ส่องไทม์ไลน์ Smart city ในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ เทรนด์มาแรงที่แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปรับตัวจากการบริหารจัดการเมืองแบบดั้งเดิมสู่การวางแผนและบริหารจัดการเมืองแบบใหม่ โดยการนำข้อมูลมาผสานกับนวัตกรรม เพื่อช่วยในการจัดระบบ วิเคราะห์ คาดการณ์ และยกระดับการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับกับโลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนที่ตอบสนองความต้องการของพลเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วจุดเริ่มต้นของ Smart City ในไทยมาจากไหน ทำไมถึงกลายเป็นเทรนด์ในเมืองไทยได้ ตามมาเลย
ปี พ.ศ. 2543 แนวคิด Smart City ถือกำเนิดขึ้น
เมื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ที่เป็นเหมือนรากฐานการเชื่อมโยงอุปกรณ์เข้ากับโครงข่ายการสื่อสารแบบอินเทอร์เน็ต ทำให้แนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองและการวางผังเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อรองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย เมืองมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ปี พ.ศ. 2546 “เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City” ถูกพูดถึงในไทยครั้งแรก
สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี พ.ศ. 2546 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเดิม) มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จึงได้มีการกล่าวถึง “เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City” เป็นครั้งแรก เพื่อการรักษาความสามารถทางการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก ดึงดูดพลเมืองที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ให้อยู่กับเมือง ปรับปรุงการบริหารจัดการเมืองให้โปร่งใส รวมถึงการรักษาสภาพอากาศให้คงที่ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่า
ปี พ.ศ. 2559 “เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City" ถูกบรรจุในนโยบายประเทศไทย 4.0
ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลไทยได้มีการประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0 และได้การบรรจุ “เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City" ลงไปในยุทธศาสตร์ที่สำคัญและแผนในการพัฒนาประเทศ
ซึ่งนโยบายประเทศไทย 4.0 ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า (Value-Based Economy) ในการพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำทางสังคม และกับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา โดยมีการสอดแทรกการใช้เทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะเอาไว้ใน 4 มิติ ดังนี้
มิติที่ 1 ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์
มิติที่ 2 ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม (Social Well-beings) ลดระดับความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม
มิติที่ 3 การยกระดับศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ (Human Wisdom) การพัฒนาทุนมนุษย์ มาตรฐานของเด็กไทย ยกระดับคุณภาพของแรงงานให้
มิติที่ 4 การรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่น่าอยู่
ปี พ.ศ. 2560 ก่อตั้งสำนักงานเมืองอัจฉริยะ และบรรจุเมืองอัจฉริยะไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้มีนำเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City บรรจุไว้การประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 9: การพัฒนาภาคเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญ และยกระดับรายได้ของประชาชน
และในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้มีการจัดตั้ง “สำนักงานเมืองอัจฉริยะ" ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีภารกิจในการจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการและการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ปี พ.ศ. 2561 ใช้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ในปี พ.ศ. 2561 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ได้จัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการและการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยเน้น 5 เสาหลักสำคัญ ดังนี้
เสาหลักที่ 1 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีเป้าหมายในการเลือกเมืองที่มีศักยภาพ ที่จะใช้สำหรับการดำเนินงานนำร่อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
เสาหลักที่ 2 การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายที่จะบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ
เสาหลักที่ 3 สร้างกลไกบริหารจัดการในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปสู่ภาคปฏิบัติ มีเป้าหมายให้มีผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการพื้นที่ จัดเตรียมองค์กร ระบบ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการให้บริการสาธารณะในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เสาหลักที่ 4 ผลักดันเมืองอัจฉริยะด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม มีเป้าหมายในการส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่สามารถนำไปปรับใช้สำหรับเมืองอัจฉริยะในอนาคต
เสาหลักที่ 5 ส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนเข้าถึงการเชื่อมโยงและการใช้งานข้อมูล โดยมีเป้าหมาย เพื่อเผยแพร่ข้อมูล สร้างการเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนการวางแผน ตลอดจนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนำร่อง 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ในปี พ.ศ. 2561-2562 ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
ปี พ.ศ. 2562 depa ก่อตั้ง Smart City Thailand
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ depa ก่อตั้ง Smart City Thailand เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัยให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยมีการประกาศลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 ด้านด้วยกัน คือ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment), การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility), การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living), พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People), พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy), เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
ปี พ.ศ. 2566 บรรจุเมืองอัจฉริยะในหมุดหมายที่ 8 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
จากผลการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 9 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ผ่านมา พบว่า แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่กระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นเท่าที่ควร ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง เกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัว ภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมส่งออกชะลอตัว ประชาชนถูกเลิกจ้างและขาดรายได้ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา
จากสาเหตุเหล่านี้ทำให้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) บรรจุเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในหมุดหมายที่ 8 “ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน” โดยมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจ ลดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ของภาคและพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ยั่งยืน พร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านกลยุทธ์การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมกลไกความร่วมมือ เพื่อพัฒนาพื้นที่และเมือง สร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการพื้นที่และเมือง
ในปัจจุบันเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ ตามเกณฑ์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด มีจำนวน 36 เมือง 25 จังหวัด (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 66) และเมืองที่เป็นเขตส่งเสริมจำนวน 108 เมือง
จากอดีตจนถึงปัจจุบันการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ก็เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ประชาชนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วันนี้ท้องถิ่นของคุณเริ่มพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือยัง เริ่มตอนนี้ยังไม่สายเกินไป Bedrock พร้อมให้คำปรึกษาการวางแผนแม่บทและสนับสนุนเทคโนโลยีให้ท้องถิ่นของคุณก้าวสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน ติดต่อได้ที่ Line : https://lin.ee/tX4NVx0 หรือ Inbox: https://www.facebook.com/BedrockAnalyticsTH