4 ไอเดียใช้เทคโนโลยีช่วยจัดเก็บภาษีป้าย หนึ่งในหัวใจสำคัญของภาษีเทศบาล

ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องมีรายได้เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการพัฒนาเมือง และหนึ่งในรายได้สำคัญก็คือการจัดเก็บภาษีป้าย ซึ่งเป็นภาษีเทศบาล ที่หลายท้องถิ่นพยายามจะจัดเก็บให้ถูกต้องและครบถ้วน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ วันนี้ Bedrock นำ 4 ไอเดียการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาษีป้ายมาแนะนำ
ภาษีป้าย หนึ่งในภาษีท้องถิ่นหรือภาษีเทศบาลที่ผู้เป็นเจ้าของป้ายจะต้องจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำรายได้ไปปพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งป้ายที่ต้องเสียภาษีก็คือป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ ตัวอักษร ภาพ โลโก้ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการ เพื่อหารายได้หรือโฆษณา เช่น ป้ายชื่อร้าน โลโก้ร้าน ป้ายบนทางด่วน ป้ายผ้าใบ ป้ายไฟ ป้ายที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดเกิน 3 ตารางเมตร เป็นต้น ซึ่งภาษีป้ายที่จะจัดเก็บปีละครั้ง จึงถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง แต่บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับต้องประสบปัญหาในการจัดเก็บภาษีป้าย ไม่ว่าจะเป็น
- การจัดเก็บไม่ครบถ้วน เนื่องจากประชาชนยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่เห็นความสำคัญในการจ่ายภาษีป้าย จึงอาจละเลยหรือไม่รู้ว่าต้องจ่ายเมื่อไร อย่างไร อีกทั้งยังไม่มั่นใจในการวัดขนาดและการคำนวณภาษีเทศบาล
- ขาดเจ้าหน้าที่ในการสำรวจตรวจสอบ ในปัจจุบันร้านค้าและบริการเกิดขึ้นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาและกำลังคนเยอะในการตรวจสอบให้ครบถ้วน
- ความสับสนในการคำนวณภาษีป้าย ด้วยหลักเกณฑ์ในการเก็บภาษีป้ายที่มีความละเอียดและยังต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ จึงอาจเกิดความไม่มั่นใจและความผิดพลาดในเรื่องการวัดขนาดป้ายและประเมินภาษีป้ายได้
4 ไอเดียใช้เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาภาษีป้าย
ปัญหาหลากหลายที่องค์กรส่วนท้องถิ่นต้องเผชิญกับการหารายได้จากภาษีเทศบาล อย่างการจัดเก็บภาษีป้าย มาพัฒนาท้องถิ่นจะบรรเทาเบาบางลง หากมีการนำเทคโนโลยีมาช่วย ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำบริหารจัดการการเก็บภาษี แต่ยังเกิดความยุติธรรม และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วย Bedrock จึงนำ 4 ไอเดียการนำเทคโนโลยีที่เริ่มเองได้เลยง่าย ๆ ไปจนถึงซื้อระบบมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาษีป้ายมาแนะนำ
1. เพิ่มช่องทางชำระภาษีป้ายผ่านออนไลน์
อำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการยื่นแบบยื่นแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ชำระค่าภาษีป้าย และติดตามสถานะในการจ่ายภาษีป้ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การทำระบบจ่ายภาษีออนไลน์ การแนบเอกสารทางออนไลน์ การติดตามสถานะการจ่ายภาษีทางไลน์ของเทศบาล เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องเวลาทำการ และโน้มน้าวให้ประชาชนรู้สึกว่าสะดวกสบายมากขึ้น
2. ใช้เทคโนโลยีภาพถ่าย Streetview
เมื่อเวลาและกำลังคนในการตรวจสอบป้ายในพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้เก็บข้อมูลมาไม่ครบถ้วน การใช้ภาพถ่าย Streetview เช่นใน Google Maps จึงช่วยในการสำรวจเบื้องต้นได้เป็นอย่างดีว่ามีป้ายอยู่ที่ใด ป้ายประเภทใด เข้าหลักเกณฑ์ป้ายที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ เมื่อลงพื้นที่จริงจะได้ช่วยลดเวลา กำหนดพิกัด รวมถึงคำนวณภาษีป้ายได้ง่ายและสะดวกขึ้น
3. ใช้แอปพลิเคชัน Measure ที่มีระบบ AR
แอปพลิเคชันในกลุ่ม Measure เป็นแอปพลิเคชันสำหรับวัดขนาดวัตถุ สิ่งของ หรือระยะทาง ด้วยภาพถ่ายหรือผ่านกล้องในสมาร์ตโฟน โดยการใช้ AR (Augmented Reality) เทคโนโลยีที่ผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ทำให้ได้ขนาดแบบคร่าวๆ ที่ค่อนข้างแม่นยำ จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถวัดขนาดหรือตรวจสอบความถูกต้องของแบบยื่นแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และแม่นยำขึ้น ซึ่งแอปพลิเคชันนี้โหลดใช้งานได้ฟรี ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
4. ใช้ Smart Municipal Tax ระบบจัดเก็บภาษีอัจฉริยะ
Smart Municipal Tax เป็นระบบจัดเก็บภาษีอัจฉริยะ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผล เพื่อหาตำแหน่ง วัดขนาด แยกประเภทของของป้าย อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ประเภทป้าย อัปเดตการเปลี่ยนแปลงสถานะของป้าย ด้วยการใช้ข้อมูลที่ได้การสำรวจและจัดทำแผนที่แบบเคลื่อนที่ (Mobile Mapping System : MMS) พร้อมมี AI แนะนำเมื่อพบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก่อนส่งต่อข้อมูลไปยังระบบทะเบียนทรัพย์สิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการจัดเก็บภาษีต่อไป นอกจากนี้ยังมีระบบการชำระภาษีและตรวจสอบข้อมูลภาษีผ่านระบบออนไลน์ จึงทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีเกิดประสิทธิภาพ มีความถูกต้องครบถ้วน ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้เก็บภาษีและผู้จ่ายภาษีเทศบาลได้
นอกจากเทคโนโลยีที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดเก็บภาษีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในท้องถิ่นว่าภาษีเทศบาลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไร และจะนำรายได้ที่ได้รับไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนเกิดความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น