Cyborg Psychology แนวคิดในการนำ AI มาทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
AI จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์หรือไม่ นี่คือคำถามคาใจที่พนักงานในแต่ละองค์กรหรือหน่วยงานต่างกังวลว่าวันหนึ่ง AI จะทำงานแทน ทำให้หลายองค์กรที่มีการนำ AI มาใช้งานภายในแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเจอกระแสต่อต้านและไม่ต้องการเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี AI แล้วผู้บริหารจะต้องหากลยุทธ์หรือสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานในองค์กรร่วมมือร่วมใจรับ AI มาสนับสนุนการทำงานอย่างไรดี? Bedrock อยากจะแนะนำให้รู้จักกับแนวคิด “Cyborg Psychology”
Cyborg Psychology คืออะไร
“Cyborg Psychology” หรือจิตวิทยาไซบอร์ก เป็นผลงานวิจัยระดับโลกจาก MIT ในชื่อ Cyborg Psychology: The Art & Science of Designing Human-AI Systems that Support Human Flourishing ของ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร Co-director, MIT Advancing Human-AI Interaction (AHA) Initiative เป็นแนวคิดที่ผสมผสานเทคโนโลยี AI กับจิตวิทยามนุษย์ โดยพบว่า ความเสี่ยงในการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ ไม่ได้เพิ่มศักยภาพของมนุษย์ได้ตามที่คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็น การพึ่งพา AI มากไปจนทักษะมนุษย์ลดลง การขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และการมองว่ามนุษย์กลายเป็นส่วนประกอบ AI เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องออกแบบ AI ที่คำนึงถึงพฤติกรรมและจิตวิทยามนุษย์ โดยไม่ทำให้สูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์ในระยะยาว เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำ AI มาทำงานร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวคิด Cyborg Psychology ที่เน้นการนำ AI มาทำงานร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนี้ ไม่เพียงนำมาใช้ในการออกแบบและพัฒนา AI เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหรือเลือกบริการ AI มาใช้ในแต่ละองค์กรได้ เพื่อให้พนักงานเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความมั่นใจ ลดข้อกังวล พร้อมที่จะตอบรับการใช้ AI สนับสนุนการทำงาน โดยแนวคิดนี้จะมีวิธีการนำ AI มาทำงานร่วมกันมนุษย์ใน 3 มิติหลักด้วยกัน ได้แก่
1. สติปัญญา (Wisdom)
เป็นการนำ AI มาใช้ในกระบวนการการตัดสินใจที่ถูกต้อง รู้เท่าทัน มีหลักการและเหตุผลมากขึ้น ซึ่งการนำ AI มาช่วยในส่วนนี้จะทำให้มนุษย์เรียนรู้ทักษะในการคิดและวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ AI แจ้งเตือนหรือวิเคราะห์ให้นั้นมีเหตุผลอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ ในอนาคตหากมนุษย์สามารถนำข้อมูลหรือเหตุผลแบบที่ AI ทำมาให้แบบอัตโนมัติมาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว AI ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้
2. แรงบันดาลใจ (Wonder)
เป็นการนำ AI มาใช้ในการสร้างบทบาทสมมุติ จำลองวัตถุหรือเหตุการณ์เสมือนจริง เพื่อเรียนรู้ปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น อย่างการนำ AI มาสร้างโมเดลเสมือนจริง Digital Twin เพื่อลดความกังวล ความเครียดให้กับมนุษย์ในกระบวนการทำงาน ตรวจสอบ คาดการณ์ และวางแผนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being)
เป็นการนำ AI มาใช้ในการสนับสนุนสุขภาพจิตและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างการนำ AI มาสร้างแบบจำลองในการคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์เห็นผลกระทบและภาพอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยลดความกังวลและวางแผนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวทางการเลือก AI มาใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสม
การเลือกใช้งาน AI ตามแนวคิด Cyborg Psychology ผู้บริหารจะต้องมีแนวทางในการเลือกใช้หรือพัฒนา AI โดยเน้นให้ AI สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์อย่างกลมกลืน พร้อมสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์และตอบสนองต่อพฤติกรรมที่มนุษย์ต้องการ โดยอาศัย 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
1. เข้าใจ (Understand)
ขั้นแรกเลยก็คือต้องสำรวจและทำความเข้าใจก่อนว่ามนุษย์ และ AI มีความสัมพันธ์และจะส่งผลกระทบต่อกันในมิติใดบ้าง
2. ออกแบบ (Design)
ออกแบบหรือเลือก AI ที่จะสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยแนวคิดในการนำ AI มาทำงานร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้ง 3 มิติหลัก ได้แก่ สติปัญญา (Wisdom) แรงบันดาลใจ (Wonder) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being)
3. พัฒนา (Develop)
พัฒนาหรือปรับปรุง AI ที่จะช่วยเสริมศักยภาพมนุษย์ให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องนำมาซึ่งความสำเร็จทางธุรกิจด้วย
4. ประเมิน (Evaluate)
แน่นอนว่าหลังจากนำ AI มาทำงานร่วมกันกับมนุษย์แล้ว ก็ต้องมีการประเมินผลความสำเร็จหลังการใช้งานว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและการพัฒนาต่อไป
Cyborg Psychology น่าจะเป็นอีกแนวคิดที่ผู้บริหารองค์กรสามารถนำไปเลือกใช้เทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่าเทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้ แต่เทคโนโลยีกับมนุษย์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน นำไปสู่การบริหารจัดการและการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคตได้
ขอบคุณข้อมูล:
https://www-prod.media.mit.edu/projects/cyborg-psychology/overview/