แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง เครื่องมือช่วยท้องถิ่นยุคใหม่จัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็ก คือบุคคลสำคัญในการดูแลอนาคตของชาติ สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้มีรายได้น้อย ในฐานะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน้าด่านในการแจ้งสิทธิ รับลงทะเบียน และตรวจสอบผู้ได้รับสิทธิ จะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหารายชื่อตกหล่น วันนี้ Bedrock มีเทคโนโลยีน่าสนใจที่น่านำมาประยุกต์ใช้ได้มาฝากกันครับ
โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดคืออะไร
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดกันก่อน โดยเป็นโครงการของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญระดับชาติตามแผนบูรณาการการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เป็นการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมโดยการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนให้แก่เด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจนหรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย รวมทั้งเป็นหลักประกันให้เด็กได้รับสิทธิด้านการอยู่รอดและการพัฒนาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2564) ด้วย
โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจ่ายเท่าไร ใครได้บ้าง
เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นการจัดสวัสดิการให้กับเด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาท โดยจะจ่ายเงินเข้าบัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือน หากตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะจ่ายเงินเด็กแรกเกิดเข้าบัญชีล่วงหน้าก่อนวันหยุด โดยคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด มีดังนี้
คุณสมบัติของเด็กที่จะได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
- เด็กมีสัญชาติไทย โดยพ่อแม่ต้องเด็กมีสัญชาติไทย หรือพ่อหรือแม่เด็กมีสัญชาติไทย
- เด็กแรกเกิด ถึงอายุ 6 ปี
- เด็กไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐหรือเอกชน
- เด็กอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
คุณสมบัติผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
- มีสัญชาติไทย
- เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ
- เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
- อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยคนละไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
เอกสารประกอบการลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
สำหรับเอกสารที่จะต้องใช้ในการลงทะเบียนรอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจะประกอบไปด้วย
1. แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.๐๑)
2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.๐๒)
3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง
4. สูติบัตรเด็กแรกเกิด
5. สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)
6. สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์) ในกรณีที่สมุดสูญหายให้ใช้เฉพาะสำเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึก ข้อมูล และรับรองสำเนา
7. กรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคำร้องขอลงทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท ต้องมีเอกสารใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจำ (สลิปเงินเดือน หรือเอกสารหลักฐานที่นายจ้างลงนาม)
8. สำเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตำแหน่ง หรือเอกสารอื่น ใดที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้ที่ไหน
สำหรับสถานที่ในการลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด หลังจากที่ผู้ปกครองเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว ให้นำเอกสารไปยื่นคำร้องลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้ที่พื้นที่ที่เด็กแรกเกิดและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง ดังนี้
- สำนักงานเขตของพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร
- ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตําบลหรือเทศบาล
- แอปพลิเคชัน “เงินเด็ก" โดยจะต้องเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ThaiD เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
ขั้นตอนการลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดทำอย่างไร
ขั้นตอนการลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดนั้น หลังจากที่เตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถยื่นลงทะเบียนได้ตามช่องทางที่แจ้งไปข้างต้น โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ผู้ปกครองยื่นเอกสารการลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินอุดหนุน ณ สำนักงานที่เด็กอยู่อาศัยหรือช่องทางออนไลน์ตามที่กำหนด
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่รับลงทะเบียนตามที่กำหนดทำการตรวจสอบเอกสาร
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่ลงทะเบียนไว้จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิภายใน 15 วัน
4. หากไม่มีผู้คัดค้าน เจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลเข้าระบบ
5. กรมกิจการเด็กและเยาวชนประมวลผลรายชื่อผู้มีสิทธิและส่งให้กรมบัญชีกลาง
6. กรมบัญชีกลางส่งรายชื่อผู้มีสิทธิให้กรมการปกครองเพื่อตรวจสอบสถานะรายบุคคล
7. กรมบัญชีกลางโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิ
8. กระทรวงสาธารณสุขติดตามประเมินผลพัฒนาการเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ
บทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตําบลหรือเทศบาล มีหน้าที่สำคัญในการแจ้งสิทธิ รับลงทะเบียน ตรวจสอบรายชื่อ ตรวจสอบสิทธิผู้ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด อีกทั้งยังเป็นหน้าด่านสำคัญในการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน มาลงทะเบียนขอรับสิทธิกันอย่างครบถ้วน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเอง
เทคโนโลยีน่าสนใจที่ช่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
จากบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องให้ความรู้ แจ้งสิทธิ รับลงทะเบียน ตรวจสอบรายชื่อ รวมถึงตรวจสอบสิทธิผู้ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จะเห็นว่าความท้าทายหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือการจัดทำรายชื่อผู้ได้รับสิทธิและการเช็กสถานะการรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินอย่างถ้วนหน้า โดยไม่มีปัญหารายชื่อตกหล่น
ดังนั้น การจัดทำระบบฐานข้อมูล ระบบตรวจสอบ และระบบติดตามสถานะที่มีคุณภาพ จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น การนำแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) และแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP) ที่เป็นการนำฐานข้อมูล (Big Data) ที่เกี่ยวข้องกับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด มาผสมผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างแหล่งรวบรวมข้อมูลดิจิทัลที่สามารถจัดเก็บ จัดการ รองรับการเชื่อมต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของคุณ ภาครัฐ เอกชน และที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นจะใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อแสดงผลในรูปแบบรายงานหรือแผนที่ภาพสองมิติและสามมิติที่เข้าใจง่าย ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง อัปเดตล่าสุด
โดยแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) และแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP) เหล่านี้มักมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ไม่ว่าจะเป็น จัดสรรและจัดลำดับผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด การติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด รวมถึงการตรวจสอบสิทธิด้วยตัวประชาชนเอง ในขณะที่เจ้าพนักงานที่รับผิดชอบก็จะมีระบบรวบรวม จัดทำข้อมูล และค้นหารายชื่อในรูปแบบดิจิทัล ที่สำคัญยังประมาณการผู้ที่ได้รับสวัสดิการในปีถัดไป ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลได้แบบองค์รวมและคาดการณ์แนวโน้มได้อย่างแม่นยำ
ผลดีของการจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่มีประสิทธิภาพ
การจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้อย่างครบถ้วน ไม่มีรายชื่อตกหล่น ไม่เพียงช่วยลดภาระและเพิ่มความคล่องตัวทางด้านการเงินให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กแรกเกิด ถึง 6 ปีเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดภาระการดูแลประชาชนในพื้นที่ ช่วยลดความกังวลในการประกอบอาชีพและหารายได้ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองให้สามารถจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ได้คล่องตัวขึ้น ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน ท้องถิ่นก็จะจัดเก็บภาษีได้ดีขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
ดังนั้นหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่เห็นว่าการจัดทำรายชื่อ การตรวจสอบ การติดตามสถานะของผู้รับสิทธิเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดยังขาดประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีอย่างแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองหรือ และแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองมาใช้ก็เป็นทางเลือกยกระดับท้องถิ่นดิจิทัลที่น่าสนใจและได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/83853