภายในประเทศจีนแห่งอื่นด้วย
สำหรับในเมืองไทยท่าเรือแหลมบัง จ.ชลบุรี ก็กำลังได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) มาตรฐานโลก ควบคู่ไปกับการเป็นท่าเรือสีขาว โดยจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับกิจการท่าเรือ และธุรกิจโลจิสติกส์ เช่น เทคโนโลยีควบคุมระบบจากระยะไกล, บริการติดตามสถานะออนไลน์, บล็อกเชน, รถบรรทุกไร้คนขับ และเทคโนโลยีควบคุมการผ่านเข้าออกอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถ้ามีความคืบหน้าในการพัฒนาเมื่อไร Bedrock จะนำมาบอกเล่าให้ได้อ่านกันนะครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ: