มนุษยชาติ: หัวใจสำคัญการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของมหานครไทเป ไต้หวัน

การสร้าง Smart City ต้องให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด คำตอบส่วนหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คือการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ใช่ว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ เรามาดูมหานครไทเป ประเทศไต้หวัน เมืองอัจฉริยะที่ไม่เหมือนใคร เพราะยึดแนวคิด “มนุษยชาติ” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ผ่านมุมมองเชิงบวกต่ออนาคตดิจิทัลจนเกิดเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ดีต่อวิถีชีวิตของประชาชนในแบบที่เราคาดไม่ถึง
มหานครไทเป ประเทศไต้หวัน ได้รับการจัดอันดับดัชนี IMD Smart City ในปี พ.ศ. 2564 ว่าเป็นเมืองอัจฉริยะอันดับที่สองในเอเชียและอันดับสี่ของโลก และในปี พ.ศ. 2566 อยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก เมื่อย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น เมืองอัจฉริยะในไทเปเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่มีการจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะแห่งไทเป (Taipei Smart City Project Management Office: TPMO) เพื่อดำเนินการและกำกับดูแลการพัฒนาไทเปสู่เมืองอัจฉริยะ มีการจัดทำแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมรวบรวมข้อมูลของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการดำเนินการให้เกิดความเป็นอัจฉริยะทั้ง 6 ด้านสำคัญ ดังนี้
1. SMART Public Housing
เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ในสถานที่ที่มีระบบจัดการค่าสาธารณูปโภคและควบคุมค่าใช้จ่ายได้สะดวกและชาญฉลาดยิ่งขึ้น จึงมีการพัฒนาและติดตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid) ระบบการจัดการที่จอดรถ ระบบการจัดการมิเตอร์ และระบบในการจัดการบริการต่าง ๆ
ตัวอย่างโครงการระบบการจัดการมิเตอร์ก็อย่างเช่น มิเตอร์น้ำอัจฉริยะไทเป พัฒนาและดูแลโดย Taipei Water Department (TWD) เพื่อบริหารจัดการน้ำและจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 อาคารใหม่ทั้งหมดในไทเปจะต้องติดตั้งมาตรวัดน้ำอัจฉริยะ ซึ่งเมื่อได้ Big Data การใช้น้ำมาแล้ว ก็จะนำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมมาตรวัดน้ำอัจฉริยะให้ดียิ่งขึ้น
2. SMART Transportation
เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการเดินทางและใช้ชีวิต จึงใช้ Taipei Main Station เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของไต้หวันที่รวบรวมการเดินทางทุกรูปแบบไว้ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น TRA, MRT, HSR รวมถึงรถบัสด้วย ภายในมีการจัดทำระบบนำทางและป้ายบอกทางที่ชัดเจน ซึ่งต่อวันมีผู้เดินทางมากกว่า 500,000 คน ไม่เพียงเท่านั้น Taipei Main Station ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและชอปปิงขนาดใหญ่อีกด้วย ในอนาคตคาดว่าจะมีการทำระบบจอดรถอัจฉริยะและระบบความปลอดภัยอัจฉริยะเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ชื่อว่า 3U Green Shared Transportation เป็นการเดินทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็น YouBike ระบบเช่าจักรยานสาธารณะ (shared biking), U-Motor ระบบเช่าสกูตเตอร์สาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน และ U-EV จุดให้บริการชาร์ตพลังงานสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
3. SMART Education
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่เมืองกับพื้นที่ห่างไกล ไทเปจึงสร้างระบบการศึกษาทางไกล ด้วยการเรียนผ่านช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ พร้อมสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับสถาบันศึกษาผ่านโครงการที่ชื่อว่า Taipei City CooC-Cloud ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และยกระดับการศึกษาดิจิทัลของไต้หวัน เช่น "CooC AI System" แพลตฟอร์มการเรียนการสอนแบบอัจฉริยะที่ให้ AI เป็นผู้สอน ซึ่งเป็นการพัฒนา AI ให้สามารถช่วยแก้โจทย์ ให้คำปรึกษา ให้คะแนน รวมถึงฝึกพูดกับ AI ได้ด้วย ทำให้ผู้เรียนมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลา ลดความกดดัน อีกทั้งยังช่วยลดเวลาในการเตรียมการสอนของครูด้วย
