5 เครื่องมือสุดล้ำที่จะช่วยในการบริหารจัดการน้ำท่วมในยุคโลกเดือด
ช่วงนี้หลายคนคงกังวลกับสถานการณ์น้ำเหนือ พร้อมติดตามข่าวน้ำท่วมหรืออุทกภัยในพื้นที่ของภาคเหนือของไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งคงจะเห็นแล้วว่าในหลายพื้นที่ได้มีการวางแผนป้องกันหรือรับมือมาล่วงหน้าแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ ต้านทาน และรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่คาดหวัง อันเนื่องมาจากมวลน้ำปริมาณมหาศาลประกอบกับฝนตกต่อเนื่องยาวนาน จนส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย
อย่างหนึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างแปรปรวนมาจากภาวะโลกเดือดหรือสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนไม่สามารถคาดการณ์จากประสบการณ์หรือฐานข้อมูลเก่าที่ขาดการอัปเดตได้เหมือนเคย ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการน้ำท่วมของผู้บริหารเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วจะใช้วิธีใดที่จะช่วยให้คาดการณ์น้ำท่วมได้แม่นยำขึ้น สามารถรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที รวมถึงจัดลำดับความช่วยเหลือและลดผลกระทบจากน้ำท่วมได้ดีขึ้น วันนี้ Bedrock มี 5 อุปกรณ์และเทคโนโลยีสุดล้ำที่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำท่วมมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยมาแนะนำ
1. Water Gate
หลายครั้งน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ทันได้ตั้งหลักเตรียมรับมือหรือวางกระสอบทรายได้ทัน “Water Gate” จะช่วยให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมตั้งรับภัยน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว โดย Water Gate จะทำหน้าที่คล้ายกระสอบทราย มีลักษณะเป็นแผงกั้นน้ำที่ทำจากพลาสติก PVC มีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก คนเดียวก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ทันที มีประสิทธิภาพในการกั้นน้ำและเปลี่ยนทิศทางของน้ำด้วยแรงดันของน้ำเอง โดยไม่รบกวนการจราจรและโครงสร้างพื้นฐานเดิม ที่สำคัญสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำและมีความทนทานสูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอุปกรณ์นี้เหมาะกับการป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว ท่อประปาแตก หรือปกป้องสถานที่สำคัญเท่านั้น
2. AquaFence
เมื่อเขื่อนแตกหรือพนังกั้นน้ำธรรมชาติที่ทำไว้ไม่สามารถต้านทานได้ แน่นอนว่าเขตเศรษฐกิจและเขตเมืองคือเป้าหมายสำคัญที่จะต้องปกป้องเพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา “AquaFence” คืออีกนวัตกรรมหนึ่งที่ได้รับการรับรองว่าสามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพจากศูนย์ควบคุมพลังงานและทรัพยากรน้ำของนอร์เวย์ (The Norwegian Water Resources and Energy Directorate: NVE) โดยกำแพงป้องกันน้ำท่วม AquaFence มีลักษณะเป็นแผงหรือกำแพงกั้นน้ำที่ใช้นวัตกรรม Self Stabilized Design คือการใช้แรงดันของน้ำท่วมช่วยตรึงกำแพง AquaFence ให้ตั้งอยู่กับพื้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรง สำหรับการใช้งานต้องบอกว่าง่ายมาก ไม่ต้องติดตั้งให้ซับซ้อน ใช้แรงคนน้อย เพียงแค่กางออกให้ตั้งฉาก แล้วนำกำแพง AquaFence มาเรียงต่อกัน ก็จะสามารถช่วยป้องกันน้ำเข้าถึงสถานที่สำคัญ เปลี่ยนทิศทางของน้ำ หรือเบี่ยงทางน้ำให้ไหลไปตามทิศที่ต้องการได้
3. Bufferblock
เมื่อเกิดพายุและฝนตกหนักในเขตเมืองปัญหาหนึ่งที่มักเจอประจำก็คือการระบายน้ำ ยิ่งเมื่อมีมวลน้ำล้นทะลักจากที่อื่นมาสมทบจนกลายเป็นน้ำขังและน้ำท่วมจัดการได้ยาก “Bufferblock” จึงเป็นทางเลือกใหม่ของการวางระบบระบายน้ำในเมืองที่ทำจากวัสดุซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถดูดซับน้ำฝนที่ตกหนักและรับมือปริมาณน้ำได้สูง Bufferblock มีลักษณะเป็นเหมือนบล็อกทรงสี่เหลี่ยมแบ่งเป็น 2 ช่อง มีน้ำหนักประมาณ 950 กิโลกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร มีโครงสร้างแข็งแรง ทนทาน สามารถวางใต้ชั้นดินในระดับลึกเพียง 68 เซนติเมตร มีความจุในการรับน้ำด้ถึง 266-532 ลิตรต่อตารางเมตร ทนต่อแรงดันน้ำมหาศาล ช่วยให้น้ำซึมลงสู่ใต้ผิวดินรวดเร็วขึ้น เก็บน้ำปริมาณได้มาก ที่สำคัญทำความสะอาดและดูแลรักษาเช่นเดียวกับท่อระบายน้ำทั่วไป
4. ระบบป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ
