6 เทคนิคการเป็นผู้นำท้องถิ่นยุคดิจิทัล ที่ลูกน้องรัก ประชาชนชอบ
ยุคดิจิทัลที่โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกการดำเนินการมีความรวดเร็ว ความต้องการมีหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้ผู้นำท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการท้องถิ่นแทบทุกวัน ทั้งเรื่องการแก้ปัญหา การพัฒนาเมือง การบริการ การบริหารคน และการดูแลประชาชน เพื่อปลดล็อกกรอบการบริหารงานแบบเดิมให้ลูกน้องรัก ประชาชนชอบ สอดรับยุคดิจิทัล มาดูแนวทางการบริหารงานท้องถิ่นในยุคดิจิทัลกัน
1. ผู้นำท้องถิ่นต้องอัปเดตเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ
การที่ผู้นำท้องถิ่นเปิดกว้างและเรียนรู้อยู่สม่ำเสมอ ให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ย่อมนำไปสู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิผลดีมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นผู้นำท้องถิ่นจึงควรรู้เท่าทันและหมั่นอัปเดตเทคโนโลยีอยู่เสมอให้สามารถนำไปพัฒนาการบริหารจัดการเมืองและยกระดับบริการของท้องถิ่นได้ ซึ่งไม่เพียงแค่อัปเดตเท่านั้น ยังต้องรู้ลึกและเข้าใจอย่างแท้จริงในเทคโนโลยีที่จะตัดสินใจนำมาประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นด้วย ยิ่งกว่านั้นนอกจากผู้บริหารท้องถิ่นยังมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอด สร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้พนักงานท้องถิ่นได้รับความรู้ พร้อมส่งเสริมให้ทุกคนมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีหรือระบบดิจิทัลที่ท้องถิ่นนำมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานด้วย
2. ผู้นำท้องถิ่นต้องคำนึงถึงส่วนรวม
ประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน หนึ่งในหลักการที่ผู้นำท้องถิ่นซึ่งได้รับเลือกมาจากประชาชนจะต้องคำนึงถึง โดยอาจนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนในทุกกลุ่ม ตั้งแต่พนักงานท้องถิ่นให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย มีอิสระ สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการและการบริการประชาชน ไปจนถึงเทคโนโลยีที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน เพื่อผลักดันเมืองให้มีศักยภาพสามารถในการแข่งขันกับเมืองอื่น มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
3. ผู้นำท้องถิ่นต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ปัจจุบันในยุคดิจิทัล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักมีคนทำงานที่หลากหลายช่วงวัย จนอาจเกิดช่องว่างระหว่างวัยในการทำงานร่วมกันได้ ผู้นำท้องถิ่นจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังและให้คำแนะนำที่ดี มีความเข้าใจ มีความฉลาดทางอารมณ์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกคนอย่างเท่าเทียมกันและเปิดใจกับทุกความคิดเห็น เพื่อให้พนักงานท้องถิ่นและประชาชนกล้าที่จะแบ่งปันข้อมูลหรือความรู้ในแบบของเขา ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาหรือสร้างสิ่งใหม่ที่จะพัฒนาเมือง ประชาชน หรือพนักงานได้อย่างยอดเยี่ยมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นตัวกลางในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ให้เกิดความร่วมมือร่วมใจด้วย
4. ผู้นำท้องถิ่นต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ดี
โลกทุกวันนี้คือยุคแห่ง Big Data ที่มีข้อมูลปริมาณมหาศาล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกันกับปัญหาของเมืองที่มากขึ้นทุกวันตามไปด้วย ดังนั้นผู้นำท้องถิ่นจะต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ดี โดยอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลมาใช้ในการตัดสินใจประกอบกับการใช้ประสบการณ์แบบเดิม ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่จะนำมาช่วยในการจัดการข้อมูล รวบรวมข้อมูล รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำผลสรุปข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ที่มีเทคโนโลยีอัจฉริยะในการรวบรวม เชื่อมโยง และจัดการข้อมูล พร้อมใช้ AI และ Machine learning มาช่วยวิเคราะห์ รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มที่แม่นยำ แล้วแสดงผลในรูปแบบแผนที่สามมิติและสรุปรายงาน จึงทำให้ผู้นำท้องถิ่นเห็นภาพรวมของเมืองที่ลึกและกว้าง นำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาให้เมืองได้อย่างตอบโจทย์มากขึ้น
5. ผู้นำท้องถิ่นต้องส่งเสริมให้ทุกคนได้พัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ
ในยุคที่ไร้พรมแดน ความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การพัฒนาให้เท่าทันโลก การเรียนรู้ด้วยตนเองอาจไม่ทันการณ์ ผู้นำท้องถิ่นจึงต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงศักยภาพ ส่งเสริมให้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่เขาสนใจและเป็นประโยชน์กับการพัฒนาเมือง เช่น ส่งพนักงานเข้าคอร์สอบรมทั้งออนไลน์และนอกสถานที่ จ้างผู้เชี่ยวชาญมาสอนพนักงาน ไม่เพียงแค่พนักงานท้องถิ่นเท่านั้น แต่ก็ควรพัฒนาประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ในพื้นที่ เช่น เปิดอบรมอาชีพใหม่ เปิดอบรมการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น
6. ผู้นำท้องถิ่นต้องพัฒนาให้เกิดการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว การทำงานในยุคปัจจุบันไม่สามารถทำใครทำมันได้ แต่ต้องมีประสานงานกัน เพื่อประสิทธิผลที่ดีขึ้น ผู้นำท้องถิ่นจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะพัฒนาให้เกิดการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพได้ ยิ่งในยุคดิจิทัลแล้วนั้น ผู้นำท้องถิ่นยิ่งง่ายต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานระบบทีม ลดความผิดพลาดจากมนุษย์ และลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เช่น การนำแพลตฟอร์มมาใช้ในการสั่งงานหรือพูดคุยงาน, การใช้ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะที่สามารถทำทุกอย่างได้ทางออนไลน์แบบอัตโนมัติ มีระบบส่งต่องานภายใน มีระบบตรวจสอบเอกสารด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อประหยัดเวลา ลดการใช้ดุลยพินิจ ลดข้อผิดพลาด และส่งต่องานไปยังผู้รับผิดชอบโดยไม่ต้องอาศัยการเจรจากันให้เสี่ยงเกิดความขัดแย้ง
การบริหารจัดการท้องถิ่นในยุคดิจิทัล ไม่เพียงผู้นำท้องถิ่นจะต้องปรับตัว แต่พนักงานท้องถิ่น และประชาชนจะต้องปรับตัวร่วมกันให้ก้าวเท่าทันและเลือกเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เมืองพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าอยู่ ทันสมัย มีเศรษฐกิจที่ดี มีความสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง