เช็กองค์ประกอบท้องถิ่น 4.0 มีอะไรบ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของคุณเข้าเกณฑ์หรือไม่

ตอนนี้ท้องถิ่นของคุณเป็นท้องถิ่น 4.0 อยู่หรือไม่ !? หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องปฏิรูปตนเองให้เป็นท้องถิ่น 4.0 เพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 และระบบราชการ 4.0 ให้สำเร็จ คำถามก็คือ ท้องถิ่นของเราสามารถเริ่มต้นทำเองได้จริงหรือไม่ และต้องทำอย่างไรถึงจะทำได้สำเร็จ Bedrock มีองค์ประกอบของการเป็นท้องถิ่น 4.0 มาแนะนำกันครับ
ไทยแลนด์ 1.0 - ไทยแลนด์ 4.0
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับองค์ประกอบของท้องถิ่น 4.0 มาทำความรู้จักกับไทยแลนด์ 1.0 – 4.0 กันก่อนว่าคืออะไร โดยไทยแลนด์ 1.0 – 4.0 เป็นรูปแบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในแต่ละยุคสมัยที่มักสอดคล้องไปตามความต้องการของตลาดโลกและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
1. ไทยแลนด์ 1.0 ยุคเกษตรกรรม
ไทยแลนด์ 1.0 เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยเกษตรกรรมและการส่งออกสินค้าเกษตรในการสร้างรายได้และยังชีพ ทั้งปลูกข้าว ทำสวน เลี้ยงสัตว์ จัดอยู่ในประเทศรายได้ต่ำ
2. ไทยแลนด์ 2.0 ยุคอุตสาหกรรมเบา
ไทยแลนด์ 2.0 เป็นยุคที่ประเทศเริ่มมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้น แม้จะใช้แรงงานคนเป็นหลักเช่นเดิม แต่เริ่มมีการนำเครื่องมือมาช่วยในการผลิต ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องดื่ม เครื่องเขียน เครื่องประดับ เป็นต้น ทำให้ไทยเริ่มเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลาง
3. ไทยแลนด์ 3.0 ยุคอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก
ไทยแลนด์ 3.0 ก็คือในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการส่งออก การลงทุน และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมหนัก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กกล้า ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยที่ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางเช่นเดิม
4. ไทยแลนด์ 4.0 ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
การที่ไทยอยู่ในยุคพัฒนาเศรษฐกิจไทยแลนด์ 3.0 ที่นำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในการผลิตและการส่งออก ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อเพิ่มสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ยกระดับรายได้ของคนไทยให้พึ่งพาตนเองได้ กลายเป็นประเทศมีรายได้ที่สูงและประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีการผลักดันให้ไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่จะเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาเพิ่มทั้งมูลค่าและคุณค่า (Value Creation)
ระบบราชการ 1.0 - ระบบราชการ 4.0
หลังจากทำความรู้จักกับไทยแลนด์ 1.0 - ไทยแลนด์ 4.0 กันไปแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันและจะต้องทำความเข้าใจด้วย ก็คือ ระบบราชการ 1.0 - 4.0 ซึ่งเป็นยุคสมัยของการปฏิรูประบบราชการของไทย ดังนี้
1. ระบบราชการ 1.0
ระบบราชการ 1.0 คือ การปฏิรูประบบราชการสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการวางรากฐานประเทศและจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวทางอารยประเทศ โดยมีการเปลี่ยนแปลงระบบกรมกองใหม่ และตั้งกระทรวง กรม ให้เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์แวดล้อม หลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการวางระบบข้าราชการพลเรือนสมัยใหม่ โดยเน้นระบบคุณธรรม (merit system)
2. ระบบราชการ 2.0
มีการวางระบบราชการให้สอดคล้องไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เพื่อให้ระบบราชการมีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการบริหารราชตามแนวทางคลาสสิคของ Max weber ว่าด้วยความชอบธรรมทางการเมืองที่มาจากเหตุผลและกฎหมาย (Legal-Rational Legitimacy)
3. ระบบราชการ 3.0
เกิดการปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ. 2545) ให้สอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 โดยเน้นประชาธิปไตย (Democratization) และบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ เน้นหลักธรรมาภิบาล เน้นการกระจายอำนาจ
4. ระบบราชการ 4.0
เป็นการปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ. 2559) เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 เน้นความน่าเชื่อถือไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง (Credible and Trusted Government) โดยต้องปรับตัว เปิดกว้าง เชื่อมโยง เพิ่มขีดสมรรถนะ และมีความทันสมัย เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ปกครองส่วนท้องถิ่น กลไกสำคัญในไทยแลนด์ 4.0 และระบบราชการ 4.0
จะเห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและการปฏิรูประบบราชการแต่ละยุค มีความสัมพันธ์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายและโครงสร้างเหล่านี้ไม่ใช่เพียงภาครัฐส่วนกลางเท่านั้น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือกลไกสำคัญที่จะทำให้ไทยยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 และระบบราชการ 4.0 ให้สำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็น
1. การพัฒนาทุนมนุษย์
สร้างคนในท้องถิ่นให้มีศักยภาพ ความรู้ และทักษะ เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีสำนึกรักษ์ท้องถิ่น ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง และมีคุณธรรมจริยธรรม
2. ส่งเสริม Local Start Up
ช่วยส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจให้กับคนในท้องถิ่นประกอบธุรกิจและมีรายได้ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
3. พัฒนาตนเองให้มีมาตรฐาน
การพัฒนาตนเองให้มีมาตรฐานอยู่ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น มีความกระตือรือร้น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง, มีธรรมาภิบาล ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีมาตรฐาน และรักษาสถานภาพทางการคลังให้มีเสถียรภาพ คงจะมองภาพกันออกแล้วว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือฟันเฟืองสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ และรองรับการทำงานของภาครัฐในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดดตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของการยกระดับไทยแลนด์ 4.0 และระบบราชการ 4.0 จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคนี้ต้องเป็น “ท้องถิ่น 4.0” นั่นเอง
