6 ชุมชนต้นแบบบริหารจัดการขยะมุ่งสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

ปัญหาการบริหารจัดการขยะเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในปัจจุบัน ฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกันสร้างเมืองสะอาดได้ก็คือชุมชน ซึ่งตามหน้าที่แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็มักเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องกำลังคน ความรู้ เทคโนโลยี และงบประมาณ วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่กำลังมองหาแนวทางบริหารจัดการขยะในชุมชนอยู่ ลองนำแนวทางจาก 6 ชุมชนต้นแบบไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนกัน
1. เทศบาลเมืองนครขอนแก่น
เทศบาลเมืองนครขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เมืองที่มีปริมาณขยะมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดที่โรงงานไฟฟ้าขยะประมาณ 400 ตันต่อวัน ส่งผลให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนถึง 40 ล้านบาทต่อปี
เทศบาลเมืองนครขอนแก่นจึงเข้าร่วมโครงการของ สสส. และภาคีเครือข่าย ในการบริหารจัดการขยะรูปแบบใหม่ ทำให้ในปี 2565 เทศบาลนครขอนแก่น ได้รับการยกระดับเป็น เมืองท่องเที่ยวสะอาด จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยวิธีการก็คือ
1. การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิถีพอเพียง จัดการขยะ 4 เรื่อง
- ขยะอินทรีย์ จัดตั้งแกนนำชุมชนในการนำขยะบางส่วนมาเลี้ยงปลา ทำน้ำหมักจุลินทรีย์-ปุ๋ยหมักใช้
- ขยะรีไซเคิล จัดตั้งกลุ่มกองทุนฌาปนกิจขยะเป็นบุญ รับซื้อขยะจากสมาชิก เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือสร้างรายได้ให้ชุมชน
- ขยะทั่วไป จัดตั้งแกนนำชุมชนแจกถุงดำให้ครัวเรือนใส่ขยะทั่วไป พร้อมกำหนดเวลาทิ้ง-เวลาเก็บที่แน่นอน
- ขยะพิษ/ขยะอันตราย มีการตั้งถังขยะรวบรวมขยะพิษ/ขยะอันตรายในพื้นที่กลางชุมชน ส่งผลให้เป็นชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) นำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. โครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่
โครงการกระจายอำนาจการจัดการขยะให้กับชุมชน เพื่อช่วยบริหารจัดการขยะและลดขยะตกค้างในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมี 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะ
-
สร้างสถานีขนถ่ายขยะย่อยในแต่ละชุมชน เพื่อให้แต่ละชุมชนขนขยะมารวมไว้จุดเดียวกัน
แล้วให้รถเทศบาลมาเก็บ
-
ให้เงินอุดหนุนแต่ละชุมชนให้สามารถดูแลแก้ไขปัญหาจากขยะในพื้นที่ของตนเอง
2. ชุมชุนวัดชากลูกหญ้า
ชุมชนจัดการขยะวัดชากลูกหญ้า ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ชุมชนที่มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 8.2 ตันต่อวัน จึงมีการบริหารจัดการขยะแบบใหม่ใน 2 โครงการสำคัญ เพื่อลดประมาณขยะ ลดงบประมาณในการจัดการ และสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ปัจจุบันชุมชนจัดการขยะวัดชากลูกหญ้ากลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร
1. โครงการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล
ให้สมาชิกนำขยะมาฝากตามกำหนด เพื่อรักษาสถานภาพของสมาชิก และนำเงินที่ได้จากโครงการไปดูแลเรื่องฌาปนกิจ
2. เข้าร่วมโครงการ “YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งเป็นระบบจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจร ตั้งแต่การรวบรวมและคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิ่ง (Upcycling) โดยกระบวนการทั้งหมดจะมีการบริหารจัดการและการจดบันทึกตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เช่น การบันทึกข้อมูลขยะขาเข้า, การจัดการด้านบัญชีการเงินข้อมูลขยะในคลัง, การจัดการด้านการขายพลาสติก (ประเภท PET และ HDPE) ให้กับโรงงาน ENVICCO ของ GC ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลระดับ Food Grade ของประเทศไทย
3. เทศบาลตำบลบ้านคลอง
เทศบาลตำบลบ้านคลอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยล้น ประกอบกับไม่มีสถานที่ฝังกลบขยะ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจึงเร่งแก้ปัญหา ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ในปัจจุบันเทศบาลตำบลบ้านคลอง กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพขยะให้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้อย่างเป็นระบบ
1. นโยบาย “เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ” ร่วมกับเทศบาลนครพิษณุโลก ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะจากครัวเรือน และนำขยะไปใช้ประโยชน์
2. นายกเทศมนตรีปรับวิธีการบริหารจัดการ ผลักดันวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการบริหารจัดการขยะชุมชนที่ชัดเจน ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนได้รับรู้สถานการณ์ปัญหาขยะ และแนวทางในการจัดการขยะชุมชนที่เหมาะสม
3. การสร้างความร่วมมือของชุมชนในการคัดแยกขยะและจัดการขยะตามประเภทอย่างจริงจัง
4. ผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ โดยใช้หลัก 3Rs ซึ่งเทศบาลจะรวบรวมขยะมูลฝอยทั่วไปที่เป็นขยะแห้งในส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้ แล้วขนส่งไปยังสถานีขนถ่าย คัดแยกด้วยมือให้ได้ขยะชนิดที่เผาไหม้จะได้เป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF1 จากนั้นจะขนส่งไปยังบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการปรับปรุงคุณภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF3 ก่อนขนส่งไปยังโรงไฟฟ้า บริษัท โคลเวอร์ พิจิตร จำกัด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
4. ตำบลบ้านหาดสองแคว
ตำบลบ้านหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ แม้จะไม่ประสบปัญหาขยะมูลฝอยล้นจนรับมือไม่ไหว แต่ประสบกับปัญหาขยะถูกทิ้งตามถนนหนทาง ทำให้ชุมชนไม่น่าอยู่อาศัย กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงออกไอเดียก่อตั้ง “ชมรมจักรยานสานฝัน” โดยให้คนในชุมชนที่สนใจปั่นจักรยานเก็บขยะที่ทิ้งไม่เป็นที่ในชุมชน มาขายให้กับ อบต.ได้ทันที อีกทั้งยังให้ราคาดี ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนกิจกกรรมให้คนในชุมชนออกกำลังกาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมสร้างทัศนียภาพและบรรยากาศของชุมชนให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
5. กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร เมืองที่ครองอันดับขยะมูลฝอยมากที่สุดในไทย ทำให้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยถือเป็นโจทย์หิน โดยกรุงเทพมหานครมียุทธศาสตร์ “มหานครปลอดภัย-ปลอดมลพิษ” ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556 – 2575 ภายใต้แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste Management” ซึ่งจะจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร โดยรถขยะของกรุงเทพฯ จะขนย้ายและคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดที่ต้นทาง หลังจากนั้นจะจัดเก็บรวบรวมและขนส่งขยะไปยังศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย 3 แห่ง เมื่อคัดแยกขยะที่สถานที่กำจัดแล้ว จะนำขยะมูลฝอยไปแปรรูปด้วยเทคโนโลยีอันเหมาะสมกับมูลฝอยแต่ละประเภท ก่อนจะนำขยะที่เหลือไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล อย่างการนำเทคโนโลยี MBT (Mechanical and Biological Waste Treatment) หรือระบบบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีเชิงกลและชีวภาพมาใช้ในการแปรรูปขยะ โดยนำขยะอินทรีย์และขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ไปหมักรวมกัน แล้วคัดแยกออกมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนจะเป็น RDF (Refuse-derived Fuel) ขยะแปรรูปที่สามารถนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตไอน้ำและความร้อนได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการมูลฝอยแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถชำระผ่านระบบ Mobile Banking, ตู้ ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือชำระโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดใบแจ้งหนี้, QR Code สแกนจ่าย และใบเสร็จรับเงินได้จากแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY
6. เทศบาลเมืองพิชัย
เทศบาลเมืองพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มุ่งสู่ท้องถิ่นดิจิทัล สร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ได้จัดทำระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะและบำบัดน้ำเสียในออนไลน์ เพียงเข้าไปที่ localgov.egov.go.th/เทศบาลเมืองพิชัย-04520106/service/garbage-fee เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนแบบ One Stop Service ในการตรวจสอบค่าธรรมเนียมและชำระค่าธรรมเนียมตามบ้านเลขที่ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางมาที่เทศบาล อีกทั้งยังทำให้เทศบาลสามารถบริหารจัดการ จัดเก็บข้อมูล ติดตามผลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย
การบริหารจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพจะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคนในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แนวทางจากชุมชนต้นแบบที่เรานำมาเสนอ บางแนวทางเริ่มได้ทันที บางแนวทางอาจต้องใช้งบประมาณและการวางแผน เลือกแนวทางที่ประยุกต์ได้กับท้องถิ่นของคุณรับรองชุมชนสะอาด เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนอยู่ไม่ไกล
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
https://www.thaihealth.or.th/?p=312122
https://www.facebook.com/kkmuni.Activity
https://sustainability.pttgcgroup.com/th/projects/584/ศูนย์บริหารจัดการขยะรีไซเคิลต้นแบบ-ชุมชนจัดการขยะวัดชากลูกหญ้า
https://www.onep.go.th/ชุมชนต้นแบบ-เทศบาลตำบล/
https://www.facebook.com/profile.php?id=100024852470775
https://www.facebook.com/hardsongkwaeUTT