5 แนวทางที่ท้องถิ่นห้ามพลาด นำไปวางแผนเยียวยาและฟื้นฟูเมืองหลังเกิดภัยพิบัติ
ภาวะโลกเดือด สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรวดเร็วทำให้ในปัจจุบันเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้น และคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น ดังนั้นการเยียวยาและฟื้นฟูเมืองหลังเกิดภัยพิบัติจึงต้องให้ความสำคัญมาก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น คืนสภาวการณ์ปกติกลับสู่เมืองอย่างเร็วที่สุด
ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยข้อมูลสถิติสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปี 2565 พบว่ามีอุทกภัยมากถึง 37,541 หมู่บ้าน/ชุมชน/แขวง มีวาตภัย 15,106 หมู่บ้าน/ชุมชน/แขวง มีภัยแล้ง 124 หมู่บ้าน/ชุมชน มีดินโคลนถล่ม 201 หมู่บ้าน/ชุมชน มีอัคคีภัย 3,007 ครั้ง และอุบัติภัย 49 ครั้ง
จากสถิติสาธารณภัยที่เล่ามาจะเห็นว่านำพาความเสียหายมาสู่บ้านเรือน พื้นที่เกษตร ชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมาก ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนเยียวยาและฟื้นฟูภัยพิบัติ พร้อมคาดการณ์อนาคตแบบเชิงรุกต่อทุกสถานการณ์ ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย สั่ง อนุญาต และอนุมัติภายใต้อำนาจที่กฎหมายกำหนดคือบุคคลสำคัญในการกำหนดแผนเชิงรุกการเยียวยาและฟื้นฟูเมืองหลังเกิดภัยพิบัติให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยให้เมืองฟื้นฟูไปตามธรรมชาติด้วยตนเอง อาจสร้างความสูญเสียต่อชีวิต สังคม และโอกาสทางเศรษฐกิจและธรรมชาติแบบที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้ อย่างเช่น ผลพวงของพายุเฮอริเคนแคทรีนาที่เมืองนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน และหลังจากนั้นได้ปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติจนเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมีมูลค่าประมาณ 125 พันล้านดอลลาร์
แนวทางการวางแผนเชิงรุกในการเยียวยาผลกระทบและฟื้นฟูเมืองหลังเกิดภัยพิบัติ
ดังนั้นการเยียวยาผลกระทบและฟื้นฟูเมืองหลังเกิดภัยพิบัติจึงต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุด Bedrock ได้นำแนวทางในการเยียวยาผลกระทบและฟื้นฟูเมืองหลังเกิดภัยพิบัติแบบเชิงรุกที่น่าสนใจมาให้ผู้นำท้องถิ่นได้นำไปเป็นไอเดียกำหนดแผนและนโยบาย ซึ่งแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกัน
1. การวางแผนเชิงรุกบรรเทาผลกระทบหลังเกิดภัยพิบัติ
ขั้นตอนแรกที่ต้องทำหลังเกิดภัยพิบัติ เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติก็คือการบรรเทาผลกระทบ โดยเร่งออกมาตรการ แล้วดำเนินการหยุดความเสียหาย พร้อมเร่งช่วยเหลือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ผู้ประสบภัยสามารถช่วยเหลือตนเอง และกลับมาดำรงชีวิตในภาวะปกติอย่างเร็วที่สุด ดังนั้นท้องถิ่นจะต้องมีแผนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุว่า หากเกิดภัยพิบัติจะดำเนินการอะไรบ้าง เมื่อใดควรดำเนินการ และวิธีการดำเนินการใดจะเกิดประสิทธิผลมากที่สุด
2. การเตรียมความพร้อมตลอดเวลา
การเตรียมความพร้อม เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการวางแผนบรรเทาผลกระทบ ซึ่งท้องถิ่นควรเตรียมพร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดเวลา โดยหมั่นฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ทบทวนแผนอยู่เป็นประจำ และฝึกอบรมบุคคลที่รับผิดชอบในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน เพราะแผนการฝึกอบรมและการเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอดเวลาเหล่านี้ คือเรื่องพื้นฐานที่จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและรวดเร็วเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นแผนในการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ดังนั้นจึงควรให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการวางแผน การตัดสินใจ และการฝึกซ้อมด้วย เพื่อไม่ให้งบประมาณต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
3. การตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
การวางแผนบรรเทาผลกระทบและการเตรียมความพร้อมตลอดเวลาจะไม่เกิดประสิทธิผลเลย หากไม่มีการตอบสนองต่อการเกิดภัยพิบัติที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินการอย่างแรกที่ต้องทำก็คือการมุ่งช่วยชีวิต บรรเทาความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้เสียหาย และลดความเสียหายต่อทรัพย์สินและเศรษฐกิจ ต่อมาก็คือการประสานงานและการบริหารจัดการ โดยอาจเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการและวางแผนในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดศูนย์พักพิง การกำหนดจุดอพยพ การช่วยเหลือฉุกเฉินและการดูแลทางการแพทย์ การดับเพลิง การค้นหา เป็นต้น
4. การฟื้นฟูบูรณะ
ความเสียหายจากภัยพิบัติไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบสำคัญต่องบประมาณของท้องถิ่นในการฟื้นฟูและเยียวยาเมืองให้กลับคืนสภาวการณ์ปกติให้เร็วที่สุดด้วย ดังนั้นการฟื้นฟูเมืองจะต้องวางแผนหลายระยะด้วยกัน ทั้งการฟื้นฟูระยะสั้นอย่างการบูรณะที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้ใช้การได้ก่อน เช่น ทำความสะอาด น้ำประปา ไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม ถนนชั่วคราว เป็นต้น รวมถึงการฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้ประสบภัยด้วย ต่อมาก็คือการฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างและสิ่งก่อสร้างหรือการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีกว่าเดิม สามารถรองรับภัยพิบัติในอนาคตได้ดี ซึ่งการบูรณะในส่วนนี้อาจต้องวางแผนที่รอบคอบ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณและระยะเวลา โดยอาจขอการสนับสนุนหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวางแผนและซ่อมแซมบูรณะให้สามารถรองรับสาธารณภัยหรือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้นและปลอดภัยกว่าเดิม อย่างการนำระบบเช็กความพร้อมและระบุพิกัดโครงสร้างพื้นฐานที่ผิดปกติได้อย่างแม่นยำที่เรียกว่าระบบบริหารจัดการทรัพย์สินอัจฉริยะ (Smart Asset Management) มาใช้งานในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดการและวางแผนวงรอบและการวางแผนรอบการบำรุงรักษาของสินทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ถนน, ไฟส่องสว่าง, ทางเท้า เป็นต้น โดยจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (Al) ในการวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล ตรวจจับและจำแนกทรัพย์สิน
5. การป้องกัน
หลังจากการเยียวยาและฟื้นฟูเมืองหลังเกิดภัยพิบัติแล้ว การวางแผนป้องกันภัยพิบัติและความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ครบกระบวนการทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยอาจเริ่มจากการถอดบทเรียนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในทุกมิติความสูญเสีย แล้วนำไปปรับปรุงจุดอ่อนและพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการวางผังเมือง การออกแบบอาคาร การออกแบบและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันสามารถนำเทคโนโลยีสามมิติหรือ AI มาช่วยในการวางแผนป้องกันภัยพิบัติได้ อย่างเช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการด้านข้อมูลที่จะรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลของท้องถิ่น ข้อมูลภาครัฐ ข้อมูลจากเอกชน ข้อมูลจาก CCTV ภาพดาวเทียม โดรน ระบบโทรมาตรอัตโนมัติ และข้อมูลการสำรวจแม่น้ำและคลอง พร้อมใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning (ML) มาจัดการ ประมวลผลข้อมูล รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆ โดยแสดงผลผ่าน Dashboard ในรูปแบบแผนที่สองมิติและสามมิติที่เข้าใจง่าย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองไปวิเคราะห์และวางแผนป้องกันภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของการออกแบบเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และคาดการณ์จุดที่จะเกิดและผลกระทบจากภัยพิบัติได้
5 ขั้นตอนในการวางแผนเยียวยาและฟื้นฟูเมืองหลังภัยพิบัติให้กลับคืนสู่สภาวการณ์ปกติโดยเร็วที่ Bedrock นำมาแนะนำ หวังว่าจะเป็นไอเดียให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปปรับใช้กับนโยบายและแผนบริหารจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่น พร้อมเร่งปรับปรุงเมืองให้รองรับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ ได้นะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.unr.edu/organizational-resilience/phases
https://datacenter.disaster.go.th/datacenter/cms/2732?id=42514