องค์ประกอบของท้องถิ่น 4.0
ท้องถิ่น 4.0 ก็คือการพัฒนาองค์กรส่วนท้องถิ่นให้สอดรับนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และต้องยกระดับกระบวนการในการดำเนินงานและการบริการโดยยึดประชาชนเป็นหลักด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ตามหลักระบบราชการ 4.0 ซึ่งการจะทำให้ท้องถิ่น 4.0 ประสบความสำเร็จต้องมีองค์ประกอบทั้งหมด 13 ข้อ ดังนี้
1. ดิจิทัล
การจัดทำฐานข้อมูล และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสร้างบริการของรัฐในรูปแบบใหม่ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการของรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้สะดวกขึ้น พร้อมการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลากหลายมิติ เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตในสำนักงาน, การบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลกลาง อปท., การมีช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศในการให้บริการ, การจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรท้องถิ่นแห่งชาติ, การจัดทำและใช้งานแผนที่ภาษี, การใช้งานระบบ e-LAAS
2. องค์กรแห่งความสุข
การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอาจมีการประเมินความพึงพอใจและแรงจูงใจในการทำงานของบุคลากร การจัดอาคารสถานที่ทำงานให้พร้อมสำหรับการทำงาน และการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรในหน่วยงาน เป็นต้น
3. องค์กรแห่งการเรียนรู้
การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาการเรียนรู้ให้กับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรตามสายงาน การดำเนินการขับเคลื่อน อปท. ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การจัดการองค์ความรู้ในองค์กร และการพัฒนาองค์ความรู้ให้สมาชิกสภาท้องถิ่น
4. ขีดสมรรถนะสูง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีผลการประเมินประสิทธิภาพ (LPA) ในระดับสูง และได้รับการรับรองมาตรฐานหรือได้รับรางวัลในระดับจังหวัดหรือประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ความกระตือรือร้นในการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล และบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
5. สร้างนวัตกรรม
การสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นในการบริหารจัดการและจัดบริการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เช่น การยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านทางออนไลน์ การยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารทางออนไลน์ การใช้ระบบจัดสรรเบี้ยยังชีพ
6. ส่งเสริมประชาธิปไตยในชุมชน และสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม
การดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยการสร้างกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การประเมินความพึงพอใจต่อการทำงานของท้องถิ่น การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการต่าง ๆ
7. แผนพัฒนาท้องถิ่น
การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ โดยตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ส่งเสริมการจัดทำประชาคม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นที่ตอบสนองต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และดำเนินการตามแผนพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. การแสวงหาความร่วมมือ
ท้องถิ่นจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองความคุ้มค่าตามหลักธรรมาภิบาล และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและการพัฒนาท้องถิ่น
9. การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ
ท้องถิ่นต้องช่วยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของประเทศ เช่น จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น (LSEP) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ การกำจัดขยะมูลฝอย และการกำจัดผักตบชวา
10. การบริการเชิงรุก
ท้องถิ่นจะต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานจากเชิงรับไปสู่เชิงรุก โดยเฉพาะด้านการบริการประชาชน เช่น จัดตั้งศูนย์บริการร่วม/ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) การขยายเวลาให้บริการ การจัดชุดบริการเคลื่อนที่ทั้งในและนอกเวลาราชการ เป็นต้น
11. การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
ท้องถิ่นจะต้องกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่ประชาชนสามารถพึ่งตนเองหรือพึ่งคนในชุมชนด้วยกันเองได้ ตั้งแต่ระดับการผลิตจนไปถึงระดับการบริโภค ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะมีส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ การส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการกำกับดูแลและส่งเสริมด้านการตลาด
12. เสถียรภาพทางการคลัง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดสรรงบประมาณและหารายได้ให้เพียงพอต่อการบริหารงานท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และค่าธรรมเนียม
13. ยึดมั่นธรรมาภิบาล
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและมีคุณธรรม โดยต้องมีนโยบายและกิจกรรม เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในท้องถิ่น มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในงานด้านการบริการ มีมาตรฐานในการให้บริการ มีระบบหรือกลไกในการจัดการกับเรื่องร้องเรียนที่ดี รวมถึงไม่มีการถูกชี้มูลความผิดจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ
การพัฒนาท้องถิ่น 4.0 ให้สำเร็จได้จะต้องเริ่มจากรากฐานของหน่วยงานภาครัฐที่ใกล้ชิดและยึดโยงกับประชาชนเป็นหลักอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียก่อน ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวความคิดและปฏิรูปกระบวนการดำเนินงาน พร้อมเปิดรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อท้องถิ่นทำได้สำเร็จแล้วไทยแลนด์ 4.0 และระบบราชการ 4.0 ก็จะสัมฤทธิผลไปด้วยกัน ประเทศไทยก็จะก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนก็จะยกระดับสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าไว้นั่นเองครับ
ดังนั้นท้องถิ่นที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเรา เป็นท้องถิ่น 4.0 แล้วหรือยัง หรือยังขาดองค์ประกอบไหนไป สามารถปรึกษาเรื่องการวางแผนแม่บทและหาโซลูชันเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในท้องถิ่นได้ที่อีเมล: [email protected] หรือ Line Official Account หรือ Facebook
ขอบคุณข้อมูล
- สำนักงาน ก.พ.
- กระทรวงอุตสาหกรรม