6 เช็กลิสต์เปลี่ยนท้องถิ่น สู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล
เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน เป้าหมายสำคัญที่หลายท้องถิ่นมุ่งมั่นที่จะทำให้เป็นจริง แต่เป้าหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องอาศัยข้อได้เปรียบในยุคดิจิทัลมาสร้างโอกาสให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น เบดร็อค อนาไลติกส์ จึงได้นำไอเดียจากรายงาน “Harnessing Technology for the Global Goals: A framework for government action” ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) และ PricewaterhouseCoopers (PwC) มาผสานกับแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดผลจริง จนเกิดเป็น 6 เช็กลิสต์สำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่และตอบโจทย์วิถีชีวิตประชาชนในยุคดิจิทัล
1. ดำเนินการเชิงรุกในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยี
การทำงานในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ใกล้ชิดกับประชาชนจะต้องปรับตัวให้เร็วและดำเนินการเชิงรุกในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้กรอบที่กำหนด เพื่อให้เท่าทันกับประชาชนในยุคปัจจุบัน รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถแก้ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพได้หลายประการในคราวเดียวกัน จนนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในที่สุด เช่น
- การนำระบบแจ้งเหตุและระบบจัดการปัญหาออนไลน์มาใช้ เพื่อให้ประชาชนแจ้งเหตุและแจ้งพิกัดได้อย่างแม่นยำ มีระบบส่งต่อไปยังผู้รับผิดชอบอัตโนมัติ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่รวดเร็วทันใจ
- การใช้ระบบบริหารจัดการภาษีอัจฉริยะ เพื่อนำเทคโนโลยียุคใหม่ มาช่วยในการสำรวจ จัดทำแผนที่ภาษี ทะเบียนภาษี และประเมินภาษีที่แม่นยำและได้ข้อมูลปัจจุบัน พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการยื่นภาษีออนไลน์
- การใช้ระบบขออนุญาตออนไลน์ เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการยื่นขออนุญาต ติดตาม และรับผลได้ทางออนไลน์
2. กำหนดหน้าที่ชัดเจน แต่วางแผนปฏิบัติการแบบยืดหยุ่น
การกำหนดหน้าที่ชัดเจน เพื่อมอบหมายให้เกิดการกำกับดูแลทิศทาง บริหารจัดการ ตัดสินใจ และรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การวางแผนปฏิบัติการนั้น ควรเป็นไปแบบยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ โดยอาจจัดทำพื้นที่นำร่องหรือการทำแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ซึ่งเป็นการจัดหาพื้นที่เอาไว้ทดสอบการใช้เทคโนโลยีโดยมีผู้ที่รับผิดชอบโครงการอย่างชัดเจนในการบริหารจัดการและตัดสินใจ และมีแผนที่ยืดหยุ่นในการดำเนินการ อย่างเช่น
- เทศบาลนครขอนแก่น ได้นำระบบ Care Kit มาช่วยบันทึกข้อมูลจากการลงพื้นที่ ให้เข้าสู่ระบบสุขภาพแบบอัตโนมัติ ที่แสดงผลแบบเรียลไทม์และเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ในพื้นที่นำร่องที่ชุมชนทุ่งเศรษฐีและศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาล ทำให้เห็นผลเชิงประจักษ์ว่าประชาชนพึงพอใจ 95% จากการเพิ่มความเร็วและป้องกันความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล, ลดระยะเวลารอคอยในหน่วยบริการปฐมภูมิ, เห็นข้อมูลสุขภาพตนเองได้ผ่านแอปพลิเคชัน อีกทั้งยังนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคได้ง่ายและแม่นยำขึ้น
3. ลงทุนงบประมาณหรือหาผู้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงควรจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับการพัฒนา หากน้อยไปเทคโนโลยีที่ได้อาจไม่ส่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร แต่หากมากไปอาจไม่คุ้มค่าและอาจเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นด้านความโปร่งใสได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาและสอบถามผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการเทคโนโลยีหลายเจ้า เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าในทุกมิติเสียก่อนตั้งงบประมาณ นอกจากนี้อาจร่วมมือกับองค์กรเอกชนต่าง ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใช้เฉพาะองค์กร อย่างเช่น
- บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด และ เทศบาลนครนครสวรรค์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform) และระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Saraban) เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนในการพัฒนาเมือง
- บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี นำ Location Intelligence มาวิเคราะห์และคาดการณ์ในการวางแผนการทำงานเชิงกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาผสมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อเพิ่มศักยภาพและตอบสนองความพึงพอใจทั้งด้านคุณภาพและบริการตามวิสัยทัศน์ “ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” (SMART ENERGY FOR BETTER LIFE AND SUSTAINABILITY)
4. เปิดโอกาสสร้างรายได้
หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาโซลูชันหรือระบบต่าง ๆ ได้ประสบความสำเร็จ สร้างโอกาสที่จะเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนได้จริง ไม่เพียงนำไปสู่การขยายพื้นที่หรือภาคส่วนอื่นในขอบเขตขององค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับองค์กรในการให้บริการระบบหรือโซลูชันที่พัฒนาขึ้นมา หรือเปิดโอกาสให้องค์กรอื่นเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับองค์กรตนเองได้
5. พัฒนาทักษะบุคลากร
บุคลากร คือหัวใจสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่แนวคิด การวางแผน การดำเนินงาน ตลอดจนการวัดผล จึงควรพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี มีทัศนคติที่เปิดกว้างรับสิ่งใหม่ ปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หากไม่พัฒนาบุคลากรก็อาจส่งผลให้การแสวงหาเทคโนโลยีมาใช้ไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการและการบริการได้จริง สำหรับวิธีในการพัฒนาทักษะบุคลากรก็อย่างเช่น
- เชิญหน่วยงานมาให้ความรู้หรือส่งบุคลากรปเข้าร่วมอบรมหลักสูตรที่น่าสนใจ
- เปิดโอกาสให้พนักงานเรียนรู้ด้วยตนเองแบบอิสระ
- จัด Workshop หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการแนะนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยี
- จัดหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำการใช้งานเทคโนโลยีให้กับบุคคลทั่วไปแบบเฉพาะเจาะจง
6. ลงมือทำ
เช็กลิสต์สุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือการลงมือปฏิบัติการและดำเนินการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงานจริง เพื่อให้ทราบว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร เกิดปัญหาหรือติดขัดที่ส่วนไหนบ้าง และผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ ซึ่งเมื่อทราบแล้วก็จะนำไปสู่การแก้ไข การปรับปรุง และการพัฒนาได้อย่างตรงจุดเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนที่ตั้งไว้
6 เช็กลิสต์แนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัลที่นำเสนอมาตั้งแต่การดำเนินการเชิงรุก การกำหนดหน้าที่ การใช้พื้นที่นำร่อง การวางแผนที่ยืดหยุ่น การลงทุนงบประมาณ การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการเปลี่ยนแผนงานสู่การลงมือทำจริง จะทำให้การสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่เป้าหมายในอุดมคติอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นความจริงที่ประชาชนทุกคนในท้องถิ่นของคุณสัมผัสได้อย่างแน่นอนครับ