ทำความรู้จัก EECd เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เมืองอัจฉริยะสุดล้ำของไทย
เมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะต้นแบบของไทย ชื่อวังจันทร์วัลเลย์ คงเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบที่น่าจะคุ้นเคยกันดี แต่ที่จริงแล้วตอนนี้มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนำร่องที่มุ่งส่งเสริมกลุ่มนวัตกรรมดิจิทัลขึ้นมาอีกที่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมืองอุตสาหกรรมหนึ่งในพื้นที่ EEC หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในชื่อว่า EECd เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
EECd คืออะไร
EECd คือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในพื้นที่ 534 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เพื่อเป็นเมืองอัจฉริยะที่เป็นศูนย์กลางการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น มีแหล่งงานมากขึ้น และยกระดับรายได้ของคนไทย ด้วยการมุ่งส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์และนวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลระดับเอเชียแปซิฟิกที่มีระบบนิเวศน์ทางธุรกิจดิจิทัลครบวงจรภายในปี พ.ศ. 2570 และพัฒนาไปสู่การเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เป็นต้นกำเนิดแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลระดับโลกภายในปี พ.ศ. 2575 โดยจะมีการสร้างศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แบบเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve Digital Industry) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 สำหรับแผนเปิดโครงการ EECd นั้นจะเริ่มเปิดพื้นที่นำร่อง 65 ไร่ ปี พ.ศ. 2567 และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2568
EECd เตรียมพร้อมอะไรไว้บ้าง เพื่อรองรับธุรกิจดิจิทัล
ภายในพื้นที่เมืองอัจฉริยะ EECd มีการจัดเตรียมความพร้อมของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้มีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กับนักลงทุนหรือบริษัทที่อยู่ภายในพื้นที่ ตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับดิจิทัล การพัฒนาซอฟต์แวร์ การพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูล และศูนย์การเรียนรู้ด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น
1. ระบบคลาวด์ ทั้งระบบคลาวด์สาธารณะและระบบคลาวด์ส่วนตัว
2. ไฟเบอร์ออฟติก ทั้งเคเบิลใต้น้ำและการเชื่อมต่อสายแลนระดับท้องถิ่น
3. การขนส่งและโลจิสติกส์ครบวงจร
4. เครือข่าย 5G ทั้งรูปแบบบริการส่วนตัวและโทรคมนาคมสาธารณะ
5. สาธารณูปโภคและพลังงานทดแทน
6. Technical Support เพื่อบริการด้านเทคนิคตลอด 24 ชั่วโมง
ภายใน EECd มีอะไรบ้าง ที่สร้างประสบการณ์สุดทันสมัย
พื้นที่เมืองอัจฉริยะ EECd มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลระดับเอเชียแปซิฟิก และร่วมขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ออกแบบพื้นที่ให้มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมดิจิทัลและรองรับธุรกิจดิจิทัล ได้แก่
1. Commercial of the Future เป็นศูนย์บริการและอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยสำหรับบุคลากรในพื้นที่ EECd
2. Translational Digital Technology Zone เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลอันทันสมัยให้บริการ ทั้ง IoT, 5G, Cloud, AI, Big Data, Blockchain เป็นต้น
3. Digital Education Zone เป็นพื้นที่รองรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) อุตสาหกรรมในอนาคต และศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
4. Utilities เป็นศูนย์รวมบริการระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ ที่บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี IoT, AI และ Big Data ทั้งด้านไฟฟ้า น้ำประปา การบริหารจัดการน้ำเสีย ขยะ และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่
5. EECd Center Point เป็นศูนย์ให้บริการส่วนกลางสำนักงาน EECd และยังเป็นพื้นที่นันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจด้วย
6. Digital Sandbox Zone เป็นส่วนของการบริการโรงงานกลางสำหรับการสร้างต้นแบบ การผลิต บริการสำนักงาน โรงงาน คลังสินค้า และ Co-Working Space
พื้นที่ EECd รองรับอุตสาหกรรมใดบ้าง
ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECd สนับสนุน 12 อุตสาหกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสร้างมูลค่าให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ได้แก่
1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดย EECd มีโมเดล Ecosystem ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับความสามารถ รวมถึงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดย EECd มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่การเป็นผู้นำตลาดระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
3. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดย EECd มีพื้นที่โซนต่าง ๆ ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการดึงความพร้อมทางด้านทรัพยากรและปัจจัยสนับสนุนของไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ไทยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพได้
4. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร โดย EECd มีบริการข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปและสำรวจเส้นทางการทำธุรกิจ ที่จะช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายและสร้างผลกำไรเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเติบโตต่อไปในอนาคต
5. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดย EECd มีศูนย์ปฏิบัติการที่พร้อมจะช่วยดึงศักยภาพของประเทศไทยที่มีบริการทางการแพทย์ระดับพรีเมียม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองระดับสากลหลายแห่งให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย
6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดย EECd มีศูนย์ปฏิบัติการหุ่นยนต์ที่พร้อมสนับสนุนธุรกิจระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ภาคสนาม เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน
7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ โดย EECd มีเทคโนโลยีดิจิทัล ศูนย์พัฒนา และศูนย์ข้อมูล Data Center ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมให้เติบโตเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์
8. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดย EECd มีศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการ ศูนย์การวิจัยและพัฒนาด้านคลินิก เพื่อส่งเสริมการสร้างศูนย์การแพทย์ดิจิทัลชั้นนำของเอเชีย
9. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โดย EECd มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวเคมีของเอเชีย
10. อุตสาหกรรมดิจิทัล โดย EECd มีระบบ Ecosystem และ Data Center เพื่อสร้างศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับธุรกิจและอุตสาหกรรมเดียวกันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
11. อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ โดย EECd มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงพร้อมร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนสร้างความมั่นคง ความแข็งแกร่ง และความสำเร็จของกองทัพทั้งในและนอกสนามรบด้วยดิจิทัล
12. อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา โดย EECd มีทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการปฏิบัติงาน พร้อมกับพาร์ทเนอร์และพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของการศึกษาและพัฒนาบุคลากรด้วยโปรแกรมดิจิทัลชั้นสูง พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งอนาคตที่จะช่วยให้การศึกษาเข้าถึงได้ทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐบาล เอกชน และนานาชาติ
มารอติดตามการพัฒนา EECd เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล อีกหนึ่งเมืองอัจฉริยะนำร่องในด้านนวัตกรรมดิจิทัลกันว่า เมื่อพัฒนาเรียบร้อยแล้วจะเป็นอย่างไร และจะสามารถดึงดูดกลุ่มธุรกิจและบุคลากรในสายเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจากทั่วโลกได้มากเพียงใดในการเข้ามาลงทุน พร้อมนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะที่จะช่วยส่งเสริมให้ไทยมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณข้อมูล:
https://eecd.eeco.or.th/th/ https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1026922#google_vignette