ไขศักยภาพ Big Data Platform ด้านกิจกรรมทางกาย สู่นโยบายพัฒนาสุขภาพและเมืองเชิงรุก

ทราบหรือไม่? คนไทยใช้เวลาเนือยนิ่งเฉลี่ยถึง 14.36 ชั่วโมงต่อวัน โดยวัยเด็กมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าวัยทำงานและวัยสูงอายุ ไม่เพียงเท่านั้นสุขภาพของคนไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่น่าวิตกกับการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไม่ได้มาจากการคาดเดา แต่มาจากการสรุปและวิเคราะห์ของ Big Data ด้านกิจกรรมทางกาย ที่สามารถนำไปวางแผนนโยบายและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้ผู้บริหารภาครัฐและเอกชนเข้าใจถึงศักยภาพของ Big Data แนวทางในการจัดเก็บข้อมูล และการใช้ Big Data Platform ในการยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน เบดร็อค อนาไลติกส์ จึงได้สรุป 3 ประเด็นน่าสนใจจากการเสวนากับผู้เชี่ยวชาญในงาน “PA Data-Driven Health and Wellbeing: กิจกรรมเปิดตัวแพลตฟอร์มส่งเสริมกิจกรรมทางกายสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับคนไทยทุกกลุ่มวัย” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock Analytics) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 มาฝาก
BIG DATA สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างไร
ประเด็นแรกเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจว่า BIG DATA สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง และในปัจจุบันยังพบความท้าทายใดอยู่
เริ่มที่ ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา ที่ได้แลกเป็นความคิดเห็นในฐานะท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ใกล้ชิดประชาชน และผู้ใช้แพลตฟอร์ม City Digital Data Platform (CDDP) มองว่าข้อมูลมีความสำคัญมากกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงควรจะนำข้อมูลมาผสานกับเทคโนโลยี แต่สิ่งแรกคือต้องสร้าง Digital mindset ให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ให้เห็นโอกาสว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตอบโจทย์มากกว่า ซึ่งในปัจจุบันประชาชนมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีสูง ทำให้ท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน ต้องปรับตัวให้ทันตาม เมืองของเราจึงนำเครื่องมือมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับข้อมูลที่ได้มาถึงจะนำไปพัฒนางานสุขภาพเชิงท้องถิ่นได้อย่างตรงจุด จึงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดการกับข้อมูลที่ได้มา
ขณะที่ รศ.ดร.ทศนัย ชุ่มวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อมูลกับเทคโนโลยีไม่ได้มีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนแผนรัฐบาลดิจิทัลด้วย โดยจะต้องพัฒนาแบบบูรณาการ ทั้งบุคลากร การดำเนินงาน และเทคโนโลยีในทุกภาคส่วน แต่ยังติดข้อจำกัดในเรื่องผู้รับผิดชอบ รูปแบบการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงความปลอดภัยและกฎหมาย ในส่วนนี้อาจจะต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยรวมศูนย์และจัดการข้อมูล เพื่อให้นำไปใช้งานได้จริง
ดร.จักรพันธ์ จุลละโพธิ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม City Digital Data Platform (CDDP) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมของผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม CDDP มองว่าทุกการพัฒนาเริ่มจากข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณภาพ จึงเริ่มขับเคลื่อนการใช้แพลตฟอร์ม CDDP ให้กับหน่วยงานที่ดูแลประชาชนโดยตรงอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อัปเดตข้อมูลบ่อย ทำให้ง่ายต่อการจัดทำฐานข้อมูลกลาง พัฒนาเครื่องมือจัดเก็บและบันทึกข้อมูลเรียลไทม์แบบอัตโนมัติ โดยที่บุคลากรไม่ต้องเสียเวลาทำเอง และนำไปสู่การใช้ข้อมูลของระบบประกอบการตัดสินใจ
Big Data Platform ด้านกิจกรรมทางกายจะทำให้คนมีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร
ประเด็นต่อมาคือควรจะจัดเก็บข้อมูลอย่างไร และนำ Big Data Platform หรือระบบศูนย์กลางในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายมาใช้อย่างไรจึงจะทำให้คนมีสุขภาพดีขึ้นได้ เริ่มที่มุมมองของผู้บริหารเมืองอย่าง ดร.ศิวัช บุญเกิด ที่ให้ความเห็นว่าการจัดการกับปัญหาสุขภาพทั้งกาย ใจ และปัญญา จะต้องมองถึงสิ่งแวดล้อมทางสุขภาพด้วย เช่น หากเศรษฐกิจไม่ดี คนก็จน การดูแลสุขภาพก็ไม่ดีตามไปด้วย ดังนั้น การจัดการปัญหาสุขภาพจึงใช้แค่ข้อมูลสุขภาพไม่ได้ แต่ต้องมีข้อมูลอื่นประกอบด้วย พัทยาจึงใช้ Big Data Platform ในการเก็บและจัดการข้อมูลแบบองค์รวม แล้วนำมาแยกย่อยเป็น 4 ชุด (เขียว เหลือง ส้ม แดง) เพื่อแปลงเป็นนโยบายด้านการวางแผนสุขภาพของเมืองในแต่ละส่วน เช่น แผนการดูแลสุขภาพรายบุคคล มหกรรมสุขภาพ สร้างพื้นที่สีเขียว
