เครื่องมือสุดเจ๋ง เช็กสีผังเมืองง่าย ๆ แบบไม่ต้องเทียบเอง
ก่อนการขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคาร สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการดูสีผังเมืองและการใช้ประโยชน์ของที่ดินของพื้นที่นั้นก่อนว่าเป็นเขตพื้นที่ประเภทใด แล้วแต่ละสีคืออะไร สามารถขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารแบบใดได้บ้าง และในปัจจุบันเครื่องมืออะไรที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นบ้าง วันนี้ Bedrock มีข้อมูลสีผังเมืองและการใช้ประโยชน์ของที่ดินเบื้องต้น พร้อมเทคโนโลยีดี ๆ มาฝากครับ
สีผังเมืองแต่ละประเภท ก่อสร้างอะไรได้บ้าง
สีของผังเมือง คือการกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยคำนึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ ความปลอดภัย เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม สอดคล้องไปกับการแนวคิดและพัฒนาเมืองของแต่ละพื้นที่ สำหรับสีผังเมืองที่จะเห็นกันบ่อย ๆ ก็ได้แก่
1. เขตพื้นที่สีเหลือง: ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
เขตพื้นที่สีเหลือง คือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1- ย.5) มักจะตั้งอยู่ในแถบชานเมือง สามารถขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม สำนักงาน โรงแรม ตลาด อาคารสงเคราะห์รับเลี้ยงสัตว์ สถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา สถานพยาบาล และสถานสงเคราะห์ โดยข้อกำหนดไว้ว่า พื้นที่ ย.1 จะสร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว และ ย.2 สามารถสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ได้ ส่วนพื้นที่ ย.3-ย.4 สามารถสร้างบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารชุดขนาดเล็กและกลางได้
2. เขตพื้นที่สีส้ม: ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
เขตพื้นที่สีส้ม คือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5-ย.7) มักเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน โดยสามารถขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ แต่ถ้าเป็นอาคารชุดที่มีเนื้อที่เกิน 10,000 ตารางเมตร จะต้องตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร หรืออยู่ในระยะ 500 เมตรจากรถขนส่งมวลชน แต่ไม่สามารถขออนุญาตก่อสร้างสถานสงเคราะห์เลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากเสียงจากสัตว์อาจจะรบกวนชุมชนได้
3. เขตพื้นที่สีน้ำตาล: ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
เขตพื้นที่สีน้ำตาล คือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.8-ย.10) เป็นพื้นที่ในบริเวณเมืองชั้นในใจกลางเมือง ที่ดินมักจะมีมูลค่าสูง สามารถขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ ทั้งบ้านพักอาศัย ทาวน์เฮ้าส์ หรืออาคารชุด รวมทั้งยังสามารถนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่จะต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด
4. เขตพื้นที่สีแดง: ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
เขตพื้นที่สีแดง คือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พ.1-พ.5) ที่มีข้อจำกัดน้อยกว่าที่ดินสีอื่น สามารถขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อกิจการด้านการค้า การบริการ และนันทนาการ รวมทั้งก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ประเภทอื่นได้อีกไม่เกิน 25% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ห้ามใช้ประโยชน์เพื่อกิจการโรงงาน (มีข้อยกเว้นตามกฎหมาย) สถานบรรจุเชื้อเพลิง สุสาน การเลี้ยงและทำปศุสัตว์ คลังสินค้า สถานีขนส่ง และสถานกำจัดขยะ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชุมชนและรบกวนการอยู่อาศัยได้
5. เขตพื้นที่สีม่วง : ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า
เขตพื้นที่สีม่วง คือที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (อ.1-อ.3) เป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมลพิษน้อย และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ สามารถขออนุญาตก่อสร้างคลังสินค้า โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว หอพัก คอนโดมิเนียมขนาดเล็ก และร้านค้า รวมถึงใช้ประโยชน์อื่นได้ไม่เกิน 20% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูงกับอาคารชุดขนาดใหญ่ได้
6. เขตพื้นที่สีม่วงเม็ดมะปราง: ที่ดินประเภทคลังสินค้า
เขตพื้นที่สีม่วงเม็ดมะปราง คือที่ดินประเภทคลังสินค้า (อ.3) เป็นพื้นที่ที่ตั้งในทำเลที่ง่ายต่อการคมนาคมขนส่ง โดยสามารถขออนุญาตก่อสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่สำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการบรรจุสินค้า อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ โดยไม่มีการผลิต และอุตสาหกรรมบริการชุมชนที่ไม่ก่อเหตุรำคาญ
7. เขตพื้นที่สีม่วงอ่อน: ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ
เขตพื้นที่สีม่วงอ่อน คือที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ
8. เขตพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว : ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
เขตพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว คือที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1-ก.2) เพื่อพื้นที่ที่ให้ใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมหรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่อาจมีความเสี่ยงเรื่องการระบายน้ำและเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย รวมถึงเพื่อสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ด้วย
9. เขตพื้นที่สีเขียว: ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
เขตพื้นที่สีเขียว คือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม เป็นที่ดินที่สนับสนุนการทำเกษตรกรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน อีกทั้งยังสามารถขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคได้ แต่จะไม่สนับสนุนให้ก่อสร้างโรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (มีข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง)
10. เขตพื้นที่สีเขียวมะกอก: ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา
เขตพื้นที่สีเขียวมะกอก คือที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา สนับสนุนให้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างสถาบันการศึกษาประเภทต่าง ๆ
11. เขตพื้นที่สีน้ำตาลอ่อน: ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
เขตพื้นที่สีน้ำตาลอ่อน คือที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สนับสนุนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในการส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านพาณิชยกรรม การบริการ และการท่องเที่ยว
12. เขตพื้นที่เขตสีเทา: ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา
เขตพื้นที่สีเทา คือที่ดินประเภทสถาบันศาสนา สนับสนุนให้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างวัดและศาสนสถานต่าง ๆ
13. เขตพื้นที่สีน้ำเงิน : ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
เขตพื้นที่สีน้ำเงิน คือที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เป็นพื้นที่ที่สนับสนุนและขออนุญาตก่อสร้างสถานที่ราชการ สาธารณูปการของรัฐ และกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์เท่านั้น
เทคโนโลยีอัจฉริยะช่วยตรวจสอบสีผังเมืองแบบอัตโนมัติ
โดยปกติแล้วผู้ขออนุญาตจะต้องเทียบสีผังเมืองด้วยตนเองก่อนขออนุญาตซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้ บางครั้งผู้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารก็อาจยื่นขออนุญาตไปก่อนแล้วให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจสอบหรือให้คำแนะนำ ทำให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภาระงานและเอกสารจำนวนมากสะสม เป็นเหตุให้ต้องใช้เวลานานในการพิจารณา
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ชื่อว่า ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ (Smart Building Permit Platform) ที่พัฒนาโดย บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับการขออนุญาตและควบคุมอาคารแบบออนไลน์ พร้อม AI ในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ตั้งแต่ตรวจสอบคำขอ พิจารณาคำขอ อนุมัติคำขอ ไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นสำคัญของระบบนี้ก็คือมีฟีเจอร์ให้ประชาชนที่ต้องการขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารสามารถตรวจสอบพื้นที่ขออนุญาต ผลการอนุมัติเบื้องต้น และรับคำแนะนำเรื่องเอกสารแบบอัตโนมัติด้วยตนเองผ่านออนไลน์ก่อนยื่นขออนุญาตจริง เพียงแค่เลือกพื้นที่จะก่อสร้างและประเภทสิ่งปลูกสร้าง ระบบก็แจ้งอัตโนมัติว่าสามารถก่อสร้างได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ระบบจะแจ้งให้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างทางออนไลน์ โดยสามารถกรอกแบบฟอร์มอัจฉริยะด้วยระบบ AI รวมทั้งยังติดตามสถานะทุกขั้นตอนผ่านออนไลน์ ชำระค่าธรรมเนียมออนไลน์ นัดหมายวันตรวจหน้างาน ร้องเรียน และรับใบอนุญาตทางออนไลน์ได้
นอกจากช่วยยกระดับการบริการให้ประชาชนแล้ว ก็ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระ และเวลาในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะมี AI ช่วยตรวจสอบประเภทของเอกสาร, ช่วยบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการลงสำรวจของเจ้าหน้าที่, สามารถตรวจสอบและพิจารณาผ่านระบบ และผู้บริหารยังสามารถอนุมัติผ่านระบบได้ทุกที่ ทุกเวลาอีกด้วย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่สนใจระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ เพื่อยกระดับการบริการตรวจสีผังเมืองและการใช้ประโยชน์ของที่ดินให้กับประชาชน พร้อมเพิ่มความรัดกุมและความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในส่วนงานการขออนุญาตก่อสร้างอาคารและดัดแปลงอาคาร สามารถติดต่อได้ที่อีเมล: [email protected] หรือ Line หรือ Facebook