สำรวจแนวทางจาก 3 ท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีพลิกระบบสุขภาพปฐมภูมิ รับบริการสะดวก เชื่อมโยงข้อมูลครบ ติดตามไม่มีพลาด

การดูแลสุขภาพระดับท้องถิ่นเผชิญกับความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ รวมถึงข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ ส่งผลให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องรับหน้าที่ในการบริหารจัดการต้องเร่งปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์อัจฉริยะช่วยบันทึก วินิจฉัย และติดตามอาการ ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ รวมถึงระบบศูนย์รวมบริการด้านสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จที่ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกและทั่วถึงมากขึ้น
เบดร็อคจะชวนมารู้จักกับ 3 ท้องถิ่นที่นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการและบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างน่าสนใจ สะท้อนถึงการปรับตัวในงานด้านสุขภาพระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
เทศบาลนครขอนแก่น
เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชน ต้องการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เข้าถึงบริการอย่างสะดวก รวมทั้งยังต้องการลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดการใช้ทรัพยากร จึงได้นำระบบ Care Kit จากบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จํากัด (Bedrock) มาช่วยบันทึกข้อมูลจากการลงพื้นที่เข้าสู่ระบบสุขภาพแบบอัตโนมัติ เริ่มนำร่องที่ชุมชนทุ่งเศรษฐี และศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาล ทำให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถบันทึกข้อมูลแบบอัตโนมัติทันทีหลังจากที่วัดความดันโลหิต วัดน้ำตาลในเลือด วัดอุณหภูมิ และวัดออกซิเจนให้แก่ประชาชน โดยข้อมูลจากเครื่องวัดจะถูกส่งไปยังระบบสุขภาพ เพื่อทำการประมวลผลข้อมูล แยกระดับความเสี่ยงของผู้ป่วย และแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์
หลังจากการใช้ระบบ Care Kit ในพื้นที่นำร่อง พบว่าประชาชนพึงพอใจมากถึง 95 % เนื่องจากช่วยลดระยะเวลารอคอยในหน่วยบริการปฐมภูมิ ประชาชนสามารถดูผลสุขภาพของตนเองได้ผ่านแอปพลิเคชัน ในส่วนของเจ้าหน้าที่สามารถเพิ่มความเร็วและป้องกันความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล ที่สำคัญยังนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคได้ง่ายและแม่นยำขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้นระบบนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เทศบาลนครขอนแก่น ได้รับรางวัลท้องถิ่นที่มีศักยภาพสูง (Local Award) ประจำปี 2567 จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยด้วย
เทศบาลเมืองบึงยี่โถ
เทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี มีความต้องการสร้างศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นสถานพยาบาลปฐมภูมิ (Primary Care Unit หรือ PCU) ใกล้บ้าน ที่มีความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ประยุกต์ทั้งทางด้านการแพทย์จิตวิทยาและสังคม ให้บริการการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งศูนย์สุขภาพชุมชนที่ดีจำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เทศบาลเมืองบึงยี่โถจึงได้ร่วมมือกับบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จํากัด พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP) เพื่อใช้ในการสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านสาธารณสุขของเทศบาล ทั้งการรวบรวม จัดเก็บ และแสดงรายงานด้านสาธารณสุข ทั้งการดูแลปฐมภูมิ การดูแลผู้สูงอายุ และการดูแลกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งยังสามารถติดตามอาการ เฝ้าระวังผู้ป่วยพึ่งพิงแต่ละประเภท วางแผนดูแล และกระจายความช่วยเหลือจาก อสม. ได้ด้วย
องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด
องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ต.ร้อยเอ็ด มองว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ มีบทบาทที่สำคัญของระบบบริการ สุขภาพ หากระบบบริการปฐมภูมิมีความเข้มแข็งย่อมจะทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงได้ขับเคลื่อนงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ด้วยทิศทางการดำเนินงานและการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดแบบเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็น โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพกลุ่มเสี่ยง, โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพ, โครงการ อบจ.ร้อยเอ็ด พบประชาชน ที่มีบริการทางการแพทย์ ตรวจสุขภาพและรักษาโรคเบื้องต้น, การจัดตั้งศูนย์มีสุข, กระบวนทัศน์ รพ.สต.ติดดิน นโยบายที่เน้นการป้องกันดีกว่าแก้ไข หรือเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ เป็นต้น
ด้วยโครงการเชิงรุกจำนวนมาก จึงเกิดความท้าทายเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยบริการสุขภาพแบบบูรณาการ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการ การติดตามการดำเนินงาน การตรวจประเมินคุณภาพและมาตรฐานในการบริการสุขภาพ และการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จํากัด (Bedrock) พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารการดูเเลสุขภาพประชาชน (Smart Health Platform) เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการและบริการด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิ (Primary Care) ที่จะช่วยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพแบบรวมศูนย์ บูรณาการข้อมูลระดับจังหวัด และบูรณาการกับระบบภายในและภายนอก รพ.สต. ได้ ซึ่งภายในแพลตฟอร์มสุขภาพอัจฉริยะจะประกอบไปด้วย ระบบหมออนามัย ช่วยจัดการข้อมูลสุขภาพของ รพ.สต., ระบบบริการด้านสุขภาพสำหรับประชาชนแบบรวมศูนย์ (SHP One Stop Service) ศูนย์รวมทุกบริการทางด้านสุขภาพในที่เดียว และระบบรายงานสถานการณ์สาธารณสุข แผนภาพอัจฉริยะแสดงผลข้อมูลสถานการณ์สาธารณสุขแบบเรียลไทม์
การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการดูแลสุขภาพระดับท้องถิ่นของเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองบึงยี่โถ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพบริการสุขภาพ ลดภาระบุคลากร และยกระดับการบริหารจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืนในระยะยาวได้ หากท้องถิ่นของคุณกำลังมองหาแนวทางพัฒนา ลองนำโมเดลเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับท้องถิ่นของคุณกันได้นะครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
https://www.facebook.com/share/p/13n7sZzRB9/
https://www.facebook.com/share/p/14oEsq1JDb/