จาก Big Data สู่ City Health Check TH แพลตฟอร์ม Open Data ด้านกิจกรรมทางกาย เพื่อพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิต

ปัจจุบัน ความเสี่ยงด้านสุขภาพมีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อด้านสาธารณสุข แต่ยังฉุดรั้งการพัฒนาเมืองในหลายมิติ หลายประเทศทั่วโลกจึงหันมาใช้ Big Data และเทคโนโลยีในการออกนโยบายด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เช่น โครงการ “Car-Free Diet” ของเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ที่นำข้อมูลเชิงลึกมาสนับสนุนการออกนโยบายและพัฒนาเครื่องมือกระตุ้นการออกกำลังกาย เช่น เครื่องคิดเลขบอกการเผาผลาญแคลอรีที่เกิดจากการเดิน แผนที่ควบคุมอาหารปลอดรถยนต์ เป็นต้น
นโยบายเหล่านี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการใช้คลังข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณภาพมาการขับเคลื่อน เช่นเดียวกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูล จึงร่วมมือกับบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด พัฒนา “แพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย City Health Check TH” ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในงาน “PA Data-Driven Health and Wellbeing ขับเคลื่อนสุขภาพและความเป็นอยู่ด้วยข้อมูลกิจกรรมทางกาย” เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มนี้คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และเป็นกุญแจสู่การพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืนได้จริงหรือไม่ มาทำความรู้จักกันครับ
Big Data เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับแพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย City Health Check TH มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไม Big Data ถึงสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพ โดย Big Data เป็นเสมือนคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนและหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านสุขภาพ ทั้งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล แจ้งเตือนสถานการณ์ วิเคราะห์แนวโน้ม รวมถึงประเมินจุดอ่อนและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษา ตลอดจนการนำไปพัฒนาระบบสาธารณสุขและการดูแลผู้ป่วยได้
Big Data Platform: ให้เป็นกุญแจสู่การพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
อย่างที่กล่าวไปว่าความเสี่ยงด้านสุขภาพมีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้น จึงทำให้การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดิมไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกต่อไป Big Data Platform จึงเป็นทางออกสำคัญที่ไม่เพียงช่วยจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่ยังบูรณาการ วิเคราะห์ คาดการณ์ และสนับสนุนการตัดสินใจที่แม่นยำด้วย
1. การรวบรวมและจัดการข้อมูลขนาดใหญ่
ความท้าทายในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จาก Big Data ทุกวันนี้ก็คือ การได้ข้อมูลจำนวนมากจากทุกทิศทางแบบกระจัดกระจาย ทั้งจากแบบสอบถาม ระบบสุขภาพ โซเชียลมีเดีย อุปกรณ์ IoT หรือเซนเซอร์ต่าง ๆ แต่ไม่รู้จะรวบรวมหรือนำมาใช้อย่างไร จึงควรหาโครงสร้างหรือแพลตฟอร์มที่รองรับข้อมูลปริมาณมหาศาลเข้ามาจัดการ ทั้งการรวบรวม ประมวลผล และคาดการณ์ เพื่อนำไปสู่การใช้ข้อมูลในการแก้ปัญหาในแต่ละโจทย์
2. การบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูล
นอกจากความท้าทายในการรวบรวมข้อมูลแล้ว การบูรณาการข้อมูลก็เป็นอีกอุปสรรค เนื่องจากข้อมูลในแต่ละหน่วยงานหรือแผนกมักนิยมเก็บในรูปแบบไซโล (Silo) ของใครของมัน ไม่มีการบูรณาการและเชื่อมโยงกัน ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์นโยบายสุขภาพ การแก้ปัญหาก็คือการจัดหาเครื่องมืออย่าง Big Data Platform มาบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายรูปแบบและระบบ เพื่อให้ข้อมูลไม่เกิดความซ้ำซ้อน มีคุณภาพมากพอที่จะนำไปวิเคราะห์ต่อได้
3. การวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้ม
การวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มด้านสุขภาพ ต้องอาศัยข้อมูลเป็นกลไกสำคัญ การรวบรวมและการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ไว้ในที่เดียว ช่วยให้การวิเคราะห์และคาดการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาระบบและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการดำเนินงานส่วนนี้จะยกระดับการวางแผนด้านสุขภาพแบบเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
4. การสนับสนุนการตัดสินใจให้แม่นยำ
Big Data Platform ที่มีข้อมูลคุณภาพ เชื่อถือได้ และเป็นปัจจุบัน จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
ทำความรู้จักแพลตฟอร์ม City Health Check TH
คงพอมองภาพกันออกแล้วว่าการจัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างไร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock Analytics) ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมทางกายโดยการใช้แพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า City Health Check TH หรือแพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย
City Health Check TH หรือแพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย เป็นฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ในรูปแบบ Open data ที่รวบรวมข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายจากภาคีเครือข่าย สสส. ซึ่งสามารถแสดงผลข้อมูลด้านกิจกรรมทางกาย พร้อมแนวโน้มสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และวางแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ของประชาชน เป็นต้น แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะ 1: การรวบรวมข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากภาคีเครือข่าย สสส. รวมกว่า 36 ชุดข้อมูล ในรูปแบบ Big Data Platform เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและครอบคลุม เช่น ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางการ จำนวนประชากรรวมและตามช่วงอายุ ข้อมูลประชากรที่มีกิจกรรมทางกาย ข้อมูลค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ข้อมูลประชากรที่เป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นต้น
ระยะ 2: ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จัดเป็นการยกระดับแพลตฟอร์มของ สสส. ให้กลายเป็น Digital Governance และจัดทำ Health City Index โดยมุ่งเน้นการขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลครบถ้วน มีความน่าเชื่อถือ และตอบสนองต่อความต้องการที่ดีขึ้น
ระยะกลาง: การสร้างศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางด้านสุขภาวะและเพิ่มความหลากหลายของ Use Case เพื่อตอบโจทย์หลายรูปแบบ
ระยะยาว: สร้างศูนย์รวมข้อมูลด้านสุขภาวะ (Data Hub)
ประโยชน์และศักยภาพของแพลตฟอร์ม City Health Check TH
แพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย City Health Check TH ไม่เพียงเป็นฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ด้านกิจกรรมทางกายที่ใช้สนับสนุนการวิเคราะห์และวางแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น
1. เป็นสถาปัตยกรรมของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ทางด้านสุขภาวะของคนไทยเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรกับ สสส. เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
2. สะท้อนให้เห็นว่า สสส. ตระหนักถึงการขับเคลื่อนเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทางด้านเทคโนโลยี โดยเผยแพร่ให้กับทุกภาคส่วน (ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม) และทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยอย่างยั่งยืน
4. มีระบบอัจฉริยะวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยนำปัจจัยในด้านคะแนนสุขภาวะ (Healthy City Index) มาใช้ร่วมกับ Machine Learning Insights
HEALTHIER LIVES: ปั้นเมืองอัจฉริยะและสุขภาวะยั่งยืน
แพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย City Health Check TH เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนา Big Data Platform ในโครงการพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมทางกายโดยการใช้แพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่เท่านั้น ก้าวต่อไปของโครงการนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า
1. การสร้างแผนสำหรับพัฒนากิจกรรมทางกายรายบุคคลด้วย Machine Learning และ AI เช่น แผนกิจกรรมใกล้ตัว การแจ้งเตือนอัจฉริยะตามวิถีชีวิตเฉพาะบุคคล
2. การสร้างระบบแนะนำสถานที่ กิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายในละแวกใกล้เคียง โดยการใช้ Machine Learning (Recommendation system)
3. การสร้างรายงานสรุปกิจกรรมทางกายรายสัปดาห์และรายเดือนเปรียบเทียบกับผู้อื่นในละแวกใกล้เคียงหรือเพื่อน Community เช่u Physical activity challenge
4. การสร้างระบบวิเคราะห์ระยะเวลาที่ต้องกระตุ้นให้เกิดการทำซ้ำของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยใช้ Machine Learning ตรวจจับพฤติกรรมทางกายที่มีแนวโน้มแย่ลง เพื่อกระตุ้นและแจ้งเตือนให้กลับมาทำกิจกรรมเช่นเดิม
5. การสร้างระบบ Chatbot ผู้เชี่ยวชาญเสมือนให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกายเพื่อให้ส่งเสริมและเพิ่มความรู้อย่างทั่วถึง แนะนำข้อมูลส่วนบุคคล
6. ระบบ Geolocation Intelligence ช่วยในการวิเคราะห์การวางผังเมือง เช่น การออกแบบทางเท้าและทางจักรยานให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัย
แพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย City Health Check TH ถือเป็นปฐมบทสำคัญในการใช้คลังข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณภาพ ครบถ้วน และมีความน่าเชื่อถือมาสนับสนุนการวิเคราะห์และวางแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิภาพของ สสส. พร้อมต่อยอดให้ผู้สนใจนำข้อมูล Open Data ไปพัฒนาในมิติอื่น หากสนใจสามารถเข้าชมและใช้งานแพลตฟอร์มกิจกรรมทางกาย City Health Check TH ได้ที่ https://thaihealth-physicalactivity.com/
ขอบคุณข้อมูล