เช่นเดียวที่ รศ.ดร.ทศนัย ชุ่มวัฒนะ ที่มองว่า ควรมีการจัดทำ Health City Index ของแต่ละพื้นที่ไว้ โดยข้อมูลนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อมูลด้านสุขภาพ แต่ยังรวมถึงข้อมูลอื่นด้วย เช่น ข้อมูลเชิงพื้นที่ พื้นที่สาธารณะ โครงสร้างพื้นฐาน ค่ามลพิษ ความปลอดภัย เป็นต้น โดยเมื่อมีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ก็ให้เลือกชั้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้ได้ทันที วิธีนี้จะทำให้สามารถออกนโยบายเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่แบบหว่านแหได้ ซึ่ง Big Data Platform จะเข้ามาตอบโจทย์ในการจัดเก็บและจัดการข้อมูล ทั้งการจัดระบบข้อมูลจากภาครัฐและเอกชน จัดหาข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงคัดกรองความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
ขณะที่ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม CDDP กล่าวว่า Big Data Platform จะทำให้เรามีโอกาสไปช่วยเขาใน Golden Hour ที่สำคัญสุดในชีวิต เพราะไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น แต่ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี หากผู้ใช้งานมีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ก็จะรู้ว่าเขามีความเสี่ยงอย่างไร กินอาหารแบบใด และควรดูแลแบบไหน เช่นก่อนหน้าได้ร่วมมือกับเทศบาลนครขอนแก่นในการใช้อุปกรณ์ CARE KIT และแพลตฟอร์ม CDDP ในการสนับสนุนงาน อสม. ซึ่งผลจากการที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ บันทึกข้อมูลอัตโนมัติ และแสดงผลเรียลไทม์ผ่านแดชบอร์ดที่เข้าใจง่าย จึงทำให้ประชาชนถูกใจที่รู้ข้อมูลแล้วนำไปดูแลสุขภาพตนเองง่ายขึ้น ในส่วนเจ้าหน้าที่ก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด
ภาพอนาคตและความท้าทายในการใช้ Big Data Platform ด้านกิจกรรมทางกาย
ประเด็นสุดท้ายก็คือโอกาสของการพัฒนาและการใช้งาน Big Data Platform ด้านกิจกรรมทางกายว่าจะไปในทิศทางใด มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองได้อย่างไรบ้าง
มุมของผู้บริหารเมือง ดร.ศิวัช บุญเกิด มองการณ์ไกลภาพอนาคตของ Big Data Platform ด้านกิจกรรมทางกาย ว่าเป็นโอกาสของรายได้ ลดต้นทุนรายจ่าย สร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของเมือง โดยการที่มีข้อมูลกิจกรรมทางกายจะช่วยวางแผนการดำเนินการลดปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบเมืองในมิติต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทั้งด้านสาธารณสุข ด้านสวัสดิการ ด้านความมั่นคง เสริมความน่าอยู่ให้เมือง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญนำไปสู่การสร้างรายได้ในด้านการท่องเที่ยว ทั้งท่องเที่ยวระยะสั้น และพำนักระยะยาว
มุมของผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data รศ.ดร.ทศนัย ชุ่มวัฒนะ มองว่า Big Data Platform ด้านกิจกรรมทางกาย จะนำไปสู่การสร้างศูนย์ข้อมูลทางด้านสุขภาวะแห่งชาติ ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยจะเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการออกนโยบาย สามารถตอบทุกเรื่องสุขภาพได้ มีปัญญาประดิษฐ์ช่วยคาดการณ์และทำนายผลกระทบในอนาคต พร้อมแนะนำนโยบายเฉพาะเรื่องเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยลดงบด้านสาธารณสุข และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ดี
ขณะที่มุมของผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม CDDP ดร.จักรพันธ์ จุลละโพธิ มองภาพอนาคตของ Big Data Platform ว่าจะเป็นตัวช่วยลดต้นทุนด้านการจัดเก็บ การบูรณาการ และการพัฒนาข้อมูลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นปัจจุบัน พร้อมเป็นตัวเชื่อมให้ทุกภาคส่วนที่มีเป้าหมายร่วมกัน ด้วยการพัฒนาให้ทุกคนมีพื้นที่ที่สามารถเข้ามาอัปเดตข้อมูลร่วมกันได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีคุณภาพ อัปเดต และสะท้อนความจริง ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารหรือผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สังคมและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สาระความรู้ที่เบดร็อค อนาไลติกส์เก็บเกี่ยวมาจากเสวนา คงจะเป็นแนวทางในการจัดเก็บข้อมูล และสะท้อนให้เห็นว่า Big Data ด้านกิจกรรมทางกายที่มี Big Data Platform มาช่วยจัดเก็บ จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล ไม่เพียงช่วยประกอบการตัดสินใจในการพัฒนานโยบายเชิงรุกด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดสู่มิติอื่นได้อย่างมีประสิทธิผล หากสนใจฟังเสวนาแบบเต็ม ๆ สามารถรับชมและรับฟังได้ที่: https://www.facebook.com/share/v/12FWDgUXTcs/