การเปิดปิดประตูระบายน้ำจุดต่าง ๆ ต้องอาศัยประสบการณ์ ข้อมูล และกำลังคนที่ต้องเฝ้าดูอย่างตั้งใจตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีความผิดพลาดได้ เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น “นวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ (Flood Prevention Protocol)” การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศ Grand Prize ในเวทีระดับโลกเดลต้าคัพ 2021 (Delta Cup) จะช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นระบบระบายน้ำอัตโนมัติที่ผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะ AI เครือข่ายระบบเซนเซอร์เก็บข้อมูลน้ำจากประตูน้ำทั้ง 100 แห่ง และประมวลผลด้วยคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำ 1 ชั่วโมงล่วงหน้าได้ อีกทั้งยังมีการกำหนดเส้นทางการไหลของน้ำ (Flow Rate Mapping ) เพื่อป้องกันน้ำท่วม และควบคุมการเปิด–ปิดประตูน้ำที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถมอนิเตอร์การแสดงข้อมูลทั้งหมดได้ผ่านคอมพิวเตอร์ศูนย์ควบคุม SCADA
5. ระบบจัดการภัยพิบัติ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง
การบริหารจัดการน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงสามารถรับมือได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่จะต้องสามารถบริหารจัดการได้ตั้งแต่ก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิด ปัจจัยสำคัญในการจัดการก็คือฐานข้อมูลคุณภาพที่จะสามารถวิเคราะห์ สรุปสถานการณ์ จัดลำดับความสำคัญ และคาดการณ์น้ำท่วมได้ “ระบบจัดการภัยพิบัติ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง” จาก Bedrock เป็นโซลูชันที่จะทำให้ผู้บริหารเมืองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการน้ำท่วมแบบบูรณาการที่สมบูรณ์แบบ โดยเป็นการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ AI และ Machine Learning มาจัดการและเชื่อมโยง Big Data หลายชั้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น แผนที่ภูมิประเทศ ประวัติการเกิดน้ำท่วม การพยากรณ์อากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม แล้วนำมาแสดงผลผ่านแผนที่สามมิติ หรือ Smart Map เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจได้ง่าย เห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถจัดการน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงทีและหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น
-การวางแผนรับมือ
สามารถวิเคราะห์ สรุปสถานการณ์ ระบุความเสี่ยง คาดการณ์ทิศทางของน้ำได้แม่นยำ โดย Smart map จะแสดงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่อพยพ พื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่เตือนภัย และพื้นที่ปลอดภัย เป็นต้น ทำให้สามารถวางแผนก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิดเหตุน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-การช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญ
มี AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่จากการสำรวจแบบเรียลไทม์ ทั้งภาพดาวเทียม ภาพจากโดรน ข้อมูลประชากร ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลผู้สูงอายุ พิกัดผู้อาศัย ทำให้สรุปสถานการณ์ ช่วยลดเวลาในการดำเนินงาน และตัดสินใจในการช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญได้ดีขึ้น
-การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
มี AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำให้สรุปสถานการณ์ และคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ ช่วยให้ท้องถิ่นเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ
-ถอดบทเรียนจากน้ำท่วม
ข้อมูลที่ได้จากระบบจัดการภัยพิบัติสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวัดผลและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในแต่ละรอบได้ จึงทำให้ท้องถิ่นรู้ว่าต่อไปควรจะวางแผน ปรับปรุง หรือออกแบบแนวทางป้องกันและรับมือกับอุทกภัยอย่างไรบ้าง
ซึ่งหากใครที่อยากรู้จักกับระบบจัดการภัยพิบัติ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพิ่มเติม สามารถคลิกได้ที่ https://bedrockanalytics.ai/products/city-digital-data-platform
เมื่อน้ำท่วมหรืออุทกภัยรุนแรงขึ้น คาดการณ์และจัดการยากมากขึ้น วิธีบริหารจัดการน้ำท่วมแบบเดิมอาจไม่เพียงพอ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยได้ ลองเลือกนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาผสานกับประสบการณ์ และบุคลากรคุณภาพมาเพิ่มประสิทธิภาพให้การจัดการน้ำท่วมในพื้นที่กันดูนะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.megasecur.com/en/water-diversion
https://www.bufferblock.nl/en/home/
https://www.thaiquote.org/content/245326
https://www.nia.or.th/Natural-Disasters-Innovation
https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=33244