4 เทคนิคบริหารจัดการขยะในท้องถิ่น ช่วยป้องกันอัคคีภัยจากกองขยะในหน้าร้อน
ฤดูร้อนของทุกปี เรามักจะได้เห็นข่าวไฟไหม้กองขยะอยู่เป็นประจำ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือกำลังสำคัญในการควบคุมเพลิงไหม้ รวมถึงเยียวยาเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบ ฉะนั้นจะมีวิธีการป้องกันอย่างไร เพื่อลดโอกาสเกิดเพลิงไหม้จากกองขยะ Bedrock มีเทคนิคบริหารจัดการขยะในท้องถิ่น ช่วยป้องกันอัคคีภัยจากกองขยะในหน้าร้อนมาฝากครับ
กองขยะชุมชน เสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ได้เองจริงหรือไม่
ก่อนจะไปดูวิธีป้องกัน เรามาไขข้อข้องใจกันก่อนว่าทำไมกองขยะทั้งเล็กและใหญ่ในชุมชนถึงเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้เอง อย่างแรกที่เราต้องยอมรับกันก็คือคนไทยยังไม่นิยมการแยกขยะอย่างเคร่งครัด จึงทำให้มีขยะที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติปะปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เศษผ้า เศษพลาสติก เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร หญ้า ใบไม้ ซากพืช ซากสัตว์ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น เมื่อขยะเหล่านี้ไม่ถูกจัดการอย่างรวดเร็ว แล้วปล่อยให้ทับถมกันเป็นเวลานานในอากาศที่ร้อนจึงกลายเป็นขยะอินทรีย์หรือขยะย่อยสลายได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดก๊าซมีเทน ก๊าซไข่เน่า ก๊าซแอมโมเนีย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วคายความร้อนจนเกิดเป็นจุดความร้อนใต้กองขยะที่มีโอกาสจะเกิดไฟลุกติดเองจนกลายเป็นเพลิงไหม้ได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการที่มีบุคคลทิ้งเชื้อเพลิงลงถังขยะโดยไม่ตั้งใจ เช่น บุหรี่ ไฟแช็ก ซึ่งแม้จะเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่หากทิ้งลงไปในถังขยะที่มีเชื้อเพลิงอื่นหมักหมมอยู่ประกอบกับอากาศที่ร้อนมาก ก็อาจเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ รวมทั้งการกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาขยะจนลามกลายเป็นเพลิงไหม้ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาล้วนส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้นั่นเองครับ
วิธีป้องกันเพลิงไหม้จากกองขยะในชุมชน
ดังนั้นการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่จะเกิดขึ้นย่อมดีกว่าการแก้ไข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องมีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลที่ดี ซึ่ง Bedrock มีเทคนิคดี ๆ ที่ทำได้ง่าย มาแนะนำ
1. ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ
การแยกขยะตามประเภทช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเชื้อเพลิงได้ โดยท้องถิ่นอาจจะประชาสัมพันธ์ถึงวิธีแยกขยะที่ถูกต้อง พร้อมอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญในการแยกขยะ ควรตั้งถังขยะแยกประเภทที่มีสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่ายให้แก่ประชาชน รวมถึงจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเกิดความร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะ เช่น การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ การจัดตั้งโครงการธนาคารขยะเพื่อแลกเงิน กำหนดเวลาทิ้งขยะ การตั้งถังขยะพิษหรือขยะอันตรายให้ประชาชน เป็นต้น
2. ใช้ระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ
การปล่อยให้ขยะหมักหมมในอากาศร้อน อาจทำให้เกิดก๊าซมีเทนและเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไฟไหม้ จึงไม่เพียงแค่ให้แยกขยะเท่านั้น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีระบบจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ จัดเก็บขยะทุกวันในเวลาที่เหมาะสม และแน่นอนว่าการควบคุมเวลาและติดตามการจัดเก็บขยะของรถขนขยะเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันจึงมีระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลให้บริการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งระบบนี้มักจะมีการติดตั้ง GPS ติดตามที่รถเก็บขยะ เซนเซอร์ติดตั้งที่ถังขยะ พิกัดบ่อขยะ และแดชบอร์ดดูภาพรวมของเส้นทางการเดินรถแบบเรียลไทม์ แสดงจุดตั้งถังขยะ แสดงปริมาณขยะที่อยู่ในถัง นำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการขยะในชุมชน ทั้งเรื่องเส้นทางการจัดเก็บ วัน-เวลาที่เหมาะสมในการจัดเก็บ และการกำหนดงบประมาณในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลในท้องถิ่นอีกด้วย
3. มีระบบจัดการขยะที่ถูกสุขอนามัย
นอกจากการแยกขยะและจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพแล้ว การจัดการขยะก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ หากขนขยะไปกองรวมกันแล้วไม่มีการจัดการขยะที่ถูกสุขอนามัยก็จะทำให้กองขยะที่นำมาเทรวมทับซ้อนกันหลายชั้นเกิดเป็นจุดความร้อน กลายเป็นก๊าซมีเทนและเชื้อเพลิงที่ติดไฟ เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ร้ายแรงและยากต่อการจัดการได้ ซึ่งโดยปกติแล้วการจัดการขยะที่ถูกสุขอนามัยก็อย่างเช่น การกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ ซึ่งจะทำให้สารอินทรีย์ถูกย่อยสลายตามธรรมชาติแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Decomposition) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซมีเทนและน้ำเสีย นอกจากนี้ยังสามารถนำขยะมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ซึ่งเป็นการนำขยะมาแปลงเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือความร้อนนั่นเองครับ
4. เตรียมพร้อมดับเพลิงอยู่เสมอ
ฤดูร้อน ไม่เพียงแค่เสี่ยงไฟไหม้จากการเผาไหม้ของเศษไม้ใบหญ้าและขยะที่หมักหมมเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากก้นบุหรี่ การทิ้งเชื้อเพลิงลงถังขยะโดยไม่ตั้งใจ ไฟฟ้าลัดวงจรหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำงานหนักเกินด้วย ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องเตรียมพร้อมระงับเหตุอยู่ตลอดเวลา โดยควรเช็กอุปกรณ์ดับเพลิงให้สมบูรณ์พร้อมใช้งาน และตั้งไว้ในจุดที่หยิบใช้งานได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งควรหมั่นตรวจสอบจุดตั้งขยะอยู่เสมอ หากยังไม่ถึงเวลาเก็บขยะก็ควรหมั่นพลิกกลับกองขยะ เพื่อป้องกันการหมักหมมและทับถมจนอาจลุกติดไฟเองด้วย
กองขยะชุมชนหรือถังขยะชุมชน เป็นจุดที่หลายคนมองข้ามไปว่าอาจเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้ ฉะนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าลืมนำเทคนิคการป้องกันเพลิงไหม้จากกองขยะในชุมชนไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นกันนะครับ