ประโยชน์และความเสี่ยงในการนำ AI มาใช้ในการยกระดับเมืองอัจฉริยะ
ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI คือหนึ่งในเทคโนโลยีอันชาญฉลาดที่หลายเมืองอัจฉริยะนำมาประยุกต์ใช้ ว่าแต่ที่จริงแล้ว AI ดีจริงหรือไม่ จะนำมายกระดับเมืองตรงไหนได้บ้างถึงจะเหมาะสม และมีความเสี่ยงหรือข้อควรระวังหรือไม่ บทความนี้รวบรวมทุกความสงสัยมาให้แล้ว
AI นำมาใช้ยกระดับเมืองอัจฉริยะอย่างไรได้บ้าง
AI ถูกนำมาใช้เป็นโซลูชันในหลากหลายวงการ รวมถึงนำมาใช้ในการยกระดับเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วย ซึ่ง AI สามารถนำมาใช้ในด้านการบริหารจัดการเมือง การพัฒนาเมือง การวางผังเมือง การแก้ปัญหาให้เมือง รวมถึงใช้ในการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูล เพื่อยกระดับการบริการประชาชน ตัวอย่างเช่น
1. การวางผังเมือง
AI หรือปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงนำมาใช้ในการออกแบบผังเมือง เพียงแค่ป้อนชุดคำสั่งและข้อมูลเข้าไป ระบบก็จะสามารถสร้างโมเดลเมืองจำลองหรือสถานการณ์จำลองออกมาให้แบบอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้บริหารเมืองนำไปใช้ประกอบการออกแบบและการตัดสินใจในการพัฒนาเมือง วางผังเมือง หรือบริหารจัดการสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ทีมนักผังเมืองและนักวิทยาศาสตร์จาก Tsinghua University ประเทศจีน ได้ทำการพัฒนาระบบการวางผังเมืองด้วย AI โดยเริ่มต้นจากการใช้โปรเจกต์ที่ออกแบบโดยมนุษย์ แล้วให้ AI ฝึกฝนระบบด้วยตนเอง ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญสามารถทำสำเร็จได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น หรืออีกตัวอย่างก็ที่เมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) ในสเปน ได้พัฒนาอัลกอริทึมที่ชื่อว่า Mercè เพื่อช่วย AI ในการเรียนรู้พฤติกรรมของประชาชนในเมือง แล้วสร้างรูปแบบเมืองที่น่าอยู่ขึ้นมาว่าควรมีลักษณะอย่างไร
2. การจัดการจราจรและขนส่งสาธารณะ
ในเมืองอัจฉริยะ มักมีการใช้ระบบการจราจรและการขนส่งสาธารณะแบบอัจฉริยะ ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญก็คือการนำ AI มาช่วยในการบริหารจัดการ โดย AI มักถูกใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร การควบคุมสัญญาณไฟจราจร การตรวจจับความเรียบร้อยหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ บนท้องถนน การควบคุมความคล่องตัวของยานพาหนะ รวมถึงการวางแผนเส้นทางและการจราจรภายในเมืองอัจฉริยะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วมากที่สุด เช่น AI4Citie โครงการนำร่องที่เปิดตัวในปารีสหรือเฮลซิงกิ มีการใช้ AI ช่วยเพิ่มจัดการสัญญาณไฟจราจร ลดการหยุดและรอที่สัญญาณไฟโดยไม่จำเป็น ผลลัพธ์ที่ได้พบว่า การจราจรมีความคล่องตัว และยังช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการจราจรได้ถึง 2%
3. การวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน
โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ คือสิ่งที่เมืองอัจฉริยะจะนำมา AI มาสนับสนุนในการดูแลและการวางแผนจัดสรร เนื่องจากการนำ AI มาผสานกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพและสร้างแบบจำลองของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการตามสถานการณ์ที่กำหนดได้ รวมถึงยังสำรวจ คาดการณ์ และแจ้งเตือนจุดที่ต้องดูแลและซ่อมบำรุงได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้เมืองสามารถบริหารจัดการงบประมาณ ซ่อมบำรุง ออกแบบเมืองเพื่อรองรับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เมืองซานโฮเซ (San José) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้มีการรวบรวมข้อมูลการจราจรของคนเดินเท้าเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ด้วยการวัดจำนวนคนที่เข้าและออกจากสถานที่หนึ่งในช่วงเวลาที่กำหนด แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาผสานกับการใช้ AI ในการวิเคราะห์ว่าประชาชนใช้สวนสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่นันทนาการอย่างไร ก่อนจะนำไปสู่การปรับปรุงบริการและการบำรุงรักษา
4. การจัดการพลังงาน
หนึ่งในความสามารถของ AI ก็คือการเรียนรู้ ประมวลผล และวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้แม่นยำ จึงทำให้ถูกนำมาใช้ในด้านการจัดการพลังงานในเมืองอัจฉริยะ โดยมักนำมาใช้ในการควบคุมระบบไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถปรับการใช้ไฟฟ้า ติดตามการใช้ไฟฟ้า และจ่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา ทำให้เมืองประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการผลิตได้
5. ป้องกันและคาดการณ์ภัยพิบัติ
