วิธีการต่อสู้กับไข้ซิก้าและไข้เลือดออกฉบับโคลอมเบีย ด้วย Data Analytics App
เข้าสู่ฤดูฝนเมื่อไร โรคติดต่อร้ายแรงหนึ่งที่จะตามมาก็คือโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ถ้าในเมืองไทยหลายคนคงจะคุ้นเคยกับโรคไข้เลือกออก แต่ยังมีโรคอื่นด้วยที่อันตรายไม่แพ้กัน นั่นก็คือโรคชิคุนกุนย่า และโรคไข้ซิก้า ดังนั้นการจะป้องกันโรคเหล่านี้ได้ก็คือการกำจัดเจ้ายุงลายตัวร้ายออกไป วันนี้ Bedrock มีตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำจัดยุงลายของประเทศโคลอมเบียมาแชร์ครับ
ปัญหายุงลายในโคลอมเบีย
ประเทศโคลอมเบีย (Colombia) ในทวีปอเมริกาใต้ เป็นประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิก้าและไข้เลือดออกที่มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัดและชายแดน อย่างเมืองกาลิ (Cali) และกูกูตา (Cucuta) ซึ่งมีประชาชนหนาแน่น ขาดระบบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ ระบบน้ำประปา ประกอบกับในช่วงฤดูฝนมักเกิดน้ำท่วม ทำให้มีน้ำนิ่งและแอ่งน้ำจำนวนมากจึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะสำคัญในการกระจายเชื้อโรคไข้ซิก้าและไข้เลือดออก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปี 2559 โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสซิก้าสูงเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคละตินอเมริกา รองจากบราซิลกันเลยทีเดียว
โคลอมเบียนำ Data Analytics App มาต่อสู้กับโรคไข้ซิก้าและไข้เลือดออก
จากการระบาดที่รุนแรง มีทั้งผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคไข้ซิก้าและไข้เลือดออกในโคลัมเบีย ทางการจึงได้มีมาตรการออกมาเพื่อแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจถนนและย่านที่อยู่อาศัยเพื่อหาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้ความรู้ในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ถูกต้อง พ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย เป็นต้น
และที่สำคัญในปี 2560 รัฐบาลโคลอมเบียได้ยกระดับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศด้วยการร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และบริษัท Premise ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์ในซานฟรานซิสโก โดยการนำ Big Data และเทศโนโลยีมาต่อสู้กับการระบาดของโรคไข้ซิก้า ไข้เลือดออก และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงด้วย Data Analytics App หรือแอปพลิเคชันข้อมูลเชิงวิเคราะห์
สำหรับการปฏิบัติการในการนำ Data Analytics App มาใช้ต่อสู้กับการระบาดของโรคไข้ซิก้าและไข้เลือดออก เริ่มต้นจากทีมผู้เชี่ยวชาญจาก Premise จะลงพื้นที่นำร่อง ได้แก่ เมืองกาลี ซานตามาร์ตา และกูกูตา เพื่อใช้ Data Analytics App เก็บข้อมูลข้อมูลตำแหน่งแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ถ่ายภาพแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ถ่ายภาพท่อระบายน้ำทิ้ง และบันทึกข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มฐานข้อมูลกลางที่ Premise พัฒนาขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อมูล และติดตามพื้นที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไข้ซิก้าที่อันตรายถึงชีวิต โดยระบบจะวิเคราะห์ และถูกแปลงเป็นแผนที่ความร้อนรายวัน จากนั้นส่งต่อไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการติดตามและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และบอกแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ประชาชน
นอกจากทีมผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่จะเป็นคนเก็บข้อมูลแล้ว ยังให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเก็บข้อมูลลงในแอปพลิเคชันด้วย ทำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันติดตาม ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามคำแนะนำจากหน่วยงานภาครัฐ
ผลลัพธ์จากการใช้ Data Analytics App และแพลตฟอร์มที่ Premise พัฒนา
ผลลัพธ์จากการใช้ Data Analytics App และแพลตฟอร์มข้อมูลกลางที่ Premise พัฒนาขึ้นมา ทำให้ในปี 2561 หรือภายในหนึ่งปีที่เริ่มโครงการนำร่อง สามารถตรวจสอบบ้านได้กว่า 108,000 หลัง และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้กว่า 70,000 แหล่ง อีกทั้งจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามบ้านก็ลดลงโดยเฉลี่ยจาก 3 เหลือ 1.8 แห่ง
ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโคลอมเบีย ไม่ว่าจะเป็น การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีเฝ้าระวังและควบคุมแมลงพาหะ สัตว์รบกวน เช่น การรมควัน การฉีดพ่นฆ่าเชื้อ การกำจัดลูกน้ำ การสร้างเครื่องดักยุง การรักษาความหนาแน่นของแมลง การใช้แอปพลิเคชัน Data Analytics รายงานสถานการณ์ลูกน้ำยุงลาย และการทำแผนที่ข้อมูล เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ
ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ในเรื่องโรคอันตรายที่เกิดจากยุงลาย สามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะตรวจสอบและดูแลบ้านของตนเองให้ปลอดจากยุงลายมากขึ้นด้วย
โครงการนำร่องในการใช้แอปพลิเคชัน Data Analytics ของ Premise มาต่อสู้กับโรคไข้ซิก้าและไข้เลือดออกในโคลัมเบียนั้น ถือเป็นการผสานเทคโนโลยีเข้ากับข้อมูลเชิงลึกที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น สามารถวางแผนป้องกัน จัดการ และแก้ไขโรคระบาดที่เกิดจากยุงลายในอนาคตได้เป็นอย่างดี ในอนาคตคาดว่าโครงการนี้จะขายไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโคลอมเบีย และประเทศอื่นๆ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ:
https://www.borgenmagazine.com/mosquito-breeding-sites-app/
https://www.globalcitizen.org/en/content/colombia-zika-mosquito-app/
https://premise.com/wp-content/uploads/2021/12/Premise_Case-Study_Zika-Virus-Success.pdf