4. SMART Payment
เพื่อลดค่าธรรมเนียมการดำเนินการและเพิ่มความสะดวกในการชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้ประชาชน ไทเปจึงพัฒนาระบบ SMART Payment แพลตฟอร์มการจ่ายเงินอัจฉริยะ ให้ประชาชนชำระค่าบริการต่าง ๆ เช่น ค่าจอดรถ ค่าน้ำ ค่าบริการด้านการรักษาพยาบาลผ่านสมาร์ตโฟน เป็นต้น
5. SMART Healthcare
เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย สร้างเสริมสุขภาพที่ดี สามารถเข้าถึงการรักษาที่สะดวกรวดเร็ว และรองรับสังคมผู้สูงวัย รวมทั้งลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไทเปจึงมีการออกแบบระบบสุขภาพอัจฉริยะในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนาระบบการบริการหรือระบบประกันสุขภาพให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น
- บริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ เช่น แพลตฟอร์ม Community Care Platform (CCIP) ที่ให้ประชาชนจัดการข้อมูลของตนเองผ่านระบบคลาวด์
- ระบบเตือนฉุกเฉินเมื่อผู้สูงอายุหกล้ม
- โปรแกรม “Conference secretary” ให้ผู้สูงอายุรับโทรศัพท์ผ่านการกดรีโมตคอนโทรล เพื่อให้มองเห็นภาพคนโทรเข้าผ่านจอโทรทัศน์
- ระบบศูนย์ออกกำลังกายอัจฉริยะ ที่สามารถจองคิวเรียนออกกำลังกาย พร้อมรับคำแนะนำการออกกำลังเฉพาะบุคคลผ่านออนไลน์
- ร้านขายยาอัจฉริยะ ที่รับประกันความถูกต้องและความปลอดภัยสูง โดยภายในร้านจะใช้เทคโนโลยี Intelligent Pharmacy ไม่ว่าจะเป็น “เคาน์เตอร์จ่ายยาอัจฉริยะ” ที่จะมีฉลากอิเล็กทรอนิกส์เมื่อสแกนตู้เก็บยาจะมีไฟขึ้น เพื่อให้เภสัชกรหยิบยาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมทั้งยังมี “ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ” ที่ช่วยให้คนจ่ายยาตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดและรายการยาแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทราบว่ายานั้นได้รับการจัดเก็บอย่างเหมาะสมและหมดอายุหรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้นยังมี “ระบบการจัดการยาอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการติดตามรูปแบบการใช้ยาและระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
- แอปพลิเคชันขอเติมยา ที่ให้ผู้ป่วยเรื้อรังที่ได้รับใบสั่งยาต่อเนื่องสามารถกดขอเติมยาเมื่อใกล้หมด และไปรับได้ที่ร้านขายยา เพื่อลดเวลาการรอคอยในโรงพยาบาล
6. นวัตกรรม
เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมสนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ได้รับโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่มากขึ้น ภาครัฐจึงนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อปรับใช้กับโครงการ Smart City และโครงการอื่นของภาครัฐ พร้อมเปิดรับข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรม (Innovative Solutions) เพื่อนำมาจำลองและทดสอบจนได้ผลลัพธ์ นำไปสู่การปรับปรุงโครงการต่าง ๆ อยู่เสมอ
ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน โดยใช้ "Internet Of Things (IOT)" และ "Artificial Intelligence of Things (AIOT)" ผ่านรูปแบบ "Big Data" และ "AI Image Recognition" ทำให้สามารถคัดกรองและวิเคราะห์ความเสี่ยงและพฤติกรรมการขับขี่ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งจะมีการให้คำแนะนำผู้ขับขี่ทันที เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ
ความมุ่งมั่นสร้างเมืองแห่งอนาคตอันชาญฉลาด ยั่งยืน และน่าอยู่ โดยยึดประชาชนเป็นสำคัญของมหานครไทเป ประเทศไต้หวัน นำไปสู่โซลูชันที่หลากหลายจนกลายเป็น Smart City ขึ้นชื่อติดอันดับโลก แต่เหนืออื่นใดคือประชาชนได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน และชีวิตเต็มไปด้วยความปลอดภัยนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ: