5 เทคนิคเก็บ Data ยุคใหม่ ให้เอาไปใช้งานได้จริง
หากองค์กรของคุณยังมีวิธีการเก็บฐานข้อมูลหรือ Data ที่จะนำไปพัฒนาธุรกิจกันแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น การใช้ฐานข้อมูลเดิม โดยไม่มีอัปเดต การลงพื้นที่สำรวจ การนัดคนมาสัมภาษณ์ เป็นต้น วิธีการเหล่านี้ต้องใช้ทั้งเวลา กำลังคน และต้นทุนที่สูง อีกทั้งข้อมูลที่ได้ยังอาจไม่คุ้มค่า
เมื่อวิธีเดิม ๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ ถึงเวลาที่จะต้องมองหาแนวทางใหม่ในการเก็บข้อมูลที่เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญของธุรกิจในยุคดิจิทัลนี้ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเก็บข้อมูล วันนี้ Bedrock มี 5 เทคนิคเก็บ Data ยุคใหม่ ให้เอาไปใช้งานได้จริงมาแนะนำกันครับ
1. เซนเซอร์ IoT
การเก็บข้อมูลสำหรับยุคดิจิทัล เซนเซอร์ที่ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ IoT สามารถรวบรวมข้อมูลได้แม่นยำ และยังปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติได้ โดยจะนำข้อมูลดิบจากเซนเซอร์ IoT มารวบรวมไว้ที่คลาวด์ จากนั้นซอฟต์แวร์จะแปลงข้อมูล แล้วประมวลผลเป็นข้อมูลคุณภาพสูงตามที่ต้องการ อีกทั้งยังสามารถควบคุมและสั่งการอุปกรณ์นั้นแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยฐานข้อมูลที่จัดเก็บมาจากเซนเซอร์ IoT
ตัวอย่างที่มีการเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์ IoT ก็อย่างเช่น โครงการ Connected Parks ในเมืองมอร์ริสวิลล์ สหรัฐอเมริกา ที่ติดตั้งเซนเซอร์ IoT ตรวจจับน้ำขังและความชื้นในสนามฟุตบอล หากพบว่าสนามฟุตบอลเปียกเกินกว่าจะเล่นได้ จะปิดประตูสวนสาธารณะแบบอัตโนมัติทันที พร้อมแจ้งผู้ใช้งานผ่านข้อความและช่องทางดิจิทัล
2. ดาวเทียม
ดาวเทียม (Satellites) อีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่นำมาใช้เป็นคลังข้อมูลในปัจจุบัน โดยดาวเทียมสามารถบันทึกภาพจากอวกาศ และถ่ายทอดข้อมูลมายังโลก ทำให้ได้ข้อมูลที่มีความทันสมัย นำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การทำแผนที่พื้นที่อุทกภัย แผนที่จุดความร้อน (Hot spot) การค้นหาพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม การดูข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การทำข้อมูลการติดตามการขยายตัวเมืองและแหล่งชุมชน เป็นต้น
สำหรับตัวอย่างการเก็บข้อมูลจากดาวเทียม ก็อย่างเช่น การรายงานพื้นที่จุดความร้อนที่เสี่ยงหรืออาจเกิดไฟป่าของสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA ที่ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS มาสร้างเป็นแผนที่ภาพแสดงจุดความร้อน เพื่อให้ผู้ที่ติดตามและสนใจนำไปใช้ประโยชน์ต่อ
3. ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าทุกองค์กรมักจะมีช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line Official, Instagram, Website, TikTok, Twitter เป็นต้น ซึ่งช่องทางเหล่านี้คือแหล่ง Big Data ช่วยเก็บข้อมูลสำคัญขององค์กร ทั้งพฤติกรรมของผู้ติดตามหรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ โดยสามารถนำข้อมูลเชิงลึกในแต่ละแพลตฟอร์มมาวิเคราะห์ เพื่อต่อยอด พัฒนา และปรับปรุงธุรกิจ รวมถึงออกแคมเปญทางการตลาดได้
สำหรับตัวอย่างการเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ก็อย่างเช่น การนำข้อมูลการเข้าถึง (Reach) ในแต่ละแพลตฟอร์มมาจัดระเบียบและวิเคราะห์อย่างรอบด้านว่ามาจากพื้นที่ใด กลุ่มใด เพื่อวางแคมเปญทางการตลาดที่ตรงจุด รวมถึงหากองค์กรของคุณมีเว็บ E-Commerce ก็จะสามารถติดตามลูกค้าที่ทำการซื้อ ทั้งตัวสินค้า ระยะเวลาในการตัดสินใจ ความสนใจต่าง ๆ วิธีเก็บข้อมูลนี้จึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญช่วยให้คุณตัดสินใจเกี่ยวกับการทำการตลาดแบบกำหนดเป้าหมายและเข้าใจฐานลูกค้าของคุณได้ดีขึ้น
นอกจากนี้เก็บข้อมูลด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ขององค์กรตามที่เล่ามาแล้ว ยังสามารถติดตามผู้เข้าถึงโดยใช้พิกเซลและคุกกี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องคำนึงถึงกฎหมายและความเป็นส่วนตัวของประเทศนั้น ๆ ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นข้อมูลจากแชตบอต (Chatbot) ที่ใช้ AI ช่วยตอบคำถามแบบอัตโนมัติยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระเบียบ ง่ายต่อการนำไปพัฒนาหรือต่อยอดธุรกิจได้ดี อย่างเว็บไซต์ทางการของนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่นำข้อมูลคำถามที่พบบ่อยแล้วมี Bot เป็นผู้ตอบ ไม่ว่าจะเป็นตารางเวลาการขนส่งสาธารณะ คุณภาพอากาศ ตารางเวลาการเก็บขยะ การบริการและกิจกรรมของเทศบาล ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และความคิดเห็นของผู้ใช้ มาพัฒนาการบริหารจัดการและพัฒนา Bot ให้ชาญฉลาดมากขึ้น
4. แบบสำรวจออนไลน์
การทำแบบสำรวจ เป็นการเก็บข้อมูลที่หลายคนคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือการให้กลุ่มเป้าหมายกรอกข้อมูลลงแบบฟอร์มที่จัดทำขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพและตรงจุดมากวิธีการหนึ่ง แต่ในยุคปัจจุบันการทำแบบสำรวจไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลลงกระดาษให้ยุ่งยากต่อการจัดเก็บ จัดระเบียบ จัดหมวดหมู่ และประมวลผลอีกต่อไป เพราะสามารถทำแบบสำรวจผ่านทางออนไลน์ได้ ไม่เพียงเท่านั้นการทำแบบสำรวจออนไลน์ยังเสียค่าใช้จ่ายน้อย เผยแพร่ได้วงกว้าง ที่สำคัญส่วนใหญ่มักมีระบบจัดการข้อมูลหลังจากตอบแบบสำรวจให้แบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถนำไปใช้ต่อได้ง่าย และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากมนุษย์
สำหรับตัวอย่างการเก็บข้อมูลจากแบบสำรวจออนไลน์ ก็อย่างเช่น การทำแบบสำรวจออนไลน์หลังจบสัมมนาจาก Google Form ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ตอบแบบสำรวจผ่านการสแกน Qr Code, อีเมล หรือ Facebook ซึ่งเมื่อมีการตอบแบบสำรวจแล้วข้อมูลทั้งหมดจะสามารถจัดเรียงหรือสรุปผลสำรวจในหัวข้อต่าง ๆ ได้แบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นแนวทางการตัดสินใจ พัฒนา และปรับปรุงสัมมนาในครั้งต่อไปได้
5. การสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่มทางออนไลน์
การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวและการสนทนากลุ่ม เป็นวิธีเก็บข้อมูลที่ได้ทั้งข้อมูลคุณภาพและปริมาณ โดยเป็นการพูดคุยที่นอกจากจะได้คำตอบจากคำถามแล้ว ยังได้ยินเสียงและท่าทางแบบเรียลไทม์ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวและการสนทนากลุ่มในสมัยก่อนจะต้องใช้ต้นทุนสูงและใช้เวลานาน แต่ในปัจจุบันเราสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนได้ ด้วยการสัมภาษณ์ทางวิดีโอคอลผ่านโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในหลายส่วน เช่น สถานที่ เวลา ค่าเดินทาง
สำหรับตัวอย่างการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่มทางออนไลน์ ก็อย่างเช่น การสัมภาษณ์ประสบการณ์ใช้งานผลิตภัณฑ์จากผู้ใช้งานจริงในต่างจังหวัดผ่านโปรแกรม Zoom ที่ทำให้เห็นปฏิกิริยาในแต่ละคำถาม และบันทึกการสัมภาษณ์ได้ง่าย สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เชิงลึกได้อย่างรอบคอบมากขึ้น เป็นต้น
ข้อมูลคือฟันเฟืองสำคัญที่จะไขคำตอบให้ธุรกิจของคุณก้าวไปข้างหน้าในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างตรงจุด ดังนั้นการหาแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลหรือ Big data ที่เหมาะสมกับธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หวังว่าเทคนิคนี้เหล่านี้จะเป็นแนวทางการจัดเก็บข้อมูลให้องค์กรที่จะนำไปใช้งานได้จริงนะครับ
ขอบคุณข้อมูล
https://online.hbs.edu/blog/post/data-collection-methods
https://www.tomorrow.city/open-data-how-can-they-improve-citizen-engagement-and-the-economy/