AI มีความสามารถในการคาดการณ์และสร้างแบบจำลองสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ เมืองอัจฉริยะจึงมักนำมาใช้ในการวางแผนรับมือ ประเมินความเสี่ยง และแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า เช่น เทศบาลตำบลลำพญา นครปฐม มีการนำระบบจัดการภัยพิบัติ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง จาก Bedrock ที่ใช้ AI และ Machine Learning มาจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งอดีตและปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์ ประมวลผล คาดการณ์ผลกระทบ ความเสี่ยง และทิศทางของน้ำท่วม พร้อมแสดงผลผ่านแผนที่จำลองข้อมูลให้ผู้ใช้งานเข้าใจได้ง่าย เห็นข้อมูลเรียลไทม์ สามารถจัดการน้ำท่วมได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดน้ำท่วม
6. การรักษาความปลอดภัย
เครื่องมือสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยให้ประชาชนในเมืองอัจฉริยะ ก็คงจะหนีไม่พ้นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เช่นเดียวกัน เพราะกล้องวงจรปิดที่มีระบบ IoT หรือติดตั้งเซนเซอร์ AI จะสามารถตรวจจับวัตถุต้องสงสัยหรือพฤติกรรมผิดปกติ แล้วแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติไปยังเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าระงับเหตุหรือแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ป้องกัน และลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเมืองได้
7. การให้บริการสาธารณะ
การทำให้ประชาชนในเมืองอัจฉริยะเข้าถึงและได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส เทคโนโลยีคือตัวช่วยสำคัญที่จะรังสรรค์สิ่งนี้ได้ ซึ่ง AI ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ เรียนรู้ และประมวลผลด้วยตนเองจึงได้รับความนิยมในการนำมาสร้างระบบบริการออนไลน์ให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การยื่นขออนุญาตหรือการชำระภาษีทางออนไลน์ การรับเรื่องและส่งต่อเรื่องร้องเรียนแบบอัตโนมัติ การตอบคำถามอัตโนมัติให้แก่ประชาชน การติดตามสุขภาพของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เป็นต้น
ความเสี่ยงที่ของการนำ AI มาใช้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ
รายงาน AI and Cities ของ UN-Habitat หรือโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงความเสี่ยงในการทำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ดังนี้
1. ความโปร่งใส
ก่อนที่จะนำ AI มาใช้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย กำหนดแนวทาง และจัดจ้างผู้พัฒนา ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจมีความเสี่ยงในเรื่องของความโปร่งใสและการทุจริตเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและตัดสินใจในการกำหนดแผนการใช้ AI ด้วย โดยอาจแจ้งให้ประชาชนทราบถึงเป้าหมาย การนำไปใช้ ผลลัพธ์ที่ได้ แล้วเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อหาข้อสรุปที่คนส่วนใหญ่ยอมรับร่วมกัน เป็นต้น
2. ประสิทธิภาพของ AI
เมื่อเข้าสู่ช่วงของการออกแบบและพัฒนา AI ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ศักยภาพและประสิทธิภาพของเทคโนโลยี AI ที่จะใช้คือความเสี่ยงที่จะต้องระวังว่าจะดีมากพอที่จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องศึกษาและสอบถามผู้พัฒนาที่จัดจ้างมาให้มั่นใจก่อนพัฒนาระบบต่าง ๆ การจัดทำข้อมูลให้มีคุณภาพก่อนที่จะทำการพัฒนาจนออกมาเป็นระบบตามที่ต้องการ การเลือกผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาระบบ เป็นต้น
3. ความปลอดภัยของข้อมูลและการรักษาความเป็นส่วนตัว
เมื่อนำ AI มาพัฒนาจนเป็นระบบที่ใช้งานจริงแล้ว ความเสี่ยงต่อมาที่จะพบก็คือเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลและการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ดังนั้น จึงต้องวางแผนป้องกันให้ดีตั้งแต่อยู่ในช่วงของการพัฒนาระบบว่าจะมีระบบป้องกันอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยทางไซเบอร์และรักษาความเป็นส่วนตัวให้แก่ประชาชน และหากเกิดปัญหาจะมีการวางแผนรับมืออย่างไร
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นการจากนำ AI มาพัฒนาเป็นระบบต่าง ๆ ในเมืองอัจฉริยะล้วนเป็นความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ยิ่งเมื่อเทียบความคุ้มค่าจากประโยชน์ที่ได้รับย่อมมากกว่า ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจนำ AI มาใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะก็อย่าลืมคำนึงถึงความเสี่ยง บริบทของเมือง และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกส่วนด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.tomorrow.city/what-is-ai-urbanism/
https://readthecloud.co/ai-and-urban-planning/
https://www.chatstickmarket.com/single-post/aiandsmartcitydevelopment#google_vignette